'กก.ประชามติ' ปิดทางคำถามพ่วง ระบุ 'กกต.' อ้าง 'รธน.60' ไม่เปิดช่อง

'กก.ประชามติ' ปิดทางคำถามพ่วง ระบุ 'กกต.' อ้าง 'รธน.60' ไม่เปิดช่อง

"ยุทธพร" บอก "กกต." ปิดทาง ชง คำถามพ่วงประชามติแก้รธน. ระบุ รธน. 60 ไม่เปิดช่อง แย้มกก.ประชามติ ชงทุกแนวทางให้ "ครม." เคาะต้นปีหน้า คาดต้องแก้กม.ประชามติก่อน

นายยุทธพร อิสรชัย กรรมการเพื่อพิจาารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีคำถามพ่วงเพื่อทำประชามติต่อการแก้รัฐธรรมนูญ จากเดิมที่มีคำถามหลักว่าเห็นชอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ ว่า ประเด็นดังกล่าวคณะอนุกรรมการฯ เคยสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าสามารถมีคำถามพ่วงในการถามประชามติได้หรือไม่ ซึ่ง กกต.​ระบุว่าไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้เปิดช่องให้ทำได้ ซึ่งต่างจากครั้งที่ทำประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีคำถามพ่วงต่อกรณีให้รัฐสภามีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 ที่สามารถกำหนดให้ทำได้ อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวจะสอบถามไปยังกกต. ฐานะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง ถึงปัญหาและข้อจำกัด หรือต้องตั้งคำถามแบบใด

เมื่อถามว่าประเด็นที่เห็นต่าง เช่น ที่มาของส.ส.ร. หรือไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 จะมีทางที่เป็นข้อยุติอย่างไร นายยุทธพร กล่าวว่า สำหรับการไม่แก้หมวด 1 และ หมวด 2 ถือเป็นข้อยุติที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล ส่วนการมี ส.ส.ร. จากที่รับฟังความเห็นของประชาชน ตกผลึกและเห็นตรงกันว่าต้องมี ส.ส.ร. แต่ที่มาหรือองค์ประกอบขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้ล่าสุดทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มีนายพริษฐ์​ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานกมธ.  ได้ส่งความเห็นเพื่อเสนอรูปแบบของการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายังกรรมการฯ  ซึ่งประกอบด้วย 3 รูปแบบ ทั้งนี้กรรมการฯ ได้รับไว้ แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะวางแนว หรือรูปแบบการได้มาซึ่ง ส.ส.ร.อย่างไร

“แนวทางของคำถามประชามตินั้น ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งกรรมการศึกษาฯ จะนำเสนอผลการพิจารณาและทางเลือกต่างๆ ให้คณะรัฐมนตรี เป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งในส่วนของคำถามประชามติ จำนวนการทำประชามติ และการแก้ไขกฎหมายประชามติ ในช่วงเดือนม.ค.- ก.พ. 67 นี้  และตามกระบวนการจัดทำประชามติตามกฎหมายจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ค. 67” นายยุทธพรกล่าว

นายยุทธพร กล่าวด้วยว่าสำหรับการแก้ไขกฎหมายประชามติ นั้นขณะนี้ยังไม่มีการเสนอตัวร่างแก้ไขเนื้อหา แต่มีแนวทางที่เป็นเพียงการหารือ คือ จะเสนอแก้ไขเกณฑ์การใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ ชั้นของผู้ออกมาใช้สิทธิต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงผ่านประชามติต้องได้เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ เพราะหากไม่แก้ไขจะเป็นปัญหาที่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุปว่าจะแก้ไขให้เป็นรูปแบบใด เพราะมีข้อเสนอหลากหลาย เช่น ยกเลิกหลักเกณฑ์ดังกล่าวทั้งหมด, ยกเลิกเกณฑ์เสียงเห็นชอบที่ต้องใช้เกิน 50% และมีข้อเสนอจากพรรคก้าวไกล ที่เสนอให้ใช้เกณฑ์ 25% เฉพาะเสียงเห็นชอบเรื่องที่ทำประชามติ อย่างไรก็ดีการแก้ไขกฎหมายประชามติเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดก่อนการทำประชามติ.