‘ชวลิต’ ชี้ สภา ชุดก่อน มติเอกฉันท์ ’นิรโทษกรรม‘ ยกเว้นคดี ‘ม.112-ทุจริต’

‘ชวลิต’ ชี้ สภา ชุดก่อน มติเอกฉันท์ ’นิรโทษกรรม‘ ยกเว้นคดี ‘ม.112-ทุจริต’

"ชวลิต“ ชี้ ในอดีต แนวทางสร้างปรองดอง สภาฯ ชุดที่แล้ว เห็นชอบ นิรโทษกรรมคดีการเมือง เว้นความผิด ”ทุจริต-ม.112“ ย้ำ ต้องคำนึงความมั่นคงของชาติ ละเมิดสถาบันไม่ได้

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคไทยสร้างไทย อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นกรณีรัฐบาลมีแนวคิดจะตั้ง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ว่า จากประสบการณ์การจัดทำรายงานการศึกษาเรื่องแนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของประชาชนในชาติของสภาฯ ชุดที่ผ่านมา หากดำเนินการในรูปแบบที่ใช้การพิจารณาในคณะกรรมาธิการฯ เป็นหลัก แทบจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ แต่เมื่อมีการพูดคุยปรึกษาหารือกันนอกรอบทีละกลุ่มๆ จนทราบข้อมูลเชิงลึกของแต่ละกลุ่ม แต่ละสี แต่ละฝ่ายแล้วจัดประชุมร่วมกันจนตกผลึกทางความคิด งานจึงจะเป็นผลสำเร็จ

ซึ่งคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ผ่านมา ได้ใช้ความเพียรพยายามพูดคุยนอกรอบกับกลุ่มคู่ขัดแย้งในอดีตมาจับมือกัน สร้างความปรองดอง สมานฉันท์ จนตกผลึกทางความคิด และรายงานของคณะกรรมาธิการฯก็ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อ 19  สิงหาคม 2563 เพียงแต่รัฐบาลที่ผ่านมาเก็บรายงานดังกล่าวเข้าลิ้นชัก มีข้อสรุปของรายงานของคณะกรรมาธิการฯดังนี้

1. นิรโทษกรรมคดีการเมือง คดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

 2. ยกเว้นไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดตาม ม.112 และคดีทุจริต

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาคดีต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยมีข้อสังเกตว่า ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นเอกฉันท์ดังกล่าวนั้น ได้ยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้กับกรณีความผิดตาม ม.112 ซึ่ง ทุกพรรคการเมือง ในขณะนั้น ล้วนให้ความเห็นชอบ

ปัจจุบัน พรรคการเมืองหลักๆ ดังกล่าว ก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอยู่ในสภาฯ แห่งนี้ ดังนั้น การคุยกันนอกรอบในทุกประเด็น น่าจะหาทางออกให้ประเทศของเราออกจากความขัดแย้งได้ สำหรับคดีความผิดตาม ม.112 นับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ทั้งในแง่มุมประวัติศาสตร์และยุคโลภาภิวัฒน์ที่ต้องพัฒนาไปกับกาลสมัย แต่ในที่สุด ถ้าได้คำนึงถึงความมั่นคงของชาติ ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา คือ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ (มาตรา 6 รัฐธรรมนูญ 60) ที่กล่าวมานั้นเป็นข้อกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ที่อยู่ในวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ ซึ่งคนไทยโดยทั่วไปได้เรียนรู้และรับทราบว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่สร้างชาติ ปกป้อง รักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ให้ประชาชนคนไทยได้อยู่ ได้อาศัย ในประเทศไทยมาจนทุกวันนี้

ดังนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่าให้เป็นเอกภาพ เป็นชาติบ้านเมือง การละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายสถาบันพระมหากษตริย์ ก็เท่ากับทำลายชาติ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมาจึงเห็นว่า การละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ตาม ม.112 ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงจึงไม่อาจนิรโทษกรรมได้ ณ ปัจจุบันโดยความเห็นส่วนตัวของตน ถ้าผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือผู้ที่ต้องโทษ ได้สำนึกในการกระทำของตนว่าเป็นการล่วงละเมิด จะโดยตั้งใจ หรือมิได้ตั้งใจก็ตาม โดยเฉพาะเพื่อไม่ให้เวลาในการสู้คดีความทำลายหน้าที่การงานของตนและครอบครัว ก็อาจขอพระราชทานอภัยโทษ ก็เป็นพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ที่สำคัญควรมีเงื่อนไขไม่กระทำความผิดซ้ำ

นอกจากนี้ อาจมีกรณีที่ต้องพิจารณาว่า บางรายอาจถูกกลั่นแกล้งบ้าง ไม่เจตนาบ้าง เห็นว่าเป็นกรณีปลีกย่อยที่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ประเด็นหลัก คือ ผู้ที่ตั้งใจละเมิด หากสำนึกผิด  และต้องการพ้นจากปัญหานานัปการในการต่อสู้คดี ก็ควรขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งก็เป็นพระราชอำนาจที่จะทรงพิจารณา ซึ่งสุดท้าย ตนมั่นใจว่า คุณธรรม เมตตา และอภัย จะทำให้คนไทยออกจากความขัดแย้งที่มีมาเกือบ 20 ปี ไปสู่สังคมที่สงบสุข ร่วมมือกันพัฒนาชาติบ้านเมืองส่งต่อให้รุ่นลูก รุ่นหลานสืบไป