'ชาญชัย' เตรียมร้องศาลยุติธรรม เอาผิด ตัวการ-ผู้สนับสนุน ทุเลาโทษ 'ทักษิณ'

'ชาญชัย' เตรียมร้องศาลยุติธรรม เอาผิด ตัวการ-ผู้สนับสนุน ทุเลาโทษ 'ทักษิณ'

“ชาญชัย” ชี้ “ทักษิณ” เข้าเงื่อนทุเลาโทษ ป.วิอาญา รักษาให้หายก่อน ค่อยเริ่มรับโทษใหม่ ย้อนคำแถลงราชทัณฑ์  ดักทางพักโทษก็ยังไม่เริ่มนับ ชี้”อธิบดีกรมคุก”อ้างกฎกระทรวงเหนือคำพิพากษาศาล ทุเลาโทษกันเอง เตรียมร้องศาลยุติธรรม เอาผิดตัวการ-ผู้สนับสนุนให้เกิดการทำผิด

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567  นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ตนเคยร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองให้ดำเนินการไต่สวนบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีกรณีการเข้ารับการรักษาอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯและนักโทษชายที่  รพ.ตำรวจกว่า 120 วัน

โดยศาลฯได้ออกคำสั่ง ยกคำร้องดังกล่าว ระบุเหตุผลว่า  ศาลฯออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดไปแล้ว การบังคับโทษและการอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฎิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฯ จึงให้ยกคำร้องนั้น  ว่า   เมื่อตนได้ตรวจดูและศึกษาตามคำสั่งของศาลฯที่ระบุเน้นว่า ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฎิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น 

ตนได้ตรวจดูและศึกษาข้อกฎหมาย ป.วิอาญา ภาค 6 การบังคับตามคำพิพากษา และค่าธรรมเนียม ในหมวด 1 ของการบังคับตามคำพิพากษา  มาตรา 246 ที่ระบุว่า ‘เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก ร้องขอ หรือ เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต  (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์ และ(4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น’

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า  ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 67 ที่สรุปสาระสำคัญได้คือ  การที่กรมราชทัณฑ์ได้ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากเรือนจำมารักษาที่ ร.พ.ตำรวจเกินกว่า 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566 โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ประสาน รพ.ตำรวจ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง อยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทางและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วยเพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งตรงกับข้อกฎหมาย ป.วิอาญา ม.246(2)   (ที่ระบุว่า เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก) ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้วเห็นว่า  ยังต้องอยู่ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

จึงพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2567 ให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยังรพ.ตำรวจ เพราะยังมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้รักษาทันท่วงที ทางกรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงยุติธรรม จึงรายงานให้รัฐมนตรียุติธรรมทราบ ที่เป็นไปตามกฎกระทรวงกรณีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำพ.ศ.2563   ซึ่งขัดต่อกฎหมาย ป.วิอาญา ม.246(2)  ทั้งที่กรมราชทัณฑ์ต้องทำรายงานขออนุญาตต่อศาล รวมทั้งต้องทำเรื่องขอให้ศาลทุเลาโทษจำคุกโดยให้รักษาตัวให้หายจากอาการป่วยเสียก่อน แล้วค่อยกลับมารับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฯต่อไป

“กรณีอ้างเหตุเจ็บป่วยไม่ยอมเข้ารับโทษในเรือนจำ  น่าจะเข้าหลักเกณฑ์เรื่องการทุเลาโทษจำคุกตาม ป.วิ อาญา ม. 246 (2) ดังนั้น เมื่อเป็นการทุเลาโทษจำคุกจึงถือว่า นช.ทักษิณ ยังไม่ได้รับโทษจำคุก จนกว่าจะหายป่วย และส่งตัวเข้าเรือนจำตามปกติจึงจะเริ่มรับโทษจำคุกใหม่  การพักโทษก็ยังไม่เริ่มนับเช่นเดียวกัน  ศาลยังไม่ได้สั่งให้ทุเลาโทษจำคุก แต่กลับไปทุเลากันเอง ถามว่า เรื่องนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  

อย่างไร กรณีดังกล่าวนี้ ผมเห็นว่าเป็นการทำความผิดกฎหมายป. วิอาญา ม.246 และขัดต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง  ซึ่งผมจะนำเรื่องนี้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม และรวมถึงผู้กระทำความผิดอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ร่วมกระทำความผิด ซึ่งเป็นทั้งตัวการและผู้สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด” นายชาญชัย  กล่าว