รัฐบาล เดินหน้า อัพ ’ค่าแรงขั้นต่ำ‘ ชี้ คนรายได้น้อย เปอร์เซ็นต์ขึ้นต้องสูง

รัฐบาล เดินหน้า อัพ ’ค่าแรงขั้นต่ำ‘ ชี้ คนรายได้น้อย เปอร์เซ็นต์ขึ้นต้องสูง

“หมอชัย” เผย ”รัฐบาล“ แทรกแซง ขึ้น ”ค่าแรงขั้นต่ำ“ ไม่ได้ แต่มีสิทธิแสดงความเห็น โน้มน้าว ชี้ คนรายได้ต่ำ เปอร์เซ็นต์ขึ้นต้องสูง ระบ ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนต่อ สวนนายจ้าง อ้างจ่ายไม่ไหว ไล่ไปทบทวนศักยภาพธุรกิจ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติเห็นชอบปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 ตามมติเดิมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ว่า รัฐบาลเข้าใจว่าสิ่งไหนจะดำเนินการอะไรได้บ้าง ในฐานะรัฐบาลสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ในช่วงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ก็ได้มีการหาเสียงไว้ รัฐบาลมีสิทธิรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคณะกรรมการที่มีหน้าที่ตามกฏหมายจะเห็นด้วยกับรัฐบาล ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี เป็นเอกสิทธิไปแทรกแซงไม่ได้ แต่รัฐบาลจะไม่หยุดแสดงความคิดเห็น โน้มน้าว เพราะเรื่องแบบนี้พูดคุยกันได้ ไม่มีข้อบังคับไหน ที่ระบุว่าปีหนึ่งให้พิจารณาการขึ้นค่าแรงเพียงครั้งเดียว หากผ่านไปแล้วสักระยะ เมื่อคณะกรรมการฯ มีการทบทวนหรือพิจารณาใหม่อีกครั้งภายในปีเดียวกันก็ได้ ซึ่งถือว่าโอกาสมีอยู่เสมอ

นายชัย กล่าวว่า ในเรื่องนี้เป็นไปตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รมว.คลัง ระบุจากใจจริงว่า ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 2 บาท ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้แต่ไข่ไก่ ไข่ต้มครึ่งฟอง ยังซื้อไม่ได้ ถามว่าน้อยหรือไม่ นายกฯ มองว่าน้อยมาก ในแง่ของการครองชีพของภาคแรงงาน ค่าแรงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และคำนวณขึ้นค่าแรงล่าสุด 300 บาท เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 จนถึงปัจจุบันนี้ ค่าแรงขึ้นมาสูงสุดในรอบ 10 ปี ไม่เกิน 20 %

นายชัย กล่าวว่า คนรายได้ต่ำเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรงต้องสูง คนรายได้สูงเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรงต้องต่ำ เพราะฐานเงินเดือนที่ใหญ่ แต่ครั้งนี้กลับกันคนมีรายได้สูง ถ้า 10-11 ปี รายได้เพิ่มขึ้น 20% แล้วไม่ไหว พี่น้องแรงงานจะไหวได้อย่างไร ทางนายกฯ  มองในเชิงการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังเห็นมีช่องว่างและมีความเลื่อมล้ำสูงมาก ผู้ใช้แรงงานที่มีรายต่ำอยู่แล้ว แล้วขึ้นค่าแรงในจำนวนที่น้อย นายกฯ มีสิทธิแสดงความคิดเห็น และรู้ดีว่า จะไปหักหาญกันไม่ได้ เพราะมีกฏหมายกำหนดไว้ การแสดงความเห็นเป็นส่วนหนึ่ง การเคารพกฏหมายก็ต้องปฏิบัติตาม แต่คงจะมีการขับเคลื่อนต่อ

“คงไม่ใช่นายกฯ เพียงคนเดียว ส่วนตัวเชื่อว่า ในคณะรัฐมนตรี ก็เห็นคล้อยตามนายกฯ ที่จะต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะค่าแรงขั้นต่ำของไทยเกินกว่าตัวเลขที่ศึกษาวิจัยว่า คนหนึ่งคนเวลาทำงานมีครอบครัว มีลูกหนึ่งคนขั้นต่ำหนึ่งวันต้องมีรายได้ 560 บาทต่อวัน แต่ค่าแรงกลับห่างไกลมาก จึงเกิดปัญหาทำงานล่วงเวลา ทั้งพ่อและแม่ จนไม่มีเวลาดูลูก และนำมาซึ่งปัญหาสังคม” นายชัย กล่าว

นายชัย กล่าวว่า ตนจึงเข้าใจว่า ศักยภาพภาคธุรกิจไทย ถ้าบอกว่า ค่าจ้างสูงกว่านี้ไม่ไหว แปลว่าต้องทบทวนศักยภาพธุรกิจที่ไม่มีความสามารถพอ ที่จะทำธุรกิจและสร้างรายได้มากพอที่จะดูแลคนทำงานได้อย่างมีความสุข ดังนั้นภาคธุรกิจต้องปรับตัว หากผู้ประกอบการคิดว่าขึ้นค่าแรงแล้วจะทำให้ธุรกิจของตนเองอยู่ไม่ได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า คนอื่นที่อยู่ในวงการเดียวกันอาจอยู่รอดได้ เพราะจะมีเจ้าอื่นมาทดแทน และพร้อมจ่ายค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงอย่าได้กังวลว่า ค่าจ้างสูงแล้วธุรกิจอยู่ไม่ได้ และมีแรงงานตกงาน ส่วนตัวไม่เชื่อเช่นนั้น