'รมช.คลัง' ตอบกระทู้สด เชื่อมาตรการแก้หนี้นอกระบบ ได้ผล

'รมช.คลัง' ตอบกระทู้สด เชื่อมาตรการแก้หนี้นอกระบบ ได้ผล

"จุลพันธ์" แจงสภาฯ นโยบายแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล มั่นใจแก้ปัญหาได้ผล ยุติวงจรดอกเบี้ยโหด พร้อมชู พิโกไฟแนนซ์ รื้อโครงสร้างหนี้นอกระบบ ระบุสัปดาห์หน้า ครม. คลอดมาตรการแก้หนี้เอสเอ็มอี

ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ตอบกระทู้ถามสดต่อที่ประชุมสภาฯ ต่อการแก้ปัญหาหนี้ให้กับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลอยู่ที่การสมัครใจ และเข้าแจ้งรายละเอียดกับช่องทางที่รัฐบาลกำหนดไว้ อย่างไรก็ดีรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม ผ่านกลไกของฝ่ายปกครอง คือ อำเภอ หรือ ตำรวจ โดยนัด  2 ฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ยด้วยตัวแนวทางเศรษฐศาสตร์ หากตรวจสอบพบว่าการชำระหนี้เกิดยอดเงินต้นที่ยืมจากเจ้าหน้านี้ ตามอัตราดอกเบี้ยเป็นธรรม จะเจรจาเพื่อยุติยอดหนี้ทั้งหมด อย่างละมุนละม่อน หากชำระหนี้ที่เหมาะสมแล้วต้องยอมความกันไป อย่างไรก็ดีรัฐบาลยอมรับและทราบถึงปัญหากรณีที่ประชาชนลังเลเข้าร่วมในแง่สวัสดิภาพความเป็นอยู่

“ยอดหนี้มีระดับพันล้านบาทขณะนี้ ต่ำกว่าตัวเลขจริงจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ประชาชนตัดสินใจจะเข้ารับการช่วยเหลือจากศูนย์ของรัฐบาลหรือไม่ การเริ่มทำงาน 10 วัน ประชาชนต้องการได้ความชัดเจนคือการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งกระบวนการแก้ไขหนี้นอกระบบเคยทำสำเร็จ เมื่อปี 2540 สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ที่ใช้กลไกภาครัฐ ความมั่นคงร่วมกัน โดยตอนต้นมีปัญหาเช่นกัน แต่ระยะหลังประสบความสำเร็จ” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวโดยเชื่อมั่นว่ากลไกของรัฐจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ทั้งนี้เจ้าหนี้ไม่ยอมเข้าร่วมมาตรการของรัฐ ดังนั้นรัฐจะพิจารณาตามกฎหมาย ซึ่งต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหนี้ลองของ คุกคามลูกหนี้ ซึ่งขณะนี้รัฐได้ดำเนินการตามกฎหมายเรียบร้อย ดังนั้นตนเชื่อว่ารัฐจะแก้ไขปัญหานี้นอกระบบได้เป็นรูปธรรม เบื้องต้นคือการหยุดการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่เกิดกว่ากฎหมาย

รมช.คลัง กล่าวถึงทางเลือกของการแก้ปัญหาโครงสร้างของหนี้นอกระบบ ผ่านกลไกของพิโค่ไฟแนนซ์ เป็นสถาบันให้กู้ขนาดเล็ก มีกระทรวงการคลังกำกับ ผ่านกระบวนการลงทะเบียน และมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท และเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย 33% ต่อปีกรณีมีหลักประกัน หากไม่มีหลักประกันจะมีอัตราดอกเบี้ย 36% ซึ่งเป็นแนวทางสร้างเครื่องมือกลไกการเงินขนาดเล็ก เพื่อรองรับการปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเจ้าหนี้นอกระบบสามารถผันตัวเองเข้าขอใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเพื่อทำธุรกิจที่ถูกกฎหมายและมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ และมีรายได้เพียงพอต่อเงิน ขณะเดียวกันประชาชนหรือลูกหนี้ไม่เดือดร้อนเพราะอยู่ในกำกับของรัฐ

“รัฐบาลต้องเดินหน้าหากลไก ลดภาระหนี้และหารายได้เพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนลดภาระค่าครองชีพและหนี้สิน  ทั้งนี้การมีหนี้ไม่ผิดบาป หากประเทศไม่มีกลไก หรือเครื่องมือก่อหนี้ นำหนี้มาประกอบอาชีพ สร้างรายได้ใหม่ ไม่มีโอกาสเจริญรุดหน้า หรือ เติบโตเพียงพอต่อประชากร แต่หนี้นอกระบบต้องอยู่ในระดับที่สร้างหนี้และบริหารจัดการตนเองได้” นายจุลพันธ์ ชี้แจง

 

นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่ากลไกปัญหาแก้ไขหนี้สิน ในส่วนของ เอสเอ็มอี กว่า 6หมื่นราย ที่ช่วงโควิดถูกปรับเป็นเอ็นพีแอล ในรหัส 21  สัปดาห์หน้า จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการแก้ไขรวมถึงการแก้หนี้ประชาชนกว่า 1 ล้านราย ที่เกิดเอ็นพีแอลในช่วงโควิด.