'นราพัฒน์' ไม่ถอยชิงหัวหน้าปชป. เรื่องดี'มาดามเดียร์' ลงแข่ง-พร้อมร่วมงาน

'นราพัฒน์' ไม่ถอยชิงหัวหน้าปชป. เรื่องดี'มาดามเดียร์' ลงแข่ง-พร้อมร่วมงาน

"นราพัฒน์" ยันไม่ถอย ชิง "หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" มองเรื่องดี"มาดามเดียร์" ลงแข่ง สะท้อนเป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ- หากชนะพร้อมดึงร่วมงาน

ความเคลื่อนไหวพรรคประชาธิปัตย์ หลังการเปิดตัวลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของ "มาดามเดียร์" น.ส.วทันยา บุนนาค  ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม.  

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากนายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ซึ่งเสนอตัวลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีที่น.ส.วทันยา  เปิดตัวชิงตำแหน่งว่า ว่าส่วนตัวยืนยันลงชิงหัวหน้าพรรคเช่นเดิม และเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่มีคนมาลงชิงหัวหน้าพรรค เพราะพรรคยืนยันว่าเป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ และเปิดโอกาสให้กับทุกคนอยู่แล้ว

ดังนั้นการที่น.ส.วทันยา ลงชิงหัวหน้าจะทำให้ภาพดีขึ้น เพราะเท่ากับว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการการเปลี่ยนแปลง และมีคนรุ่นใหม่ๆสนใจเข้ามาร่วมบริหารและปรับปรุงพรรค และผสมผสานกับคนรุ่นเดิมๆได้ จึงถือเป็นภาพที่ดีและเป็นจุดแข็งของพรรค ที่จะสามารถอธิบายกับพี่น้องประชาชน และสมาชิกพรรคได้ว่าพรรคจะกลับมาสร้างมนต์ขลังอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับข้อเสนอที่ให้ลดสัดส่วนองค์ประชุมส.ส.ที่จะใช้ในการโหวต 70:30 นั้น นายนราพัฒน์ กล่าวว่าเรื่องนั้นถือว่าผ่านไปตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้วว่าการกำหนดสัดส่วนองค์ประชุม 70 ต่อ 30 ซึ่งถูกใช้มาทุกครั้ง หากจะมายกเว้นในครั้งนี้ก็จะดูว่า เหมือนการยกเว้นเฉพาะกิจแล้วเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบางกลุ่ม จึงเห็นว่าควรต้องเป็นไปตามครรลองเดิม และหากเสียงส่วนใหญ่คิดว่าน่าจะยกเลิก เป็น 40 หรือเท่าเทียมกันหมด ก็น่าจะเป็นการเลือกตั้งในครั้งหน้าคือครั้งถัดไป

เพราะเรายังมีเวลาในการที่จะปรับโครงสร้าง หรือแก้ไขข้อบังคับ หรือเขียนกฎกติกาอะไรเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย

 

ก็ขอเป็นครั้งต่อๆไปที่จะทำ เพราะเรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาในการประชุมครั้งที่แล้วค่อนข้างมากว่าในอดีตที่เคยทำมาให้สัดส่วนในการโหวตสส. 70% แล้วเหตุใดครั้งนี้ส.ส.ที่ได้มา 30 กว่าคน ไม่มีความหมายหรืออย่างไรแล้วจะไปลดทอนสิทธิ์สส.เหล่านั้นเพื่ออะไร ในเมื่อการเลือกครั้งที่แล้วยังให้สิทธิ์สส. 70 ต่อ 30 แล้วเหตุใดครั้งนี้สส.ใหม่ไม่มีสิทธิ์ที่จะขับเคลื่อนพรรคตามที่พวกเขาต้องการหรือ

ดังนั้นจึงเห็นว่าหากจะปรับหรือแก้ไขก็สามารถทำได้แต่คงไม่ได้หมายความว่า มีกำหนดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคออกมาแล้วจะแก้กันเฉพาะกิจเฉพาะหน้า เพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตนคิดว่าไม่เหมาะสม

ภายหลังการเลือกหัวหน้าพรรคแล้ว ก็จะต้องมีคนที่แพ้แล้วออกไป แต่เห็นว่าหากเราคิดว่าเราเป็นประชาธิปไตยจริงและพรรคเป็นประชาธิปไตยจริง เราก็ควรต้องยอมรับเสียงข้างมาก ซึ่งหากตนชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค น.ส.วทันยาก็เป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในแผนที่ตนจะดึงมาร่วมงาน

ซึ่งถือเป็นงานที่น.ส.วทันยาถนัดอยู่แล้ว และหากน.ส.วทันยาชนะก็ขึ้นอยู่กับน.ส.วทันยาว่าจะใช้บริการตนหรือไม่ หรือจะมีทีมอย่างไรก็แล้วแต่ เพราะถือเป็นสิทธิ์และอำนาจของคนที่ได้รับฉันทามติจากสมาชิก

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าหลังการเลือกตั้งแล้วพรรคจะแตก นายนราพัฒน์ กล่าวว่า อะไรจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นได้ทุกอย่างแต่ถามว่าในนามของสมาชิกพรรคและอยู่กับพรรคมานาน ไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ตนจึงเรียกร้องมาตลอดว่าพรรคจะเดินหน้าได้ ต้องมีเอกภาพ เพราะฉะนั้นเราต้องมาร่วมกันสร้างเอกภาพ แพ้หรือชนะนั่นคือประชาธิปไตย เราก็ต้องมีวินัยและยอมรับมติ บางครั้งพวกเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับบางมติ แต่ก็ต้องมีวินัยและเคารพมติ แล้วพรรคจะเดินไปข้างหน้าได้จากนั้นก็สื่อสารให้กับพี่น้องประชาชนได้เข้าใจได้ แต่ถ้าต่างคนต่างคิดต่างทางก็ไม่มีความเป็นเอกภาพและสุดท้ายหลายคนก็ห่วงว่าพรรคจะไปไม่ได้และพรรคจะแตก ดังนั้นอยู่ที่พวกเราต้องช่วยกัน.