'สุทิน' ถก ผบ.เหล่าทัพ ปูแผนบำบัดขี้ยา เร่งผลักดันออกจากชุมชน 30 จว.เป้าหมาย

'สุทิน' ถก ผบ.เหล่าทัพ ปูแผนบำบัดขี้ยา เร่งผลักดันออกจากชุมชน 30 จว.เป้าหมาย

"สุทิน" ถก ผบ.เหล่าทัพ ปูแผนบำบัดขี้ยา จำแนกกลุ่มสีตามอาการรุนแรง เร่งผลักดัน ออกจากชุมชน30 จังหวัดเป้าหมาย ส่วนทบ.ผุด“ศูนย์รักษ์ใจ”ช่วยฟื้นฟู 3 ระยะ

8 มกราคม 2567  นายสุทิน คลังแสง รมว.กห. พร้อมด้วย พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปล.กห., พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทสส., พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ.,  พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.  และ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. เข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งได้เร่งรัดดำเนินการภายหลังจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้เชิญ รมว.กห. และ ผบ.ทบ. เข้าพบเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าวเมื่อ 4 ม.ค.67 ณ อาคารรัฐสภา ระหว่างร่วมการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตลอดจนเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) 

สำหรับการปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะ 1 ปี แบ่งเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ 1. พื้นที่ปัญหาผู้มีอาการทางจิตเวชยาเสพติด 2. พื้นที่ปัญหาการค้าและแพร่ระบาดยาเสพติด และ 3. พื้นที่ปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติด โดยมี 5 กลยุทธ์ในการดำเนินงาน ประกอบด้วย ลดความเดือดร้อนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน  ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด  กระจายบทบาทจังหวัดจัดการปัญหา  สร้างบทเรียนขยายผลไปลักษณะทะลวงจุดหนึ่งละลายทั้งแนว และ บูรณาการอย่างเป็นเอกภาพ

สำหรับระดับผู้เสพยาเสพติด ได้แก่ กลุ่มสีแดง (กลุ่มฉุกเฉินที่อาละวาด ที่ต้องนำส่ง
สถานพยาบาลทันที)  กลุ่มสีส้ม (เฝ้าระวังสูงและสูงสุด) จำนวน 6,987 ราย กลุ่มสีเหลือง
(เฝ้าระวัง) จำนวน 25,636 ราย และ กลุ่มสีเขียว (สมัครใจบำบัด) จำนวน 270,826 ราย

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้กลุ่มผู้เสพยาเสพติด (กลุ่มสีส้ม) จำนวน 4,414 ราย และพื้นที่สีส้มเข้ม (85 อำเภอใน 30 จังหวัดเป้าหมาย) เป็นกลุ่มผู้เสพและพื้นที่เป้าหมายที่ต้องดำเนินการตาม Quick win เพื่อนำออกจากชุมชนและเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาโดยเร็วที่สุด โดย กองทัพบกสนับสนุนการดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์รักษ์ใจ” ทั้งนี้ มีแนวทางกำหนดห้วงระยะเวลาในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 60 วัน 90 วัน และ 120 วัน โดยศูนย์คัดกรอง หรือ สถานพยาบาลยาเสพติดที่ส่งตัวผู้เข้ารับการฟื้นฟู เป็นผู้กำหนดลงในเอกสารการส่งตัว

นายสุทิน กล่าวถึงแนวคิดในชั้นต้นว่า จะต้องทำงานร่วมกันหลายกระทรวง โดยใช้สถานที่ ดูแลกิจวัตรประจำวัน และผู้ปกครองจะเป็นทหาร (ครูฝึก) ในส่วนของวิทยากรในหลักสูตรอื่นๆ รวมถึงการคัดกรองผู้ป่วย จะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ทั้งนี้ ให้อ้างอิงงบประมาณต่างๆ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง และดำเนินการจำนวน 52 ศูนย์ที่มีอยู่เดิมก่อนจึงค่อยขยายเพิ่มเติม รวมถึงให้พร้อมปฏิบัติในทันที ตลอดจนอาจจะให้มีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ได้เข้ารับการบำบัดรักษาตรงกับเป้าหมาย ซึ่งยังให้มีการพิจารณาทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย