'ก้าวไกล' ปัดยื่นศาล รธน.ตีความ พ.ร.บ.กู้เงินฯ เสียดายกฤษฎีกาตอบไม่ชัด

'ก้าวไกล' ปัดยื่นศาล รธน.ตีความ พ.ร.บ.กู้เงินฯ เสียดายกฤษฎีกาตอบไม่ชัด

'ศิริกัญญา' คอนเฟิร์ม! 'ก้าวไกล' ไม่คิดยื่นศาล รธน.ตีความคำตอบ 'กฤษฎีกา' ปม พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้าน เสียดายคำตอบไม่ชัด ถามกลับรัฐบาลประเทศวิกฤติตอนไหน เหตุนโยบายแจกเงินหมื่น มีมาแล้วเป็นปี แต่ตอนนี้ยังไม่ทำ แถมออกเป็น พ.ร.บ.แทน พ.ร.ก.

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม กมธ.งบฯ ประเด็นรัฐบาลยังเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท หลังกฤษฎีกาทำความเห็นกลับมายังรัฐบาล ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นจุดพลิกผันของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะได้มีการพูดคุยกันใน กมธ.งบฯ โดยวันนี้จะมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาร่วมชี้แจงต่อ กมธ.งบฯ ด้วย

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า วันนี้จะได้รู้กันว่าวิกฤตเศรษฐกิจหน้าตาควรต้องเป็นแบบใด สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ตามที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กล่าวไว้ เพราะมองว่าหากหน่วยงานต่างๆ ยังชี้แจงไม่ตรงกัน สุดท้ายแล้วโอกาสที่จะออกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ ส่วนคำนิยามของวิกฤตเศรษฐกิจควรจะมีตัวชี้วัดว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เป็นที่ยอมรับตรงกัน และควรต้องอิงกับหลักสากล ตามหน้าตาของวิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกนิยามใช้ตัวชี้วัดอะไรบ้าง และของประเทศไทยเป็นไปตามตัวชี้วัดเหล่านั้นหรือไม่ เพื่อจะได้ข้อสรุปที่เป็นจริงและเป็นวิทยาศาสตร์ว่าเป็นวิกฤตจริงหรือไม่

“หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตควรต้องพูดคุยให้ตกผลึกว่าจะใช้ตัวชี้วัดใด เพื่อจะชี้แจงกับประชาชนว่าประเทศกำลังวิกฤต แต่ดิฉันคิดว่าคงไม่ได้เป็นไปตามนิยามที่เป็นสากลตามปกติสักเท่าไหร่ สำหรับกรณีของประเทศไทย เราก็คงต้องดูว่ารัฐบาลจะใช้วิธีการใดที่คิดค้นขึ้นมาว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในวิกฤต” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

เมื่อถามถึง จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ขอยืนยันว่าในส่วนของพรรค ก.ก. ไม่มีความคิดจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ ดังกล่าว เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามวินัยการเงินการคลังจะสามารถพิจารณาได้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอยู่แล้ว น่าเสียดายที่กฤษฎีกาไม่ได้ตีความตรง ๆ ว่าสรุปแล้วทำได้หรือไม่ ควรทำหรือไม่ แต่กลับบอกเพียงแค่ว่า ถ้าถูกกฎหมายก็ทำได้ ถ้าไม่ถูกกฎหมายก็ทำไม่ได้ ก็เสียโอกาสที่อุตส่าห์รอคอยมา 1 เดือน แต่คำตอบกลับไม่ชี้ชัดฟันธง

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกรณีที่รัฐบาลอ้างว่าประเทศกำลังอยู่ในวิกฤต แต่กลับออกเป็น พ.ร.บ.แทนที่จะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในทางกฎหมายสามารถทำได้ทั้งทาง พ.ร.บ.และ พ.ร.ก. แต่เมื่อคำนึงว่า ปัญหาที่เป็นวิกฤต ควรต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รัฐบาลกลับเลือกทางที่ไม่ได้เร่งด่วนขนาดนั้น คือพ.ร.บ.ที่เว้นระยะเวลาและยังต้องรอผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ถ้าเป็นวิกฤตเร่งด่วนจริงอาจจะไม่ทันการณ์ก็ได้ หากเกิดข้อติดขัดเช่น หากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยแล้วตีกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร กรอบเวลาในการแก้ปัญหาที่วางไว้ก็อาจเป็นไปไม่ได้ มองว่ามีความย้อนแย้งกันอยู่ แต่ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การนิยามว่าเป็นวิกฤตหรือไม่แล้ว เพราะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เปิดตัวตั้งแต่เดือน เม.ย. 2566 และเราก็ยังรอกันมา 1 ปี จึงไม่รู้ว่าวิกฤตนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนไหนกันแน่

เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเชิญผู้ว่าฯ ธปท. เข้ามาพูดคุยที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องยืนยันในหลักการของความเป็นอิสระของธนาคารกลางที่ทุกประเทศจำเป็นจะต้องเดินตามหลักการนี้ เพราะไม่ได้กระทบเพียงแค่นโยบายทางการเงิน แต่รวมถึงเครดิตเรตติ้ง ซึ่งมีผลการศึกษาชี้ว่า ถ้ามีการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารไปที่ธนาคารกลาง ก็มีโอกาสที่เครดิตเรตติ้งจะปรับลด เพราะจะคาดการณ์ว่ามีการแทรกแซงเพื่อให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นวิวาทะที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จึงต้องขอให้นายกรัฐมนตรีทำเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะตามปกติจะไม่มีการแทรกแซงระหว่างฝ่ายบริหารและธนาคารกลาง