จับตาฟื้นอำนาจ 'ทักษิณ' บนกระแสต้านที่อ่อนแรง

จับตาฟื้นอำนาจ 'ทักษิณ' บนกระแสต้านที่อ่อนแรง

ดูเหมือน ไม่มีอุปสรรคใดในโลกหล้า ที่จะปิดทางกีดขวางการกลับบ้านที่ยิ่งกว่า “เท่” ของ นายทักษิณ ชินวัตร และไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว อย่างนี้ไม่เรียก “มีอำนาจล้นฟ้า” จะเรียกอะไร

“ทักษิณ” ประกาศกลับประเทศไทยอย่างจริงจัง ในช่วงที่พรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต่อจากพรรคก้าวไกล หลังจากพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เพราะ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านการโหวตลงมติเลือก “นายกรัฐมนตรี”

ท่ามกลางกระแสข่าว “ดีล” จัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับ “ขั้วตรงข้าม” กับพรรคก้าวไกล และมีความชัดเจนที่จะไม่แตะต้อง ป.อาญา ม.112 (กฎหมายว่าด้วยเรื่องหมิ่นสถาบันฯ)

แล้วก็เดินทางกลับในวันเดียวกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการโหวตลงมติให้เป็นนายกรัฐมนตรี(22 ส.ค.66)  ด้วยเสียงรัฐสภาอย่างท่วมท้น 482 ต่อ 165 เสียง

และหลัง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งบังคับโทษ 3 คดี รวมติดคุก 8 ปี “ทักษิณ” ถูกส่งตัวเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯทันที

แต่กลางดึกของวันที่ส่งตัวเข้าเรือนจำนั้นเอง “ทักษิณ” ถูกส่งออกมารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ด้วยมีอาการป่วยกำเริบกะทันหัน และรักษาตัวต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

ด้านโทษจำคุก 8 ปี “ทักษิณ” ได้ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม หลังจาก “ทักษิณ” รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจ จะครบ 120 วัน ปรากฏว่า กรมราชทัณฑ์ ได้ออกระเบียบใหม่ ว่าด้วยการคุมขังนักโทษนอกเรือนจำ ซึ่งถือว่า “ทักษิณ” อยู่ในข่ายที่จะได้รับการคุมขังนอกเรือนจำ ตามระเบียบนี้ด้วย ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรมราชทัณฑ์ ออกระเบียบใหม่ เพื่อรองรับ “ทักษิณ” หรือไม่ แม้ว่า จะออกตามกฎหมายที่มีมาก่อนหน้านี้ก็ตาม

ทั้งยังคาดกันว่า “ทักษิณ” จะไม่ได้กลับเข้าสู่เรือนจำอีกแล้ว จนถึงพ้นโทษ

นอกจากนี้ ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต่างเคยออกมาแสดงท่าทีที่จะตั้ง “ทักษิณ” เป็นที่ปรึกษา หลังจากพ้นโทษอีกต่างหาก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากเหนือความคาดหมายของหลายคนที่เชื่อว่า “ทักษิณ” จะต้องกลับมาติดคุกตามคำตัดสินของศาลฯ และแม้ว่าจะได้ลดโทษ ก็จะต้องติดคุกจริง ตามโทษที่เหลืออยู่ เหมือนนักโทษทั่วไปแล้ว ยังส่อให้เห็นถึง ขบวนการ “อุ้มทักษิณ”  โดยอาศัยช่องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้ติดคุกด้วย

อันแสดงให้เห็นถึง “อำนาจ-บารมี” ที่มีอยู่เหนือรัฐบาลและข้าราชการ ที่ไม่ธรรมดา

ไม่เพียงเท่านั้น หลัง “ทักษิณ” รักษาตัวอยู่ชั้น 14 ซึ่งเป็นชั้นพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจ เกิน 120 วัน ซึ่งน้อยนัก ที่จะมีนักโทษคนใดได้ “อภิสิทธิ์” ขนาดนี้

แต่ “ทักษิณ” ก็ยังคงได้สิทธิ์อยู่ต่อ ท่ามกลางคำถามจากหลายฝ่าย ถึงการปฏิบัติต่อนักโทษที่ไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำ 2 มาตรฐาน อันส่งผลต่อระบบยุติธรรมของไทยด้วย

แต่ปรากฏว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง โดยเฉพาะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้รู้สึกรู้สา ตามที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์  

“เศรษฐา” ให้สัมภาษณ์กรณีอธิบดีกรมราชทัณฑ์เห็นชอบ ให้ “ทักษิณ” รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่า เชื่อว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับการเสนอเรื่องมาจากโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งสิทธิของผู้ป่วยต้องมีด้วย รวมทั้งมั่นใจว่า กรมราชทัณฑ์พิจารณาดีแล้ว และทางกระทรวงยุติธรรมก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอน

ขณะในสภาผู้แทนราษฎร มีการตั้งกะทู้สดด้วยวาจา ของนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ถามนายกฯ เรื่องการสร้างความชอบธรรมเพื่อฟื้นฟูระบบนิติรัฐให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น แต่นายกฯได้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ชี้แจงแทน

“ภูมิธรรม” ชี้แจง กรณีการคุมขังนักโทษว่า รัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการคุกคาม หรือทำให้เกิดความหวาดกลัว สิ่งสำคัญกว่านั้นมาจากประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ขณะที่กฎหมายดำเนินการอยู่ ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อะไรที่เป็นกฎหมายอย่าท้าทายและทำผิด

ส่วนกรณีที่พูดถึงความเสมอภาคเท่าเทียม แล้วพูดถึงชั้น14 ตนเข้าใจและรู้สึกว่า ท่านไม่ได้ทำความเข้าใจรายละเอียดกฎหมายที่ออกมาให้ชัดเจน ถ้าเข้าใจจะไม่รู้สึกแบบนี้ กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ได้เกิดในรัฐบาลนี้ แต่เกิดมาก่อน ยกความดีให้รัฐบาลที่แล้ว ที่เล็งเห็นว่า การนำผู้ต้องขังไว้ในเรือนจำ ล้นจริงๆ คุกล้น คนอยู่ข้างในลำบาก ดังนั้นจึงพยายามแก้ไขปัญหา เป็นไปตามหลักสากลให้บุคคลที่เจ็บป่วย หรือใกล้พ้นวาระ และปฏิบัติตัวดีไปใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกได้

“ผู้ที่อยู่ในเรือนจำถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าป่วย ก็ต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย เรื่องชั้น 14 แพทย์ก็ยืนยันต้องถือเป็นที่สุด อย่าเอาเรื่องที่เป็นกระบวนการยุติธรรมปกติมาโยนใส่รัฐบาล แล้วทำให้เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องความปรารถนาที่จะสร้างความไม่เสมอภาคกัน ใจเย็นๆ ทำใจกว้างๆ คิดให้ดี ถ้ายังจุกจิกกับเรื่องแบบนี้ปัญหาประเทศจะไปไม่ได้ ฉะนั้นต้องใจเที่ยงธรรม สิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นกฎหมายเพื่อคนส่วนใหญ่ ตามหลักสากล และไทยกำลังทำ ผู้ป่วย ป่วยตามที่หมอบันทึกและวินิจฉัย...”

ด้าน กรมราชทัณฑ์ ก็ได้ออกคำชี้แจงว่า ขณะนี้นายทักษิณได้ออกไปรับการรักษาตัวยังโรงพยาบาลตำรวจเกินระยะเวลา120 วัน โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรับทราบถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแจ้งความเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต

เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจึงได้รายงานมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการพิจารณา ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ที่ระบุไว้ว่ากรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาเป็นเวลานานให้ผู้บัญชาเรือนจำดำเนินการดังนี้ กรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีฯ พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษา และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า ยังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ม.ค.67 ให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที

โดยกรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ จึงรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 โดยกรมราชทัณฑ์ ยังคงยึดหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากลรวมถึงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ ข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 และข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกร พ.ศ.2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคลางแคลงใจหลายคน เพราะไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดแจ้ง และสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้

รวมทั้ง มีการนัดชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) พร้อมด้วยพันธมิตร เรียกร้องให้ประชาชนทุกกลุ่ม ออกมาร่วมชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งสัญญาณไปถึงผู้เกี่ยวข้องกับกรณีช่วยเหลือให้นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องถูกควบคุมตัวเป็นนักโทษในเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 แต่กลับถูกส่งออกมานอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นเวลา 139 วันแล้ว

โดยเครือข่ายนักศึกษาฯ ประกาศจะปักหลักค้างคืน บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ หน้าทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 12-14 มกราคม 2567 เพื่อรอดูท่าทีของผู้ที่เกี่ยวข้องว่า จะดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร

“ขอนัดประชาชนมาร่วมชุมนุมแสดงพลังในวันที่ 12 มกราคม 2567 เพื่อปกป้องกระบวนการยุติธรรม ที่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป เราจะปักหลักค้างคืนเพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า ประชาชนจะไม่นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ เพื่อความเท่าเทียมกัน ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท.กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, นายอานนท์ กิ่งแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศ.ป.ป.ส.) และนายนัสเซอร์ ยีหมะ แกนนำกลุ่ม คปท.

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ เหตุใด “ทักษิณ” และรัฐบาลเศรษฐา จึงกล้าท้าทาย มี “อภิสิทธิ์” โดยไม่สนใจสายตาประชาชนที่จับจ้องและให้ความสนใจ รวมทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ไม่นับการเคลื่อนไหวชุมนุมที่เริ่มชิมลางเรื่องนี้

คำตอบ น่าจะอยู่ที่ “ดีลสำคัญ” ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำทางการเมือง กับ “ทักษิณ” ก่อนที่จะร่วมรัฐบาล และตัดสินใจเดินทางกลับไทย โดยคาดหวังให้ “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย เป็นหัวหอกของฝ่ายนี้ นำการต่อสู้กับพรรคก้าวไกล

เห็นได้ชัด กรณีพรรคการเมืองสายอนุรักษ์ทั้งหมดที่เคยเป็น “นั่งร้าน” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาก่อน ยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ทั้งที่เคยโจมตีกันชนิดแทบ “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” กันมาก่อน จนทำเอาฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า ที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย พูดไม่ออก และหันมาหาพรรคก้าวไกลมากขึ้น

และในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล ในฐานะฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า จะประมาทไม่ได้ เพราะการชนะเลือกตั้งมาเป็นที่ 1 แบบพลิกความคาดหมาย ทั้งยังชนะพรรคเพื่อไทย ที่เคยยึดครองที่ 1 มาเป็นเวลายาวนานอีกด้วย เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างดี

ที่สำคัญ ดูเหมือนกระแสต่อต้าน “ทักษิณ” และ “ระบอบทักษิณ” จะอ่อนแรงลงไปมาก หลังจากศัตรูทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย และ “ทักษิณ” อีกต่อไป หากแต่คือ พรรคก้าวไกล ที่ประกาศชัดในการสร้างการเมืองใหม่ พร้อมเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ

โดยเฉพาะปรากฏการณ์ สลายความขัดแย้งสีเสื้อ เหลือง-แดง ของ “ด้อมเหลือง-แดง” ที่เคยมีมาอย่างยาวนาน ทำให้มวลชนกลุ่มก้อนใหญ่ของทั้งสองฝ่ายลดบทบาทการเคลื่อนไหวลง เหลือก็แต่การแสดงออกผ่านโลกโซเชียล

รวมถึงแกนนำการเมืองทั้งสองฝ่าย ก็มีท่าทีประนีประนอมปรองดองกันอย่างชัดเจน ซึ่งมีผลอย่างสูงต่อ “มวลชน” ที่จะออกมาเคลื่อนไหวด้วย

นี่คือ สิ่งสำคัญที่ “ทักษิณ” รัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นว่า “กุมสถานการณ์” เอาไว้ได้ทั้งหมด

จนดูเหมือนว่า อำนาจของ “ทักษิณ” รัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย เป็นปึกแผ่นแน่นหนาอย่างยิ่ง ภายใต้ฐานการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ดังนั้น จับตาการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนจึงจะมีสิทธิ์ตัดสินอีกครั้งว่า จะให้ใครเป็นรัฐบาล และวันนั้นจะเป็นเครื่องตัดสินว่า อำนาจ-บารมี ของ “ทักษิณ” ที่ฟื้นคืนชีพ ถูกใช้อย่างเป็นคุณ หรือ เป็นโทษ กับตัวเอง และบริวารว่านเครือ ก็เท่านั้น