เริ่มแล้วถกงบฯ67 'เศรษฐา' นำ ครม.ร่วมประชุม โอ่เป็นจุดเริ่มให้ประเทศเติบโต

เริ่มแล้วถกงบฯ67  'เศรษฐา' นำ ครม.ร่วมประชุม โอ่เป็นจุดเริ่มให้ประเทศเติบโต

"เศรษฐา" นำทีม ครม. ร่วมประชุมสภาฯ ถกงบฯ67 วันแรก พร้อมแถลงหลักการตั้งงบ67 แบบขาดดุล แต่เชื่อจะเก็บรายได้ทะลุ 11% เพิ่มงบลงทุนกว่า 7แสนล้าน โอ่คือจุดเริ่มสร้างการเติบโตให้ประเทศ

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. การประชุมสภาฯ เพื่อเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก เป็นวันแรกได้เริ่มขึ้น โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเริ่มพิจารณา ตัวแทนวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ยืนยันจะทำงานเพื่อให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ คือ  43 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน จำนวน 20 ชั่วโมง, ฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 20 ชั่วโมงและประธานในที่ประชุม 3 ชั่วโมง

สำหรับบรรยากาศก่อนเริ่มประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง สวมสูทผูกเนกไทสีเหลือง นำทีมรัฐมนตรีเข้าประจำที่ในห้องประชุมสภาฯ อย่างพร้อมเพรียง เช่นเดียวกับ สส.รัฐบาลและ สส.ฝ่ายค้าน ที่พบว่ามาลงชื่อเพื่อร่วมประชุม กว่า400 คนจากจำนวนสส.ที่มีทั้งสิ้น 499  คน

เริ่มแล้วถกงบฯ67  \'เศรษฐา\' นำ ครม.ร่วมประชุม โอ่เป็นจุดเริ่มให้ประเทศเติบโต

จากนั้นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง แถลงถึงหลักการและเหตุผลร่างพ.ร.บ.งบฯ67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ต่อสภาฯ ว่า ร่างพ.ร.บ.งบฯ เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนนโยบายตามที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาา รวมถึงเป็นไปตามแผนพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเรื่องเศรฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญลำดับต้นๆ  โดยจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ในระบบ การลดราคาพลังงาน เพื่อให้ค่าใช้จ่ายประชาชนลดลง และเพิ่มขีดการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม นอกจากนั้นจะมีเรื่องด้านสังคม ความมั่นคง ผ่านการพัฒนากองทัพ และความมั่นคงให้ทันสมัยใกล้ชิดประชาชน ใช้การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ ขณะที่ในด้านการเมืองการปกครอง ประชาชนจะได้เห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้ไขจุดด้อย บนหลักการที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด รวมถึงไม่นำไปสู่ควาขัดแย้งใหม่ในสังคม

นายเศรษฐา แถลงด้วยว่า สำหรับการประเมินทิศทางเศรษฐกิจ 67ของสภาพัฒนฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7-3.7% แต่มีปัจจัยเสี่ยงทั้งภาวะหนี้สินครัวเรือน ภาคธุรกิจ ปัญหาภัยแล้ง และความขัดแย้งโลก ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจะอยูในช่วง 1.7 - 2.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ทั้งนี้ในภาวเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลต้องทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษี  การขายสินค้า บริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวม 2.9 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.4% จากปี66 หักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 125,800 ล้านบาท ทำให้คงเหลือเป็นรายได้สุทธิ ที่จัดสรรเป็นรายจ่ายรัฐบาล จำนวน 2.7 ล้านล้านบาท

“โดยสรุปงบฯ ปี67 ที่ประมาณรายจ่าย 3.48 ล้านล้านบาท คาดว่ามีรายได้จากการจัดเก็บได้ 2.787ล้านล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 6.93แสนล้านบาท แม้การจัดสรรงบปี67 จะจัดแบบขาดดุล แต่รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น 11.9% ทำให้มีงบลงทุนกว่า 7.17แสนล้านบาท  และสามารถชดใช้เงินคงคลังและชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 1.18 แสนล้านบาท จะทำเป็นการเตรียมพร้อมทำให้รัฐบาลมีกรอบในการลงทุนในระยะกลางและยาวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา แถลงด้วยว่าได้จัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่  ความมั่นคง จัดสรรวงเงิน3.90แสนล้านบาท, ด้านความสามารถในการแข่งขัน จัดสรรวงเงิน 3.93 แสนล้านบาท, การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จัดสรรวงเงิน 5.61แสนล้านบาท, การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จัดสรรวงเงิน 8.43หมื่นล้านบาท, สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จัดสรรวงเงิน 1.31 แสนล้านบาท, การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จัดสรรวงเงิน 604,804 ล้านบาท เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อาทิ กองทัพ คมนาคม รัฐบาลดิจิทัล รวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนการให้บริการ เพิ่มขีดสามารถการแข่งขันและแก้ปัญหา เช่น ยาเสพติด ความปรองดอง เป็นต้น

เริ่มแล้วถกงบฯ67  \'เศรษฐา\' นำ ครม.ร่วมประชุม โอ่เป็นจุดเริ่มให้ประเทศเติบโต

นายกฯและรมว.คลัง แถลงด้วยว่าสำหรับตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้าง เมื่อ 31 ต.ค.2566 มีจำนวน 11ล้านล้านบาท  คิดเป็น 62.1% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ 70% โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงิน และการค้ำประกัน จำนวนทั้งสิ้น 10ล้านล้านบาท  ขณะที่ฐานะเงินคงคลัง เมื่อ31 ต.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.97แสนล้านบาท  ซึ่งในการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 3.46แสนล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ 1.18แสนล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 2.28แสนล้านบาท โดยการบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดจะเป็นจุดเร่ิมต้นการทำนโยบายในระยะสั้นถึงระยะยาว โดยรัฐบาลจะใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตประเทศระยะสั้นและระยะยาว และเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ใช้เวลาอ่านคำแถลงหลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.งบฯ67 ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที.