ย้อนปี 89 สส.สายพิทักษ์ รธน. ฝันค้าง! ชง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาธิปไตย

ย้อนปี 89 สส.สายพิทักษ์ รธน.  ฝันค้าง! ชง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาธิปไตย

ย้อนไปเมื่อ 77 ปีที่แล้ว มีความพยายามของ สส.กลุ่มหนึ่งที่จะเสนอกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญ

เมื่อเปิดดูรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 5 ครั้งที่ 17/2489 สมัยสามัญ ปีที่ 1 เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 28 มี.ค. 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ซึ่งมีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองระบอบประชาธิปไตย พุทธศักราช 2489 ภายใต้การผลักดันกลุ่ม สส.สายพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ของ นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ สส.ระยอง และคณะ ประกอบด้วย นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร สส.สุราษฎร์ธานี นายเชื้อ สนั่นเมือง สส.เพชรบูรณ์ นายธรรมนูญ เทียนเงิน สส.ชลบุรี นายยืน สืบนุการณ์ สส.สุรินทร์ เขต 2 นายสมบูรณ์ บัณฑิต สส.น่าน ร.ท. กระจ่าง ตุลารักษ์ สส.ขอนแก่น เขต 1 นายประมวล กุลมาตย์ สส.ชุมพร ร.ต.ท. สงกรานต์ อุดมสิทธิ์ สส.เลย นายอรัญ รายนานนท์ สส.จันทบุรี

โดยเหตุผลของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักและเป็นระบอบที่อารยะประเทศทั่วโลกยอมรับนับถือ และเพื่อป้องกันมิให้การปกครองระบอบของประเทศไทยโน้มน้าวหรือก้าวไปสู่ระบอบเผด็จการซึ่งโลกชิงชัง อันจะเป็นเหตุให้ประเทศไทยถูกรังเกียจในสังคมนานาชาติ


ย้อนปี 89 สส.สายพิทักษ์ รธน.  ฝันค้าง! ชง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาธิปไตย

ย้อนปี 89 สส.สายพิทักษ์ รธน.  ฝันค้าง! ชง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาธิปไตย

สำหรับ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2489 นั้น มี ทั้งหมด 7 มาตรา โดยมาตรา 3 นิยามคำว่า “รัฐธรรมนูญ” หมายความว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

“เผด็จการ” หมายความว่า “การปกครองที่บุคคลคนเดียวหรือมากกว่าใช้อำนาจสิทธิขาดบงการให้ประชาชนปฏิบัติตามเจตน์จำนงของตนเองโดยพลการ โดยมิได้คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย"

สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ได้วางบทกำหนดโทษที่สำคัญ ดังนี้

มาตรา 4 ผู้ใดกระทำการละเมิดบทบัญญัติใดๆ แแห่งรัฐธรรมนูญโดยเจตนาไม่สุจริตเกี่ยวกับการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลากร ผู้นั้นีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

มาตรา 5 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายบังคับให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติใดๆ แห่งรัฐธรรมนูญก็ดี หรือให้ละเว้นปฏิบัติการตามบทบัญญัติใดๆ แห่งรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจนถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 3,000 บาท จนถึง 50,000 บาท

มาตรา 6 ผู้ใดทำการปกครองตามระบอบเผด็จการหรือโน้มน้าวในทำนองเผด็จการโดยเจตนาไม่สุจริต ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจนถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 3,000 บาทจนถึง 50,000 บาท

มาตรา 7 ผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.นี้ให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งตามกฎหมายว่าการเลือกตั้งมีกำหนดตั้งแต่ 4 ปีจนถึง 20 ปี นับแต่วันพ้นโทษด้วย

โดยนายเสวตร แถลงต่อที่ประชุมสภาฯ ถึงการเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวตอนหนึ่งว่า “ความจริงกฎหมายชนิดนี้ได้เคยมีมาแล้วในสมัยเริ่มปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่กฎหมายฉบับนั้นเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารมากกว่าของประชาชน กฎหมายฉบับนั้นไม่เพียงแต่จะลงโทษผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างเท่านั้น แต่มีหลักการกว้างขวางมาก ได้ลงโทษกระทั่งผู้ที่ทำความหวาดหวั่นหรือทำให้เสื่อมความนิยมในระบอบรัฐธรรมนูญ และผู้ที่แม้สงสัยว่าจะทำการเช่นนั้นก็อาจจะถูกเนรเทศไปอยู่ดินแดนที่ไกล ดังที่สมาชิกบางท่านได้เคยประสบมาแล้ว”

“ทีนี้ได้มีผู้เสนอความเห็นมาว่ากฎหมายชนิดนี้ควรจะเป็นบทบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ คือให้มีการลงโทษหรือบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า การละเมิดรัฐธรรมนูญเป็นการกบฏอย่างสูง อย่างเช่นประเทศนอร์เวย์เคยบัญญัติไว้ แต่การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะทำให้เป็นการยากแก่การแก้ไขในอนาคตต่อไป”

ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นกล่าวว่า “เรื่องที่จะป้องกันผู้ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปร่วมพิจารณาแล้วนั้นกรรมาธิการได้ระแวงถึงอยู่ ในการนี้เราจำเป็นที่จะต้องป้องกันโดยละเอียด เหตุฉะนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลจะขอรับเรื่องนี้ไปพิจารณาและรอดูข้อสังเกตุของคณะกรรมาธิการซึ่งจะมีมาด้วย ความจริงการที่จะร่างนั้นอาจจะมากกยิ่งกว่าที่ท่านร่างมานี้อีก เราจะได้ระบุไว้เฉพาะเจาะจงทีเดียวว่า ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรานั้นลงโทษอย่างนั้นผิดมูลเหตุนี้ลงโทษอย่างนี้ ในชั้นนี้จะขอรับไปพิจารณาก่อน

ย้อนปี 89 สส.สายพิทักษ์ รธน.  ฝันค้าง! ชง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาธิปไตย

ทำให้ นายเสวตร กล่าวว่า “เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีปรารถนาเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่ขัดข้อง”

จากนั้นประธานสภาฯ ได้ขอให้ที่ประชุมสภาฯ วินิจฉัยว่า ผู้ใดเห็นว่าควรมอบร่าง พ.ร.บ.นี้ใหรัฐบาลรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ โดยมีสมาชิกยกมือพร้อมเพียงกัน เป็นอันว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2489 ได้ถูกส่งให้รัฐบาลรับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ

ย้อนปี 89 สส.สายพิทักษ์ รธน.  ฝันค้าง! ชง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาธิปไตย

ทว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ก็ไม่ได้นำกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารับหลักการอีก จนกระทั่งได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ

หลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของไทย ที่จัดทำร่างโดยสภาผู้แทนราษฎร และเพิ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2489 เพียง 1 เดือน ได้เกิดเหตุสำคัญเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต ในขณะที่นายปรีดี เป็นนายกรัฐมนตรี

ย้อนปี 89 สส.สายพิทักษ์ รธน.  ฝันค้าง! ชง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาธิปไตย

ย้อนปี 89 สส.สายพิทักษ์ รธน.  ฝันค้าง! ชง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาธิปไตย

ย้อนปี 89 สส.สายพิทักษ์ รธน.  ฝันค้าง! ชง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2489 ที่ถูกยกในขณะนั้นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง กลับต้องถูกยกเลิกด้วยอำนาจนอกระบบ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 โดยคณะรัฐประหารที่นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ นายทหารกองหนุน เป็นหัวหน้าคณะได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ประเทศไทยนับแต่ปี 2489 เรื่อยมาจนถึงปี 2566 มีรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีก17 ฉบับ รวมมีรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้มากถึง 20 ฉบับ และเกิดการรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วนรวมแล้ว 13 ครั้งนับแต่ปี 2475

และปัจจุบันรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ก็พยายามจะผลักดันให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยภายใน 4 ปีตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้

อ้างอิง  : https://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll_x.php?aid=8055&mid=1806