พท.รวมศูนย์ ‘คุมขาใหญ่’ ขยับหมาก สลัด‘พรรคร่วม’

พท.รวมศูนย์ ‘คุมขาใหญ่’ ขยับหมาก สลัด‘พรรคร่วม’

บรรยากาศภายในพรรคร่วมรัฐบาล มองผิวเผิน ทุกอย่างดูสงบ แต่สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็น อาจสวนทาง คีย์แมน พท. หลายคนมองตรงกัน พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่สถานการณ์ภายในไม่ค่อยจะสู้ดี แต่มีเสียง สส.ได้น้ำได้เนื้อ ถ้าปล่อยให้เป็นลูกคู่ต่อไปอย่างนี้ อาจไม่เป็นผลดี

Key Points

  • การบริหารจัดการภายในเพื่อไทย คืออำนาจรวมศูนย์ที่นายใหญ่

  • มีกลไกจำกัดอำนาจบิ๊กเนม-ขาใหญ่ ห้ามแจกกล้วย ป้องกันสร้างก๊วนต่อรอง 

  • แกนนำทุกสาย ขึ้นตรงกับบิ๊กบอส คนเดียวเท่านั้น

  • ตั้งเป้าใหญ่ สลัดทิ้งพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่ง

  • รัฐมนตรีคนหนึ่งของเพื่อไทย มีแนวโน้มสูงเจอศึกหนักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะการวางตัวเป็นคนสำคัญ จัดแจงอะไรหลายอย่างจนเริ่มระส่ำ แถมลูกพรรคไม่แฮปปี้กับคนคนนี้มาตลอด

อุณหภูมิการเมืองในปีกของรัฐบาลเวลานี้ กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนจุดกำเนิดความขัดแย้งรอบใหม่ มีแนวโน้มปะทุขึ้นจากเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยเอง ที่ต้องการทำพรรคให้ใหญ่กว่าที่เป็นในปัจจุบัน เพื่อหวนสู่คืนวันเก่าๆ กับการเป็นรัฐบาลพรรคเดียว หรือพึ่งพาองคาพยพอื่นๆ ให้น้อยที่สุด

ระบบการบริหารจัดการภายในของเพื่อไทย ที่มีแบบฉบับรวมศูนย์อำนาจ มีการวางกลไกควบคุม แต่ละกลุ่มก๊วน ไม่ให้มีอำนาจต่อรองกับนายใหญ่ จนนำไปสู่การจำกัดบทบาทของบรรดาขาใหญ่ หรือบิ๊กเนมทั้งหลาย ไม่ให้มีมากเกินไป มาตรการนี้ก็เริ่มได้เห็นมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ธรรมนูญของเพื่อไทยวันนี้ กำหนดห้ามหัวหน้ามุ้ง“ท็อปอัพ”รายเดือน นอกเหนือไปจากที่พรรคได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการให้ สส. ประมาณ 2 ขีด ต่อคนต่อเดือน นั่นก็เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม และยังมีมาตรการอื่นๆ ไม่ให้บรรดานักต่อรอง“แจกกล้วย”เพื่อซุ่มสร้างกลุ่มก๊วน สส.ให้เติบโตจนยากจะควบคุม

จนมีข้อสังเกตว่าการให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม และประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลาออกจากการเป็น สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อไทย เพื่อเปิดทางให้คนลำดับถัดไปขึ้นมาทำหน้าที่แทน เป็นมาตรการการกำกับบทบาทอย่างไรหรือไม่

นอกจากนั้น รูปแบบการแบ่งแยกแล้วปกครอง ก็เป็นอีกกลยุทธ์ในการบริหารจัดการภายในของเพื่อไทย จะเห็นว่าคนที่รับบัญชาให้เดินเกมเปิดปฏิบัติการต่างๆ ล้วนเป็นกลุ่มคนเดิมๆ ที่ไม่ค่อยได้รับการการตอบรับจากลูกพรรค และไม่ค่อยลงรอยกับแกนนำกลุ่มอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งที่แกนนำแต่ละคน ต่างก็มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ“บิ๊กบอส”

นี่จึงเป็นหนึ่งในเทคนิคการบริหารคนในสไตล์รวมศูนย์ ปล่อยให้แกนนำระดับหัวแถว ขบเหลี่ยมงัดข้อกันเอง เพื่อที่บิ๊กบอสจะได้ควบคุมแกนนำทุกสายให้มาขึ้นตรงกับตัวเอง เพราะแต่ละคนเชื่อว่า มีบิ๊กบอสคนเดียวเท่านั้น ที่จะกำหนดทิศทางทุกอย่าง สะสางปัญหา และจัดสรรประโยชน์ให้แต่ละก๊วนได้

ที่สำคัญ บรรยากาศภายในพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ ถ้ามองผิวเผิน ทุกอย่างดูสงบราบรื่น ไร้คลื่นลม แต่สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็น อาจสวนทางกันก็ได้ เพราะความเคลื่อนไหวในเพื่อไทย คีย์แมนคนสำคัญหลายคน มองตรงกันว่า พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่สถานการณ์ภายในไม่ค่อยจะสู้ดี แต่มีเสียง สส.จำนวนได้น้ำได้เนื้อ ถ้าขืนปล่อยให้เป็นลูกคู่เพื่อไทยต่อไปอย่างนี้ อาจไม่เป็นผลดีในระยะเวลาอันใกล้และไกล

เมื่อเข้าโหมดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า พรรคร่วมฯ ดังกล่าว อาจพลิกสถานการณ์จากเป็นรอง สร้างเงื่อนไขต่อรองอะไรต่างๆ ด้วยการยกเรื่องเสียงโหวตกดดัน 

หรือถ้าเพื่อไทยแพ็กเป็นรัฐบาลต่อไปเช่นนี้ ก็จะเหนื่อยในการสู้ศึกเลือกตั้งกับแนวรบพรรคร่วมดังกล่าว ในหลายจังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์

จึงเริ่มมีการพูดต่อๆ กันมาว่า อาจใกล้ถึงเวลาที่เพื่อไทยจะสลัดพรรคร่วมพรรคหนึ่งให้พ้นรัฐบาล 

จะเอากันถึงขนาดนั้น หรือกดดันในเรื่องตำแหน่งโควตาอะไรก็ว่าไป เรียกว่าจ้องปิดเกมในวันที่พรรคนั้นอ่อนแอ และอาจเล็งถึงผลลัพธ์หาวิธีจูงใจ สส.พรรคนั้นให้เอนเอียงมาเพื่อไทยด้วย แต่ปัญหาคือ จะทำจริงและสำเร็จหรือไม่ เป็นอีกเรื่องที่ต้องตามต่อ

ปรากฎการณ์ข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับ 3 สส.พรรคไทยสร้างไทย ที่แหกมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในวาระที่ 1 ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องรีบตัวออก ก็ไม่น่ากระทบโครงการที่ตกลงจะจัดสรรให้พื้นที่ ถ้าตกลงกันไว้แล้ว

แต่ในทางการเมือง คนที่คุมเกมหลายครั้งก็มักยื่นบทให้ สส.ฝ่ายค้าน ที่ปิดดีลได้เรียบร้อยแสดงตัวในจังหวะเวลาต่างๆ เพื่อสร้างโมเมนตัม กระตุ้นให้คนอื่นๆ ตัดสินใจ ถ้าย้ายมาได้ดีทุกคน

ผู้บริหารพรรคไทยสร้างไทยก็รู้ดีว่า 3 สส.ของตัวเอง อาจได้รับข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ จากคนระดับรัฐมนตรีของเพื่อไทย จนยอมโหวตสวนมติฝ่ายค้าน ไปเอาด้วยกับรัฐบาล ขณะที่ข้อมูลบางสายก็ระบุว่า “เจ๊ ร.” ของภูมิใจไทย ต่างหากที่เป็นมือดีล

การเดินเกมของเพื่อไทย ทั้งบริหารจัดการภายใน และภายนอกซึ่งพันกับพรรคร่วมฯ และความพยายามรวบรวมเสียงฝ่ายค้านมาเป็นพวก ถูกมองว่า จังหวะสอดรับกันพอสมควร

ปฏิบัติการกระชับอำนาจแต่ละกลุ่มก๊วนในเพื่อไทย ผลสุดท้ายจะกลายเป็นศร ย้อนกลับมาทิ่มแทงรัฐมนตรีบางคน ที่คอยจัดแจงในศึกซักฟอกหรือไม่ หรือเกมรุกคืบพรรคร่วม จะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลแค่ไหน แรงกระเพื่อมอีกหลายระลอก พร้อมพุ่งเข้ามาปะทะอยู่ตลอดเวลา