อัดโปรฯ 'นายพล'เออรี่ ครอบคลุม พันเอกพิเศษ 570 อัตรา ชง ครม.พิจารณา ทันใช้ปี 67

อัดโปรฯ 'นายพล'เออรี่ ครอบคลุม พันเอกพิเศษ 570 อัตรา ชง ครม.พิจารณา ทันใช้ปี 67

"กลาโหม" ตีปี๊บ อัดโปรฯ "นายพล"เออรี่ ครอบคลุม พันเอกพิเศษ 570 อัตรา สอดรับตำแหน่งลดลง เตรียมชง ครม.พิจารณา ทันใช้ปี 67 "บิ๊กทิน" ลั่น เสร็จ 3 ปียุค "นายกฯเศรษฐา"

11 ม.ค.2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง เปิดเผยกรณีนโยบายการปรับลดจำนวนนายพลทุกเหล่าทัพ ในตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ของนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า  รัฐมนตรีได้กำชับให้แต่ละเหล่าทัพเร่งทำความเข้าใจกับกำลังพลในโครงการนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อลดจำนวนนายพลในตำแหน่งดังกล่าวเกินความจำเป็น ลงกว่า 50% ภายใน 3 ปี หรือเหลือน้อยกว่า 300 คน ในปี 2570 

ซึ่งที่ผ่านมามีชั้นนายพลประมาณ 2,000นายโดยเป็นกำลังหลักประมาณ1,300นายซึ่งกำลังหลักจำเป็นต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ความมั่นคงของโลกและในภูมิภาค รวมทั้งรูปแบบในยุทธวิธีต่างๆซึ่งปัจจุบันมีสงครามไซเบอร์หรือ Cyber warfare และเรื่องอวกาศเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนจำนวนนายพลกว่า 700 นายในตำแหน่งประจำ ได้เริ่มดำเนินการมาก่อนแล้วซึ่งคาดว่าจะเป็นผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามเป้าหมาย

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดนโยบายเร่งรัดให้มีผลสัมฤทธิ์ ในช่วงรัฐบาลท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในปี 2568 - 2570 โดยนายพลในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ จะต้องลดลงให้เหลือน้อยที่สุดตามความจำเป็นของกองทัพ อีกทั้งยังให้นโยบายสร้างแรงจูงใจในการลดจำนวนชั้นยศ “พันเอก (พิเศษ)” ที่จะขึ้นไปเป็น “นายพล” ในอนาคต ให้ลดลงอีกกว่า 570 อัตรา เพื่อให้สอดรับกับตำแหน่งนายพลที่จะลดลงไปด้วย

 “เป็นวิสัยทัศน์ของ รมว.ฯ ที่ให้นโยบาย  ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แก้ปัญหาการลดนายพล แต่ฐานนายพันเอกพิเศษยังมีมาก ก็จะไปสร้างปัญหาใหม่ในอนาคต ซึ่งนโยบายนี้ กองทัพยังสามารถปฏิบัติงาน และอาชีพทหารยังมีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าได้อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้กองทัพอีกด้วย มั่นใจโครงการเออร์รี่นายพลผู้รับใช้ชาติต้องอยู่ดีมีเกียรติคาด กพ.นี้นำเข้าสภากลาโหมก่อนชงเข้าครม.ทันในงบปีนี้"

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้จัดทำนโยบายสร้างแรงจูงใจให้นายทหารเกษียณก่อนกำหนด Early Retire เช่น การจ่ายเงินชดเชย หรือ "เงินก้อน" ประมาณ 7 แสนบาท ขึ้นอยู่กับชั้นยศ  และเวลารับราชการ ซึ่งจะมีสูตรคำนวณชัดเจนรวมทั้งสิทธิบำเหน็จ/บำนาญก็จะได้รับตามปกติซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ และกำลังใจต่อกำลังพลของกองทัพ  เมื่อตัดสินใจในช่วงนี้ ถือว่าได้สิทธิประโยชน์มากที่สุดเมื่อเทียบกับโครงการที่ผ่าน ๆ และในการบริหารของรัฐบาลจะสามารถลดภาระงบประมาณประเทศในระยะยาวอีกด้วย   
 
ส่วนความคืบหน้าถือว่าเป็นนโยบายสำคัญของรัฐมนตรี  ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำรูปแบบข้อเสนอ/แรงจูงใจต่าง ๆ แล้ว อยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  โดยก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้จะนำเข้าที่ประชุมสภากลาโหม จากนั้นจะนำเข้า ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติ “แผนและกรอบงบประมาณ” เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันปีนี้ดังนั้น ในช่วงการเกษียณอายุราชการของข้าราชการในเดือนตุลาคม 2567 นี้ สำหรับโครงการนี้จะใช้เงินงบประมาณของกระทรวงกลาโหมประมาณ 600 ล้านบาท ภายใน 3 ปี (2568 - 2670 )หรือเฉลี่ย 200 ล้านบาทต่อปี
 
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า แม้ที่ผ่านมากองทัพจะมีแผนปรับลดจำนวนนายพล “ระยะยาว” ปี 2551 - 2571 แต่นโยบายครั้งนี้ จะผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย รวดเร็วขึ้น “ภายใน 3 ปี” โดยเน้นกลุ่มพลตรี - พลโท - พลเอก ในตำแหน่ง ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ - ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ “ทุกเหล่าทัพ”  ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่าในช่วงรัฐบาล คสช. ปี 2557 - 2561 เคยทำโครงการเกษียณก่อนกำหนด “ทุกชั้นยศทุกตำแหน่ง” โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 26,000ตำแหน่ง จึงเชื่อว่าโครงการลดนายพลครั้งนี้จะได้รับการตอบรับดีอย่างแน่นอน  นายจิรายุกล่าว