ฉากชีวิต จาก ขรก.สู่นักการเมือง ‘ทวี สอดส่อง’ ใต้เงา ‘ชินวัตร’

ฉากชีวิต จาก ขรก.สู่นักการเมือง   ‘ทวี สอดส่อง’ ใต้เงา ‘ชินวัตร’

เส้นทางข้าราชการของ “ทวี” หลังคุมบังเหียนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ก็ยังคงพุ่งแรง โดยต่อมาได้ขยับขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ก่อนจะนั่งเก้าอี้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2554 ซึ่งอยู่ในยุครัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

ปม "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ถูกศาลตัดสินจำคุก 3 คดี รวมเวลา 8 ปี แม้จะถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนได้พระราชทานอภัยลดโทษ เหลือจำคุก 1 ปี ทว่าตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.2566 ที่เจ้าตัวเดินทางกลับมาเหยียบแผ่นดินไทย ก็ถูกส่งตัวไปรักษาอาการป่วยที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. แทนการจำคุก 

4 เดือนที่ไม่มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า “ทักษิณ”อยู่ที่ใดกันแน่ และครบกำหนดต้องกลับเข้าคุก ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้สิทธิพิเศษในการอยู่นอกคุกต่อไปจนพ้นโทษหรือไม่

ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่า ปฏิบัติการปูทาง“ทักษิณ”กลับบ้าน โดยไม่ต้องเข้าเรือนจำ ถูกเตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง แยบยล ไม่ใช่เพิ่งมาวางแผนช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

ย้อนไปในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่อของ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" ซึ่งดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น เริ่มถูกจับตาความเคลื่อนไหว

“สมศักดิ์” ไม่ใช่คนอื่นคนไกลของตระกูลชินวัตร ยิ่งได้เป็นปรากฎการณ์ย้ายจากพลังประชารัฐ กลับบ้านเดิมเพื่อไทย ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นว่า การ"กลับบ้าน"ของทักษิณ เป็นไปตามแผน

โดยเฉพาะระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 แม้"สมศักดิ์" จะอ้างว่าสารตั้งต้นมาจาก พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ปี 2560 เป็นกฎหมายที่ออกมาในช่วงของรัฐบาล คสช. หลังจากเลือกตั้ง 62 ได้เข้ามาเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ได้มีการออกกฎกระทรวง มาตรา 33 เรื่องการจำแนก พฤติกรรม การรักษาพยาบาล การเตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง ในปี 2563

ทำให้ถูกมองว่า เกณฑ์ใหม่ ตั้งไข่มาตั้งแต่ยุค “สมศักดิ์” ก่อนจะมาประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังมีการจัดวาง “ขุมกำลัง” ภายในกระทรวงยุติธรรม โดยเป้าหมายหลักอยู่ที่กรมราชทัณฑ์

กระทั่งมาถึงยุคของ "ทวี สอดส่อง" นั่ง รมว.ยุติธรรม จึงถูกมองว่า เข้ามารับไม้ต่อจาก “สมศักดิ์” ทันที 

หากย้อนไปในช่วงจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทยชื่อของ “ทวี สอดส่อง”เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในขณะนั้นถูกล็อกไว้คุมกระทรวงตราชั่ง แบบไม่เคยหลุดโผ

แม้หลังจากที่ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ จะมีแรงเขย่าจากคนใน “เพื่อไทย” ให้ยึดโควตารมว.ยุติธรรม คืนมา แต่ว่ากันว่า "นายใหญ่-นายหญิง” เชื่อมือ “ทวี” จึงไม่มีเปลี่ยนโผ

ย้อนเส้นทางชีวิตของ“ทวี” ที่เริ่มต้นในแวดวงข้าราชการ ก่อนจะเบนเข็มมาทำงานการเมือง “ทวี”เข้ารับราชการตำรวจ จนกระทั่งดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการกองปราบปราม จากนั้นในปี 2547 ได้โอนย้ายไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ในตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในปี 2551

ช่วงรอยต่อระหว่างปี 2547-2549 “ทวี” อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม แถมบารมีของ “สมชาย” ในกระทรวงยุติธรรมเวลานั้น เบ่งบานอย่างมาก

โดย “สมชาย” อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2542 ก่อนย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงานปี 2549 รวมแล้ว “สมชาย” คุมกระทรวงยุติธรรมยาวนาน 7 ปี  ว่ากันว่า ในยุคนี้ “บิ๊กตราชั่ง” ที่เคยอยู่ภายใต้ความดูแลของ “สมชาย” กำลังเติบโตอยู่ในตำแหน่งสำคัญหลายกรม-กอง

ขณะเดียวกันเส้นทางข้าราชการของ “ทวี” หลังคุมบังเหียนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ก็ยังคงพุ่งแรง โดยต่อมาได้ขยับขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ก่อนจะนั่งเก้าอี้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2554 ซึ่งอยู่ในยุครัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

บนเก้าอี้เลขาฯ ศอ.บต. “ทวี” สร้างผลงาน สร้างเครือข่าย ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเป็นที่ยอมรับ มีคนในพื้นที่ให้ความเคารพ และมีฐานเสียงพอสมควร

กระทั่งปี 2561 “ทวี” เข้าร่วมงานกับพรรคประชาชาติ ก่อนรับตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคปี 2562 แม้จะไม่ได้นั่งเก้าอี้ สส. แต่เมื่อ “วันมูหะมัดนอร์” ลาออกจากการเป็น สส.ทำให้ต้องขยับ “ทวี” ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับสอง ขึ้นมาเป็น สส.แทน 

กระทั่งการเลือกตั้ง สส. ปี 2566 “ทวี” ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่สอง และได้ดำรงตำแหน่ง สส.อีกสมัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เส้นทางราชการของ “ทวี” ผูกโยงกับเครือข่ายตระกูลชินวัตรมาอย่างต่อเนื่อง ช่วงโอนย้ายจากตำรวจมาเป็นสังกัดกระทรวงยุติธรรมมี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” คอยเกื้อหนุน ช่วงดำรงตำแหน่งเลขาฯ ศอ.บต. มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ผลักดันต่อ

เช่นเดียวกับเส้นทางการเมือง “ทวี สอดส่อง” ยังมีพรรคพี่ พรรคน้องของ “เพื่อไทย” อย่าง “ประชาชาติ” เป็นฐานสนับสนุน จนสามารถเติบโตมาได้

จึงไม่แปลกที่ชื่อของ “ทวี สอดส่อง” ไม่เคยหลุดโผ รมว.ยุติธรรม จนกระทั่งไทม์ไลน์การเมือง เดินมาถึงวันที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องเข้ารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม ท่ามกลางกระแส “สองมาตรฐาน” 

จึงเป็น “ทวี” ที่ต้องรับบท "หนังหน้าไฟ" ในภารกิจพิเศษ เพื่อคนพิเศษ ที่ถูกครหาว่าเป็น “นักโทษเทวดา” ที่ รมว.ยุติธรรม ต้องกำเผือกร้อนไว้ในมืออย่างปล่อยไม่ได้