จุดอ่อน ฝ่ายค้าน ‘ไม่ค้าน’ ‘ก้าวไกล’ ลดบทฝ่ายแค้น ?

จุดอ่อน ฝ่ายค้าน ‘ไม่ค้าน’  ‘ก้าวไกล’ ลดบทฝ่ายแค้น ?

จากตัวเลขคณิตศาสตร์ ในสภา "ทีมฝ่ายค้าน" ตกเป็นรอง "ฝ่ายรัฐบาล" อยู่มาก หากจะวัดพลัง - ใช้เสียงสู้ คงหวังชนะยาก ดังนั้นหากอยากผลักดัน "วาระก้าวหน้า" พรรคก้าวไกล ต้องลดบทฝ่ายแค้น

ในที่สุดสภาฯ ชุดที่ 26 ก็ได้องค์ประกอบครบแบบสมบูรณ์ ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายตรวจสอบ หลัง “ชัยธวัช ตุลาธน” สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อย่างเป็นทางการ เมื่อ 20 ธ.ค.2566

นับว่า “ชัยธวัช” เป็นผู้นำฝ่ายค้านของสภาฯ ลำดับที่ 10

หลังพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้าน “ชัยธวัช” ตอบคำถามกับผู้สื่อข่าว ถึงการทำงานร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ในฐานะ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ไว้ว่า

“จำเป็นต้องให้เกียรติ และไว้วางใจในทำงาน หากมีแผนงานและเป้าหมายทำงานร่วมกันเป็นรูปธรรมจะทำงานร่วมกันไปได้ด้วยดี”

โดยนัยแล้ว “ผู้นำฝ่ายค้านฯ" ลำดับที่10ยังมั่นใจใน “เอกภาพ” ของพรรคร่วมฝ่ายค้านแบบไม่ 100%

จุดอ่อน ฝ่ายค้าน ‘ไม่ค้าน’  ‘ก้าวไกล’ ลดบทฝ่ายแค้น ?

เนื่องจากหากพิจารณาตามเสียงของพรรคที่ถูกนับให้เป็น “ฝ่ายค้าน” อย่างชัดเจน 6 พรรค คือ ก้าวไกล 147 คน ประชาธิปัตย์ 25 คน ไทยสร้างไทย 6 คน ครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน ประชาธิปไตยใหม่ 1 คน พรรคใหม่ 1 คน รวม 181 เสียง

ส่วนอีก 2 พรรค อย่าง พรรคเป็นธรรม และ พรรคไทยก้าวหน้า อาจเรียกตัวเองว่า “ฝ่ายค้าน” ได้ไม่เต็มปาก

เหตุผลสำคัญ คือ “เป็นธรรม” มี สส. 2 คน คือ “กัณวีร์ สืบแสง” ที่ปวารณาตัว อยู่ฝั่ง “ฝ่ายค้าน” และเข้าร่วมประชุมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างชัดเจน ต่างกับ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” สส.พิษณุโลก ฐานะรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่ย้ายจากก้าวไกลเข้าสังกัดใหม่ ออกตัวว่า “พรรคเป็นธรรมคือฝ่ายค้านเต็มตัว อาจไม่เหมาะสม" 

จุดอ่อน ฝ่ายค้าน ‘ไม่ค้าน’  ‘ก้าวไกล’ ลดบทฝ่ายแค้น ?

ขณะที่ “ไทยก้าวหน้า” มี 1 สส. คือ “ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์” สส.กทม. หรือ ปูอัด ที่ถูกก้าวไกลขับพ้นสมาชิกพรรค วางสถานะให้เป็น “ยืนตรงกลาง” เพราะแกนนำพรรคไทยก้าวหน้า มีประวัติเกี่ยวดองกับ “เพื่อไทย” ตั้งแต่ยุค “ไทยรักไทย”

ดังนั้นเสียง ในมือของ “ฝ่ายค้าน” หากพิจารณาพรรคพวกที่เออ-ออ ไปทิศทางเดียวกัน อาจมีแค่ “ก้าวไกล-ไทยสร้างไทย” และ “สส.กัณวีร์” รวมเสียงได้ 154 เท่านั้นเมื่อนำคะแนนโหวตให้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ มาเปรียบเทียบ

ขณะที่ 4 พรรค คือ “ประชาธิปัตย์-ครูไทยเพื่อประชาชน-ประชาธิปไตยใหม่-พรรคใหม่” รวม 28 เสียง ส่วนใหญ่ เทใจให้ “ฝั่งรัฐบาล”

ดังนั้นหากจะถามหา “ความเป็นเอกภาพ” ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเทียบกับ “ฝ่ายค้าน” ยุคที่ผ่านๆ มา อาจไม่ถึงขั้นที่คาดหวังไว้ ว่า 100 จะได้เต็ม 100 

จุดอ่อน ฝ่ายค้าน ‘ไม่ค้าน’  ‘ก้าวไกล’ ลดบทฝ่ายแค้น ?

เอกภาพที่จะไปในทิศทางเดียวกัน จึงยากยิ่ง และย่อมส่งผลถึงการตรวจสอบ “รัฐบาล” คงไม่อาจสู้ได้ด้วยเสียงในสภาฯ

เพราะสัดส่วนของ “ฝั่งรัฐบาล” ที่ปัจจุบัน มี สส.ในมือ รวม 315 เสียง จาก 11 พรรค ได้แก่ เพื่อไทย 141 เสียง ภูมิใจไทย 71 เสียง พลังประชารัฐ 40 เสียง รวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง ประชาชาติ 9 เสียง ชาติพัฒนากล้า 3 เสียง เพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง เสรีรวมไทย 1 เสียง พลังสังคมใหม่ 1 เสียง และ ท้องที่ไทย 1 เสียง

และอาจมีเสียงเติมจาก “สส.ย้ายขั้ว” ได้อีก ประมาณ 19 เสียง ดังนั้นหากยึดตัวเลขทางคณิตศาสตร์ ใช้ “เสียงวัด” ฟันธงได้ว่า “ฝ่ายค้าน” สู้ชนะยาก และแต้มยังเป็นรองรัฐบาลอยู่มาก

จุดอ่อน ฝ่ายค้าน ‘ไม่ค้าน’  ‘ก้าวไกล’ ลดบทฝ่ายแค้น ?

อย่างไรก็ตาม หากจะสรุปผลงานของฝ่ายค้านไว้แบบนั้น ก็อาจจะเร็วไป เนื่องจาก “ก้าวไกล” มีขุนพลระดับพยัคฆ์ มองเกมสภาฯ เฉียบขาด อีกทั้งการถือบทผู้นำฝ่ายตรวจสอบ ยังมีเวลากว่า 3 ปี และมีหลายวาระที่รอให้ “ก้าวไกล-มิตรแท้ฝ่ายค้าน” พิสูจน์ผลงาน

ที่ต้องจับตา คือวาระการเมืองต้นปี 2567 ที่จะประเดิมด้วยเรื่องสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล พ่วงกับร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเพื่อไทยคิดจะกู้เพื่อนำมาใช้ในโครงการแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ การแก้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และประเด็นนิรโทษกรรมทางการเมือง

จุดอ่อน ฝ่ายค้าน ‘ไม่ค้าน’  ‘ก้าวไกล’ ลดบทฝ่ายแค้น ?

หาก “ก้าวไกล” อยากเอาชนะ “รัฐบาล” ในเกมสภาฯ จำเป็นต้องเตรียม “ขุนพล” และข้อมูลให้แน่น รวมถึงหาช่องทาง หาจังหวะที่ รัฐบาลอาจสะดุดขาตัวเองเช่นกัน

 ขณะเดียวกัน ยังมีเงื่อนไขสำคัญที่ “ทีมฝ่ายค้าน” อาจทำหน้าที่ตรวจสอบได้ไม่สุด เพราะมีหลายพรรคที่อยู่ในขั้วฝ่ายค้าน แต่พฤติกรรม “ไม่ค้าน” ที่สำคัญเป้าหมายผลงาน “นิติบัญญัติ” ที่ “ก้าวไกล”ตั้งประเด็น ผลักดัน วาระก้าวหน้า ผ่านร่างกฎหมายฉบับต่างๆ อาจต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง และเล่นบทประนีประนอม ในเรื่องที่มีหลักการ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

ดังนั้น ผลงาน “ฝ่ายค้าน” ในยุค “ก้าวไกล” อาจไม่ใช่การทำงานแบบ “บู๊ล้างผลาญ” เหมือนยุคที่ผ่านมา แต่อาจต้องปรับยุทธศาสตร์ด้วยการหามิตรเป็นแนวร่วม เพื่อผลักดัน “วาระก้าวหน้า” ให้เป็นผล เพื่อใช้เป็นแต้มในการเลือกตั้งครั้งหน้า.