กฎหมาย - ระเบียบราชทัณฑ์ ขึ้นต้นดี...เอื้อชั้น 14 ได้ไง?

กฎหมาย - ระเบียบราชทัณฑ์  ขึ้นต้นดี...เอื้อชั้น 14 ได้ไง?

เจตนารมณ์ของ "กฎหมายราชทัณฑ์" แท้จริงเพื่อแก้ปัญหา “นักโทษล้นเรือนจำ” ทว่า เมื่อกฎกระทรวงออกตั้งแต่ปี 2563 แต่ระเบียบ กลับเพิ่งมาออกในปี 2566 แถมจังหวะเวลาพอเหมาะพอดีกับชายชั้น 14 ไม่วายย่อมเจอครหานานัปการ

จริงๆ แล้วแถลงการณ์ของ “กรรมการสิทธิฯ” สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐมนตรียุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ออกมาชี้แจงเมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธ.ค.66

นั่นก็คือ หลักการหรือเจตนารมณ์ของทั้งกฎหมายราชทัณฑ์ และระเบียบกรมราชทัณฑ์ ที่ออกมา แท้จริงแล้วคือ การแก้ปัญหา “นักโทษล้นเรือนจำ” ระบุไว้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรท้าย พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ซึ่งคุกบ้านเรามีความหนาแน่นสูงสุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ถือว่าวิกฤติจริงๆ

ปัญหา “นักโทษล้นคุก - ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” เป็นปัญหาใหญ่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน กระทบต่อสุขภาวะ สุขอนามัยของนักโทษ “ดัชนีนิติธรรม” ในประเด็นนี้ของประเทศไทย ที่มีการวัดกันทั่วโลก เหมือนดัชนีคอร์รัปชัน ปรากฏว่าไทยได้คะแนนต่ำมาก พ.ต.อ.ทวี ก็เคยหยิบมาพูด และมอบเป็นนโยบายให้เร่งแก้ไข ตั้งแต่รับตำแหน่งใหม่ๆ

ที่สำคัญคนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำเมืองไทย มีคนที่ยังไม่ได้ถูกพิสูจน์ว่าเป็น “คนผิดจริงๆ” รวมอยู่ด้วย และมีเป็นจำนวนมาก เรียกว่า “ผู้ต้องขังระหว่าง” หมายถึง “ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี” หรือ “ระหว่างการต่อสู้คดี” ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่ไม่ได้รับการประกันตัวจากศาลนั่นเอง

กฎหมาย - ระเบียบราชทัณฑ์  ขึ้นต้นดี...เอื้อชั้น 14 ได้ไง?

กลุ่มนี้จริงๆ แล้วจะต้องถูกแยกออกไปคุมขังในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ เพราะยังไม่ใช่ “นักโทษเด็ดขาด” ศาลยังไม่ได้บอกว่าผิด ตามรัฐธรรมนูญต้องถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 ก็เขียนเรื่องนี้เอาไว้ ให้หาสถานที่อื่นในการคุมขังกลุ่มที่ไม่ได้รับการประกันตัว แต่ก็ไม่เคยปฏิบัติกันจริงจัง

กระทั่งมีกฎหมายราชทัณฑ์ฉบับใหม่ พ.ศ.2560 มีบทบัญญัติมาตรา 33 ที่ออกมารองรับแนวคิดนี้ คือ การหาสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ในการคุมขัง “ผู้ต้องขังบางประเภท” ซึ่งต่อมาก็มี “กฎกระทรวง” ประกาศตามออกมาในปี 2563 และล่าสุดคือ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2566

นอกจากนั้น รัฐมนตรียุติธรรมยังเตรียมออกกฎกระทรวงเป็นการเฉพาะอีก 1 ฉบับ เพื่อแยกคุมขังระหว่าง “ผู้ต้องขังระหว่าง” กับ “นักโทษเด็ดขาด” ให้ชัดเจนด้วย

กฎหมาย - ระเบียบราชทัณฑ์  ขึ้นต้นดี...เอื้อชั้น 14 ได้ไง?

ทั้งหมดสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ท้ายพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ที่อธิบายเหตุผลของการต้องตรากฎหมายนี้เอาไว้อย่างชัดแจ้ง

1.กฎหมายราชทัณฑ์ฉบับเดิม บังคับใช้มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2479

2.บทบัญญัติไม่สอดคล้องกับหลักสากล โดยเฉพาะกฎเกณฑ์การปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ๆ รวมถึง “ข้อกำหนดกรุงเทพ” หรือ Bangkok Rules ที่เป็นมาตรฐานผู้ต้องขังหญิง ซึ่งไทยผลักดันเอง และบังคับใช้ไปทั่วโลก (โปรดสังเกตชื่อข้อกำหนด เป็นชื่อเมืองหลวงของไทย)

3.ไม่สามารถจัดการหรือบริหารโทษของผู้ต้องขังเฉพาะรายหรือเฉพาะคดีได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจในการดำเนินการ และไม่สามารถดำเนินการให้มีสถานที่ควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องขังประเภทอื่น นอกจากการคุมขังไว้ในเรือนจำ ซึ่งทำให้ระบบการพัฒนาพฤตินิสัย และการบริหารงานเรือนจำไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นี่คือ เหตุผลของการตรากฎหมายราชทัณฑ์ฉบับใหม่ พร้อมๆ กับการคลอดกฎกระทรวง และระเบียบกรมราชทัณฑ์ตามมา

ฟังดูก็ดี แต่ปัญหามันอยู่ตรงไหน...ปัญหาอยู่ที่ไทม์ไลน์ และถ้อยคำที่ใช้ระเบียบต่างจากกฎหมาย

เรามาดูไทม์ไลน์ของเรื่องนี้กัน

ปี 2560 - ประกาศใช้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์

25 ก.ย.2563 - ประกาศใช้กฎกระทรวง กำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 (ลงนามโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น)

23 ส.ค.2566 - กระทรวงยุติธรรมทำหนังสือ “ด่วนที่สุด” สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา ถามไปหลายข้อ หนึ่งในคำถามคือ ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ตามบทบัญญัติมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ ได้หรือไม่ (ระเบียบ “นอนนอกคุก”)

หนังสือถาม ส่งหลังวันที่อดีตนายกฯ ทักษิณ กลับถึงประเทศไทยเพียงวันเดียว หรือพูดง่ายๆ คือ วันที่ไปนอนโรงพยาบาลตำรวจนั่นเอง

6 ธ.ค.2566 - ประกาศระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 (หรือ ระเบียบราชทัณฑ์ ฉบับ “นอนนอกคุก” ลงนามโดย นายสหการณ์​ เพ็ชรนรินทร์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์)

ระเบียบออกมาหลังวันที่ 5 ธ.ค.2566 ซึ่งไม่มีพระราชทานอภัยโทษอดีตนายกฯ

ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ

1.กฎหมายราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ออกมาด้วยเจตนาดี โดยเฉพาะมาตรา 33 แก้ปัญหานักโทษล้นคุก และหาสถานที่อื่นสำหรับคุมขังผู้ต้องขัง แม้บทบัญญัติไม่ได้เขียนชัดเจนว่าเป็นผู้ต้องขังประเภทไหน แต่เมื่อรัฐมนตรียุติธรรม และกรรมการสิทธิฯ บอกว่ามีเจตนารมณ์สำหรับผู้ต้องขังในคดียังไม่ถึงที่สุด หรือกลุ่มกักขังแทนค่าปรับ ก็ควรเดินหน้าตามเจตนารมณ์

2.เมื่อมีกฎหมาย ก็มีกฎกระทรวงออกตามมา โดยกฎกระทรวงออกตั้งแต่ปี 2563 แต่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่รองรับการดำเนินการตามกฎกระทรวง กลับเพิ่งมาออกในปี 2566 แถมจังหวะเวลาพอเหมาะพอดีกับความจำเป็นของชายชั้น 14

3.การที่กระทรวงยุติธรรมสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าออกระเบียบได้หรือไม่ เพิ่งถามวันที่ 23 ส.ค.2566 หลังคุณทักษิณกลับไทย 1 วัน และคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าลองอ่านดูในข้อ 5 พูดภาษาชาวบ้านคือ ออกระเบียบได้อยู่แล้ว เพราะกฎหมายก็เขียนชัด กฎกระทรวงก็มีแล้ว (จะถามมาเพื่ออะไร)

4.การออกระเบียบ ดันออกมาวันที่ 6 ธ.ค.2566 หลังวันที่ 5 ธ.ค.2566 แค่ 1 วัน ทำให้คนสงสัย

ที่สำคัญ เนื้อหาในข้อ 8 ผู้ต้องขังที่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาไป “นอนนอกคุก” เขียนไว้ชัดเจนว่าเป็น “ผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์” ซึ่งรวมถึง “นักโทษเด็ดขาด” ด้วย ทั้งๆ ที่ในคำแถลงการณ์ของกรรมการสิทธิฯ และเจตนารมณ์ของกฎหมายราชทัณฑ์ที่หยิบยกขึ้นมาอ้าง คือ ใช้กับ “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” หรือกลุ่มที่โดน “กักขังแทนค่าปรับ” เป็นหลักก่อน

เพราะหากรวม “นักโทษเด็ดขาด” ด้วย ก็จะย้อนแย้งกับคำพิพากษาของศาลที่ให้ “จำคุก” แต่พอมาถึงราชทัณฑ์ กลับได้ “นอนบ้าน” ก็จะกลายเป็นปัญหาความลักลั่นตามมาอีก

จริงๆ แล้วในระเบียบฯ มีการระบุหลักเกณฑ์ 4 ประการในการพิจารณาผู้ต้องขังที่จะได้รับสิทธิ “นอนนอกคุก” ซึ่งรวมถึง “นักโทษเด็ดขาด” ด้วย กล่าวคือ เพื่อการจำแนกแยกควบคุม, เพื่อการพัฒนาพฤตินิสัย, เรื่องของการเจ็บป่วย และเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว

หลักเกณฑ์นี้ ตามระเบียบนี้ ดันมาออกในจังหวะเวลาแบบนี้ ทำให้มีปัญหา เพราะพิจารณาอย่างไร อดีตนายกฯก็เข้าข่าวตามหลักเกณฑ์ ส่วนกฎกระทรวงการแยกขัง “ผู้ต้องขังระหว่าง” กลับออกมาช้ากว่า เข้าใจว่าขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการยกร่าง จุดนี้แหละที่เป็นความแปลกประหลาด ลักลั่น

กฎหมาย - ระเบียบราชทัณฑ์  ขึ้นต้นดี...เอื้อชั้น 14 ได้ไง?

สรุป...เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยถ้า...

-ออกระเบียบ “นอนนอกคุก” ตั้งแต่หลังกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ใหม่ๆ คือเมื่อปี 2563 หรือปี 2564 ก็คงไม่ถูกครหา

-ออกระเบียบ “นอนนอกคุก” โดยเขียนเงื่อนไขให้ชัดว่าไม่รวม “นักโทษเด็ดขาด” ตามเจตนารมณ์จริงๆ และตามคำแนะนำของกรรมการสิทธิฯ ก็จะไม่ถูกตั้งคำถามว่าเอื้อใคร

-เร่งออกกฎกระทรวง และระเบียบแยกคุมขัง “ผู้ต้องขังระหว่าง” กับ “นักโทษเด็ดขาด” ให้เร็วกว่านี้ เพราะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีคนจำนวนมากได้ประโยชน์จริง

พิจารณาทั้งหมดแล้ว คุณผู้อ่านว่าใครผิด กระแสสังคมที่สงสัย ข้องใจ หรือกระทรวงยุติธรรมกับกรมราชทัณฑ์ทำให้เกิดปัญหาเสียเอง?

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์