อนุดิษฐ์ ชี้ ‘ทักษิณ’ โดนฝ่ายตรงข้ามเจตนาจัดการ แนะ รัฐบาล ฟื้นหลักนิติธรรม

อนุดิษฐ์ ชี้ ‘ทักษิณ’ โดนฝ่ายตรงข้ามเจตนาจัดการ แนะ รัฐบาล ฟื้นหลักนิติธรรม

"อนุดิษฐ์" แนะ รัฐบาล เร่งแก้กฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ความยุติธรรมทางอาญา คืนความชอบธรรมให้คนที่ถูกจัดการอย่างไม่เป็นธรรม ยกเคส ”ทักษิณ“ ถูกฝ่ายตรงข้ามเจตนาจัดการโดยเฉพาะ ต้องจำยอมถูกลงโทษ เพื่อกลับมาอยู่กับครอบครัว มากกว่าเต็มใจยอมรับการลงโทษ

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึง การพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งคาดว่าจะถูกหยิบยกมาพูดคุยในสมัยประชุมที่กำลังจะถึงนี้ว่า การเข้าไปรับโทษตามคำพิพากษาในเรือนจำ เป็นกระบวนการลงโทษผู้กระทำความผิดตามหลักการสากล ใครทำผิดก็ต้องรับโทษทัณฑ์ของตัวเองตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว แต่กรณีนี้ คงต้องยกเว้นผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยเฉพาะนักโทษการเมืองทั้งหลายที่ต้องสูญเสียอิสรภาพ หรือ ต้องหลบหนีอยู่ในขณะนี้

หลายคนคงจำกันได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และมีนโยบายที่จะฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ อันเป็นการยอมรับว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง และมิได้ปกครองด้วยหลักนิติธรรม

“หลักนิติธรรม คือเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่หลักการนี้กลับถูกบิดเบือนจากฝ่ายที่มีอำนาจในอดีต เพื่อใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตน ทำให้หลักการสำคัญของกฎหมายอาญา ถูกแก้ไข บิดเบือน หลายเรื่อง เช่น การแต่งตั้ง คตส. ซึ่งเป็นองค์กรที่ซ้ำซ้อนกับ ป.ป.ช. โดยเลือกคู่ขัดแย้งของผู้ถูกกล่าวหามาเป็นคณะทำงาน ทั้งนี้มีเจตนาเพื่อจัดการกับ นายกทักษิณ ชินวัตร และคณะโดยเฉพาะ”  

อนุดิษฐ์ ชี้ ‘ทักษิณ’ โดนฝ่ายตรงข้ามเจตนาจัดการ แนะ รัฐบาล ฟื้นหลักนิติธรรม

“จากนั้นมีการแก้ไขให้คดีอาญาบางประเภทไม่มีอายุความ และยังให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยได้ และล่าสุดคือ การแก้ไขหลักเกณฑ์การได้รับพระราชทานอภัยโทษอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้นักโทษอื่นๆได้รับความเดือดร้อนไปด้วย โดยมีเจตนาเพียงเพื่อไม่ให้นายกฯทักษิณกลับเข้ามาในประเทศ หรือ หากจะกลับก็ต้องยอมรับโทษตามคำพิพากษา จึงเชื่อได้ว่าการกลับมาของนายกฯ ทักษิณ เป็นการจำยอมถูกลงโทษเพื่อจะได้กลับเข้ามาอยู่กับครอบครัว มากกว่าเต็มใจยอมรับการลงโทษโดยดุษฎี” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว 

ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของหลายพรรคการเมือง ที่จะใช้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างความปรองดองให้กับสังคมไทย แต่เห็นเพิ่มเติมว่า การนิรโทษกรรมควรครอบคลุมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการทางกฎหมายที่มิได้อยู่บนหลักนิติธรรมด้วย 

ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรเร่งดำเนินการตามนโยบาย ด้วยการแก้ไขกระบวนการทางกฎหมายที่ตราขึ้นโดยขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรมอาญา พร้อมทั้งคืนความถูกต้องชอบธรรมให้กับฝ่ายที่ถูกจัดการด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อไม่ให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยกฏหมาย (Rule by Law) แต่ไม่ได้อยู่บนหลักนิติธรรม ( Rule of Law) ซึ่งขัดกับหลักการอำนวยความยุติธรรมสากลที่ทั่วโลกเขาใช้กัน