ประชาธิปัตย์ 'ซูเปอร์อะไหล่' ลุ้นจุดเปลี่ยน‘พรรคร่วม’เพื่อไทย

ประชาธิปัตย์ 'ซูเปอร์อะไหล่'  ลุ้นจุดเปลี่ยน‘พรรคร่วม’เพื่อไทย

ทางลัด มี “มือมืด” ลุ้นให้มีการเปลี่ยนตัว “นายกฯ” จาก เศรษฐา ทวีสิน ให้มาเป็น “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อจะได้รีเซ็ตพรรคร่วมรัฐบาลเสียใหม่ ซึ่ง “ประชาธิปัตย์” ก็มีความหวังที่จะลุ้นเสียบเหมือนกัน

“ประชาธิปัตย์”ภายใต้การนำของ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" ต้องรับแรงกระแทก รับแรงกระเพื่อม จากกรณีที่สมาชิกพรรคระดับบิ๊กเนม-โนเนม ทยอยกันลาออก เพราะไม่เชื่อมั่นในแนวทางการบริหารจัดการพรรคของผู้นำคนใหม่

โดยเฉพาะ “กลุ่มเพื่อนมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้า ปชป. อาทิ สาธิต ปิตุเตชะ บ้านใหญ่ระยอง สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต สส.ตรัง อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีต สส. กทม. เป็นต้น

ขณะที่ “ชวน หลีกภัย” ยังจำเป็นต้องอยู่เป็นหลักชัยให้กับ “พรรคสีฟ้า” ต่อไป แม้จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ “ทีมเฉลิมชัย” แต่ต้องคอยค้ำยันเอาไว้ รอจังหวะเวลาที่เหมาะสม ภารกิจกอบกู้พรรคอาจจะต้องใช้บริการ “ผู้เฒ่าชวน”

เมื่อฝุ่นตลบจางลง ทั้งในพรรค นอกพรรค จึงจับจ้องว่า “เฉลิมชัย” จะวางสถานะของ “ประชาธิปัตย์” อย่างไร จะเดินหน้าในฐานะ “พรรคฝ่ายค้าน” โชว์ผลงานตรวจสอบการทำงานของ “รัฐบาล” อย่างจริงจังหรือไม่

เพราะระหว่างการจัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อไทย” มีร่องรอยของการต่อรองเข้าร่วมรัฐบาลปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะการเดินทางไป “ฮ่องกง” ของ "เดชอิศม์ ขาวทอง" สส.สงขลา เลขาธิการพรรคคนปัจจุบัน โดยเจ้าตัวยอมรับภายหลังว่าได้พบปะพูดคุยกับ “ทักษิณ ชินวัตร” แต่ไม่ได้คุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล

ในสมการ "รัฐบาลเพื่อไทย" แม้จะไม่มี “ประชาธิปัตย์” เนื่องจากติดอุปสรรคตรงที่การบริหารจัดการภายในพรรคไม่สามารถหา “หัวหน้าพรรคคนใหม่”ได้ทัน จึงตกขบวนทันที

แต่เมื่อ “เฉลิมชัย” เสียสัจจะ กลับเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีก สัญญาที่เพิ่งประกาศจะไม่เป็น “พรรคอะไหล่-ไม่เข้าร่วมรัฐบาล” ในทางการเมืองแล้ว อาจไม่มีใครเชื่อถือ เพราะหากสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน  “เฉลิมชัย” อาจเปลี่ยนจุดยืนได้เช่นกัน

ยิ่งสไตล์การเมืองต้องใช้ “ทุน” ค่อนข้างสูง ยิ่งจำเป็นต้องเข้าสู่อำนาจรัฐ มีเก้าอี้รัฐมนตรีให้เข้าบริหารจัดการทรัพยากร แม้ 4 ปี บนเก้าอี้อำนาจจะสามารถเก็บเกี่ยวมาได้เยอะ แต่ฤดูเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ใช้ไปเยอะเช่นกัน

ที่สำคัญ “ประชาธิปัตย์” แทบไม่มี “นายทุน” ระดับเบอร์ใหญ่มาช่วยอุดหนุน แถมที่มีอยู่ต้องจับตาด้วยว่าจะขอถอนตัว-ถอนทุนหรือไม่

ฉะนั้น หากจะสู้ศึกเลือกตั้งในระยะยาว “เฉลิมชัย-ทีม” จำเป็นต้องหาหนทางเข้าสู่อำนาจให้ได้ 

นักสังเกตการณ์ในพรรคเชื่อว่า น่าจะมีเกมพลิกสถานการณ์เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย อาจได้เห็นสัญญาณชงสูตรเปลี่ยนตัวพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ต้องรอสัญญาณจากคน “ชั้น 14”

ว่ากันว่า อีกแนวทาง ซึ่งเป็นทางลัด มี “มือมืด” ลุ้นให้มีการเปลี่ยนตัว “นายกฯ” จาก เศรษฐา ทวีสิน ให้มาเป็น “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อจะได้รีเซ็ตพรรคร่วมรัฐบาลเสียใหม่ ซึ่ง “ประชาธิปัตย์” ก็มีความหวังที่จะลุ้นเสียบเหมือนกัน

วงในมีการประเมินว่า หากจำเป็นต้องจับขั้วพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ จะเป็นโอกาสของ ปชป.ทันที แต่ต้องวัดใจว่าผู้มีอำนาจเหนือเพื่อไทยจะเขี่ยพรรคร่วมรัฐบาลใดทิ้งหรือไม่

สังเคราะห์จากจำนวนเสียงช่วงจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรคการเมือง 314 เสียง ประกอบด้วย  เพื่อไทย 141 เสียง ภูมิใจไทย 71 เสียง  พลังประชารัฐ 40 เสียง รวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง ประชาชาติ 9 เสียง ชาติไทยพัฒนา 16 เสียง ชาติพัฒนากล้า 2 เสียง เสรีรวมไทย 1 เสียง ท้องที่ไทย และพลังสังคมใหม่ อย่างละ 1 เสียง

เมื่อ “ทีมเฉลิมชัย” ในพรรคประชาธิปัตย์มี 25 เสียง หัก "ทีมชวน" ออก 4 เสียง เหลือ 21 เสียง มีความพร้อม และอาจบวกกับ “ไทยสร้างไทย” 6 เสียง ซึ่งจะมีเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคในช่วงต้นปี 2567 โดยมุ่งหวังจะเข้าร่วมรัฐบาลเช่นกัน ทำให้จำนวนเสียง “ประชาธิปัตย์-ไทยสร้างไทย” รวมกันได้ 31 เสียง หาก “เพื่อไทย” ต้องการเปลี่ยนเกม ย่อมทำได้ทุกเวลา

หากคิดสูตรปรับ “ภูมิใจไทย” 71 เสียงออก จาก 314 เสียง จะเหลือ 243 เสียง เมื่อบวก “ประชาธิปัตย์-ไทยสร้างไทย” จำนวน 27 เสียงเข้าไปแทน ขั้วรัฐบาลใหม่ก็จะมีเสียง 270 เสียง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ

“ภูมิใจไทย” ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอันดับสอง ที่อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก หากแรงต่อรองทางการเมืองลดน้อยลง

โดยเฉพาะหาก "สปอนเซอร์ใหญ่" ของ “เพื่อไทย” ต้องการเอาคืน ปมบาดหมาง "ระบบราง" จึงเป็นการโอกาสเปิดขึ้นมาแล้ว

เช่นเดียวกัน หากต้องการปรับ “พลังประชารัฐ” 40 เสียง หรือ “รวมไทยสร้างชาติ 36 เสียงออก รัฐบาลเพื่อไทยก็ไร้ปัญหาเช่นกัน เนื่องจากจำนวน สส. ของพรรคร่วมยังห่างกับ “ขั้วฝ่ายค้าน” อยู่มาก

ดังนั้นความพร้อมของ “ประชาธิปัตย์” ที่แต่งตัวรอจังหวะเสียบ กลับยิ่งเป็นการเพิ่มแรงต่อรองทางการเมืองให้ “เพื่อไทย” มากขึ้น    

“พรรคร่วมรัฐบาล” อาจจะต้องระมัดระวังท่าที ลดการแข็งข้อลง เพราะหากพรรคใดขวางทาง ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะพ้นจากอำนาจรัฐได้ทันที

ชั่วโมงนี้ แม้ “เฉลิมชัย”ประกาศว่าไม่ใช่พรรคอะไหล่ แต่หากสถานการณ์รัฐบาลเปลี่ยน จุดยืนหัวหน้า ปชป.ย่อมเปลี่ยนได้ไม่ยาก