ปริศนา ‘พีระพันธุ์’ คุมยุติธรรม เบรกกระแส เอื้อ ’ทักษิณ‘ ?

ปริศนา ‘พีระพันธุ์’ คุมยุติธรรม เบรกกระแส เอื้อ ’ทักษิณ‘ ?

จะมีภารกิจพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกใครบางคนหรือไม่ หรือจะเป็นชนวนขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ หรือเป็นสัญญาณตั้งต้นของความระส่ำภายในกันเอง ระหว่างเบอร์1รัฐบาล กับคนชั้น14 กันแน่

การรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังเพิ่มอุณหภูมิทางการเมือง และแรงเสียดทานไปยังเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อย่างไม่ต้องสงสัย 

ทั้งที่เจ้าตัวปฏิเสธมาตลอดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระเบียบราชทัณฑ์ใหม่เรื่องขังนอกเรือนจำ มีอะไรก็โยนเผือกร้อนให้กรมราชทัณฑ์อุ้มอยู่อย่างนั้น  

การเซ็นคำสั่งนายกฯ ของเศรษฐา เรื่องแบ่งงานรองนายกฯ ล่าสุด ดึงกระทรวงยุติธรรม ออกจากการกำกับดูแลของสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี จากเพื่อไทย มาให้พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ดูแลแทน

ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเชื่อมโยงกับความต้องการดำเนินการอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับอิสรภาพของทักษิณหรือไม่ หรือผู้มากบารมีชั้น14 ซึ่งมีอิทธพลทางความคิดอย่างสูงต่อแกนนำรัฐบาล กำลังไม่พอใจท่าทีที่เป็นอยู่ของใครอย่างไรหรือไม่ 

นับตั้งแต่ทักษิณกลับมาเหยียบแผ่นดินไทย เมื่อ22ส.ค.ที่ผ่านมา ก็ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในแดนกักโรค ก่อนถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ช่วงกลางดึกรอยต่อคืนวันที่ 22-23ส.ค.66 ด้วยอาการและภาวะเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังตามความเห็นของแพทย์ 

ผ่านมาจนถึงวันนี้ เกือบจะ 130 วันแล้ว ทักษิณ ก็ยังไม่ได้เข้าไปนอนในห้องขังของเรือนจำแม้แต่คืนเดียว ท่ามกลางการพูดถึงเกณฑ์การพักโทษ หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ จากจำคุก 8ปี เหลือ1 ปี และยังสามารถได้รับสิทธิลดโทษ พักโทษ หรืออภัยโทษเป็นการทั่วไปในโอกาสต่างๆ เหมือนนักโทษอื่นๆ ได้อีก เรื่องนี้ วิษณุ เครืองาม เคยให้ข้อมูลตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาลก่อน 

ประเด็นเรื่องการพักโทษของทักษิณ ถูกจับตามาโดยตลอด เพราะนั่นจะหมายถึงการได้กลับบ้านไปเลี้ยงหลานอย่างสบายใจ ใช้ชีวิตเท่ๆ แทบจะเหมือนคนปกติทั่วไป จะมีแค่กำไลEM ติดตัวเพิ่มมาเท่านั้น 

หลังจากช่วงปีใหม่ การนับถอยหลังเพื่อให้เข้าสู่เกณฑ์พักโทษของทักษิณ ตามเงื่อนไขต้องรับโทษมาแล้ว 1ใน3 หรือตั้งแต่6เดือน อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่ากัน ไทม์ไลน์จึงจะตกอยู่ประมาณปลายเดือน ก.พ.67 จะเข้าเงื่อนไขทั้งเรื่องระยะเวลารับโทษ และเงื่อนไขเรื่องอายุ รวมถึงอาการเจ็บป่วย

น่าสนใจว่าท่าทีของรัฐบาลจะจัดการกับกรณีของทักษิณอย่างไร มีการตั้งข้อสังเกตมากมายว่า การที่เศรษฐา สั่งแบ่งงานคุมกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกรมราชทัณฑ์ อยู่ในสังกัด เป็นการเล่นตามเกมที่ตัวเองกำหนด หรือเล่นตามบทที่ใครเขียนให้หรือไม่

เพราะบทบาทของสมศักดิ์ ในเรื่องที่พันกับทักษิณ ออกหน้าชี้แจงแทนหลายคนในรัฐบาลที่มักเด้งเชือกหลบ คอยให้ข้อมูลที่ค่อนจะไม่เป็นผลลบต่อคนชั้น14 หนำซ้ำหลายเรื่องดูจะเข้าทางด้วยซ้ำ แต่จู่ๆ กลับมีคำสั่งให้พีระพันธุ์ มาคุมยุติธรรมแทน แบบไม่ทันตั้งตัว

จะว่าไปแล้ว เศรษฐา และพีระพันธุ์ มีความเหมือนอย่างหนึ่ง คือเป็นตัวของตัวเองสูงมาก คนรอบข้างทั้งสองฝ่ายน่าจะเข้าใจหัวอกซึ่งกันและกันเป็นดี การมอบภารกิจใหม่นี้ จึงถูกจับตามองอย่างมากว่า กำลังจะดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายที่เปิดทางเอื้ออำนวยคอยช่วยใครหรือไม่ 

หรือการที่เศรษฐา เปลี่ยนตัวสมศักดิ์ เป็นพีระพันธุ์ เพื่อต้องการให้นิ่งในเรื่องทักษิณ ไม่ต้องเทคแอ็กชั่นเร่งเร้าอะไรให้มากหรือไม่ แต่หากไม่ใช่ ถ้าหนึ่งในภารกิจของรัฐบาลคือ การพาทักษิณ ออกจากโรงพยาบาลกลับบ้าน ชื่อของพีระพันธุ์ ก็ถือว่าตอบโจทย์ไม่น้อย   

ด้วยคอนเน็กชั่นที่ยาวนานของพีระพันธุ์ ตั้งแต่เป็นสส.สมัยแรกๆ พรรคประชาธิปัตย์ แนบแน่นกับอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งในภาคเหนือของประชาธิปัตย์  ยุคหนึ่ง เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีสส.ในสังกัด มีสายสัมพันธ์เกี่ยวดองกับผู้มากบารมีทางการเมืองในปัจจุบัน ที่แม้จะไม่มีบทบาทเบื้องหน้า แต่สามารถกำหนดทิศทางอะไรหลายอย่างได้ค่อนข้างมาก สามารถประสานเพื่อไทย และรวมไทยสร้างชาติ ได้อย่างกลมกลืน เป็นคนที่ไม่มีวันจะได้เห็นบนเวที แต่รู้ว่านั่งอยู่ริงไซต์สังเวียนการเมืองโดยตลอด  

ที่สำคัญผู้มากบารมีคนนั้นยังใกล้ชิดกับทักษิณเป็นอย่างมาก และเป็นคนที่พีระพันธุ์ ให้เกียรติอย่างมากเสมอมา 

สิ่งสำคัญที่ต้องจับตาคือ จะมีภารกิจพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกใครบางคนหรือไม่ หรือจะเป็นชนวนขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ หรือเป็นสัญญาณตั้งต้นของความระส่ำภายในกันเอง ระหว่างเบอร์1รัฐบาล กับคนชั้น14 กันแน่ การเมือง ปี67 น่าจะระอุกันตั้งแต่ต้นปีเลยทีเดียว