ปชป.ล็อกเป้าถล่มร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 'ตีเช็คเปล่า' สร้างแบรนด์ประชานิยมพท.

ปชป.ล็อกเป้าถล่มร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 'ตีเช็คเปล่า'  สร้างแบรนด์ประชานิยมพท.

"ชัยชนะ" เผยปชป.ล็อกเป้าถล่มร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ "ตีเช็คเปล่า" ดันนโยบายหวังอาศัยแบรนด์ประชานิยมเพื่อไทย โวยจัดงบท้องถิ่น กระจุดส่วนกลาง ปูดบาง อปท. จัดซื้อเสาไฟฟ้าแพงเกินจริง โผล่ไปเป็นงบประมาณเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้พลังงานทดแทน

นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้มีการเตรียมบุคคลและเนื้อหาที่อภิปรายร่างงบประมาณฯ ไว้แล้ว

โดยจะชี้ให้เห็นว่า งบประมาณที่จะใช้จ่ายเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่ประกาศหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งบรรจุในคำแถลงนโยบายรัฐบาลนั้น กลับขาดการให้ความสำคัญจากรัฐบาลในการใช้งบประมาณ เพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิผลสัมฤทธิ์ จนกลายเป็นว่า

สิ่งที่รัฐบาลหาเสียงไว้กับประชาชนนั้น เหมือนกับเป็นการตีเช็คเปล่า โดยหวังอาศัยชื่อเสียงเก่าๆ เพื่อจะรักษาแบรนด์ของพรรคเพื่อไทยเอาไว้ว่า เป็นพรรคต้นตำหรับด้านประชานิยม

เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี25,000 บาท ปรากฏไม่พบงบประมาณรายการใด ที่ใช้ผลักดันการขึ้นคาแรงงานของภาคเอกชน ซึ่งต่างจากท่าทีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า ไม่มีความสุขเพราะค่าแรงขึ้นน้อยเกินไป

ส่วนของค่าแรงภาคราชการ มีหมวดเงินเดือนข้าราชการ ที่เพิ่มขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ถึงตามจำนวนที่ได้หาเสียงไว้  นโยบายส่งเสริมซอฟท์พาวเวอร์ในทุกมติกลับกลายเป็นว่า นอกจากจะเป็นเวทีให้ชื่อของ น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ติดหูติดตาประชาชนแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่า จะ มีการวางแผนและงบประมาณไว้อย่างไร

ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากว่า ขณะนี้ใครที่หยิบจับอะไรได้ก็มาประโคมว่าเป็นซอฟท์พาวเวอร์ โดยหวังแค่กระแสครั้งคราวและเงียบหายไป โดยไม่ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์และงบประมาณที่จะใช้ส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นระบบนโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาท ตลอดสาย ก็ไม่ปรากฏ รายการแผนงาน และโครงการที่เกี่ยวข้องใน รฟม. รฟท. แต่อาจแฝงอยู่ในหมวดงบชดเชยรายได้ของ รฟม. และรฟท. ซึ่งไม่ได้จำแนกรายการออกมาให้ปรากฏชัดเจน

รวมทั้ง นโยบายที่ประชาชนคาดหวังว่า รัฐบาลจะต้องทำให้สำเร็จนั่นก็คือ โครงการเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ปรากฏว่า ไม่มีในรายการของร่าง พ.ร.บ. งบประมาณแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า รัฐบาลเมื่อได้ทราบถึงสถานการณ์การเงินการคลัง

รวมทั้ง ข้อจำกัดต่างๆ แล้ว ก็จะล้มเลิกความคิด หรือเปลี่ยนแปลงวิธีการในการดำเนินนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมีการบรรจุอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลแล้ว ก็ต้องขอให้รัฐบาล ตอบคำถามให้ได้ว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท จะเริ่มดำเนินการอย่างไร

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ตนอยากจะให้ประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะถือว่า เป็นงบประมาณที่ใกล้ชิดกับประชาชน ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลคงที่อยู่ที่ร้อยละ 29 มา 7 ปี ติดต่อกันแล้ว

ซึ่งยังคงน้อยกว่าเป้าหมายตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่ร้อยละ 35 ทำให้การจัดการบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพบริการสาธารณะได้ตามที่กฎหมายกำหนด

รวมทั้ง ไม่มีความชัดเจน การเพิ่มสัดส่วนงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามกฎหมายกำหนด อีกทั้ง ยังปรากฏว่า งบประมาณในส่วนของท้องถิ่นที่จะดำเนินการในการจัดทำบริการสาธารณะนั้น กลับกระจุกกับหน่วยงานส่วนกลางที่กำกับดูแล โดยปรากฏในงบประมาณว่า เป็นงบประมาณเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้พลังงานทดแทน แต่เมื่อไปดูพบว่า มีบาง อปท. ใช้วิธีตั้งงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าในราคาที่แพงเกินจริง

จึงเกรงว่า อาจจะเป็นช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือฮั้วกันระหว่างเจ้าหน้าที่ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง มีการยักย้ายถ่ายเทงบประมาณ กลายเป็นงบเพื่อสนองความต้องการทางการเมือง ดังนั้น ตนและพรรคประชาธิปัตย์ จะดำเนินการอภิปรายเพื่อให้รัฐบาล จัดสรรงบประมาณลงในท้องถิ่นเพื่อให้ท้องถิ่นต่างๆ สามารถใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย