‘นครบาลเพชรบูรณ์’ เมืองหลวงแห่ง ‘พยัคฆ์ป้อม’

‘นครบาลเพชรบูรณ์’ เมืองหลวงแห่ง ‘พยัคฆ์ป้อม’

ชัยชนะของเสี่ยสันติ ในสีเสื้อพลังประชารัฐ และเป็นพรรคไม่มีกระแส แต่กวาดเก้าอี้ สส.ยกจังหวัด จึงเป็นเหตุผลหลักที่ลุงป้อมเลือกที่จะไปสัญจรเมืองมะขามหวาน เป็นจังหวัดแรก

‘นครบาลเพชรบูรณ์’ เป็นชื่อของเพชรบูรณ์ที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม  นายกรัฐมนตรี ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 2486-2487) ได้จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งเพชรบูรณ์ ให้เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า

‘เพชรบูรณ์มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เพราะมีชัยภูมิเหมาะสม มีภูเขาล้อมรอบ มีเส้นทางคมนาคมเข้าออกเพียงทางเดียว มีภูมิประเทศสวยงาม อากาศดี อยู่ตรงกลางของประเทศ เป็นศูนย์กลางภาคเหนือกับภาคอีสาน และกรุงเทพฯ …’

ตกมาถึง พ.ศ.ปัจจุบัน เพชรบูรณ์ กำลังจะกลายเป็น ‘เมืองหลวงทางการเมือง’ ของพรรคพลังประชารัฐ โดยการนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

สมรภูมิเพชรบูรณ์ มี สส. 6 คน และทุกคนสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ที่มี สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข เป็นหัวหน้าซุ้มมะขามหวาน

เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับมาจัดทัพใหม่ จึงมีแนวคิดในการจัดทำกิจกรรมพลังประชารัฐสัญจร จึงเลือก จ.เพชรบูรณ์ เป็นเวทีแรกโดยจะจัดขึ้นในวันที่ 8 ม.ค.2566

ตามโปรแกรม พล.อ.ประวิตร จะเดินทางไปพร้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมมอบโฉนดที่ดิน พร้อมรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะของประชาชน

ทำไมลุงป้อม จึงเลือก จ.เพชรบูรณ์ คำตอบคือ ช่วงบ้านป่ารอยต่อเงียบเหงา ก็มีแต่ เสี่ยสันติ พร้อมพัฒน์ ที่แวะเวียนไปรับประทานอาหารกลางวันกับเจ้าของบ้านป่ารอยต่อฯเกือบทุกวัน

เหนืออื่นใด เสี่ยสันติ ได้ทำให้ลุงป้อมเห็นแล้ว เก้าอี้ สส.เมืองมะขามหวาน ไม่ว่าจะเป็น 5 ที่นั่ง หรือ 6 ที่นั่ง ‘บ้านใหญ่พร้อมพัฒน์’ จัดการได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ผลการเลือกตั้งปี 2566 ทีมเสี่ยสันติ เอาชนะคู่แข่งขาดลอยในทุกเขต กระแสพิธาหรือกระแสอุ๊งอิ๊ง ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนเพชรบูรณ์

มาทำความรู้จัก สส.เพชรบูรณ์ 6 คน จากตัวแทน 4 บ้านใหญ่คือ พร้อมพัฒน์, พรพฤฒิพันธุ์,พั้วช่วย และทองใจสด

เขตเลือกตั้งที่ 1 สส.ปอย-พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ลูกสาว วินัย พรพฤฒิพันธุ  เจ้าของกิจการโรงโม่หิน, ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง, โรงสีข้าว และกิจการปั๊มน้ำมันหลายแห่งใน อ.เมืองเพชรบูรณ์

เขตเลือกตั้งที่ 2 สส.โอเล่-จักรัตน์ พั้วช่วย ตระกูลการเมืองที่เก่าแก่ของ อ.หล่มสัก โดย ประวัติ พั้วช่วย บิดาของจักรัตน์ เป็นนายกเทศมนตรีเมืองหล่มสักมายาวนาน ก่อนส่งต่อให้ลูกชายคนโต กิตติ พั้วช่วย

เขตเลือกตั้งที่ 3 บุญชัย กิตติธาราทรัพย์ อดีต ส.อบจ.เพชรบูรณ์ เขต อ.หล่มเก่า สายตรง เสี่ยด๊อยซ์-อัครเดช ทองใจสด นายก อบจ.เพชรบูรณ์

เขตเลือกตั้งที่ 4 วรโชติ สุคนธ์ขจร” อดีต ส.อบจ.เพชรบูรณ์ เขต อ.ชนแดน คนสนิทของวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์

เขตเลือกตั้งที่ 5 วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ภรรยาเสี่ยสันติ ย้ายมาจากเขต อ.ชนแดน มาลงสนาม อ.หนองไผ่ และ อ.บึงสามพัน

เขตเลือกตั้งที่ 6  อัคร ทองใจสด หลานชาย เอี่ยม ทองใจสด อดีต สส.เพชรบูรณ์ 8 สมัย ฉายาบ้านใหญ่วิเชียรบุรี

ฐานกำลังหลักของเสี่ยสันติ นอกจากบ้านใหญ่แล้ว ก็ยังมีกลุ่มการเมืองท้องถิ่นในชื่อ ‘กลุ่มเพชรบูรณ์บ้านเรา’

แม่ทัพใหญ่ของกลุ่มเพชรบูรณ์บ้านเราคือ เสี่ยด๊อยซ์-อัครเดช ทองใจสด นายก อบจ.เพชรบูรณ์

เสี่ยด๊อยซ์ เป็นลูกชายเอี่ยม ทองใจสด และมีภรรยาชื่อ จินตนา ทองใจสด ภรรยาของอัครเดช ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลพุเตย อ.วิเชียรบุรี

20 กว่าปีที่แล้ว เสี่ยสันติ จับมือ วิศัลย์ โฆษิตานนท์ อดีต ส.ส.เพชร บูรณ์ ยึดการเมืองท้องถิ่น ทั้งเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ และ อบจ.เพชรบูรณ์ มาอยู่ในกลุ่มของเขา

กลุ่มเพชรบูรณ์บ้านเรา หนุน อัครเดช ทองใจสด เป็นนายก อบจ.เพชรบูรณ์ มา 6 สมัย โดยปลายปี 2563 อัครเดชคว้าเก้าอี้นายก อบจ.เพชรบูรณ์ ด้วยคะแนนท่วมท้น 279,355 คะแนน

ทุกวันนี้ เอี่ยม ทองใจสด วางมือทางการเมือง และส่งไม้ต่อให้หลาน ชาย-อัคร ทองใจสด ลงสมัคร สส.เพชรบูรณ์ เขต 6 ได้รับเลือกเป็น สส.สมใจคุณปู่เอี่ยม

เลือกตั้งสมัยที่ผ่านมา สมศักดิ์ เทพสุทิน พยายามปั้นดาวรุ่งเพื่อไทย โดยหวังที่จะเจาะไข่แดงเสี่ยสันติ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ 

ชัยชนะของเสี่ยสันติ ในสีเสื้อพลังประชารัฐ และเป็นพรรคไม่มีกระแส แต่กวาดเก้าอี้ สส.ยกจังหวัด จึงเป็นเหตุผลหลักที่ลุงป้อมเลือกที่จะไปสัญจรเมืองมะขามหวาน เป็นจังหวัดแรก