‘วทันยา’ ชี้ กระสุน-ประชานิยม บั่นทอน ’ประชาธิปไตย‘

‘วทันยา’ ชี้ กระสุน-ประชานิยม บั่นทอน ’ประชาธิปไตย‘

"วทันยา“ ร่วมเวที ”ถอดรหัสประเทศไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต“ แนะ เลิกวิธีคิดผิดๆ นักการเมืองเลว ต้องแก้ด้วยรัฐประหาร ชี้ “กระสุน-ประชานิยม” บั่นทอน ประชาธิปไตย ยัน ปชป. ไม่มีเจ้าของ

น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเวที “ถอดรหัสประเทศไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ซึ่งจัดโดยชมรมนิสิตเก่ารุ่นเยาว์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกล่าวว่า เราต้องเรียนรู้กับบทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีต และไม่ทำให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งมองว่าทุกเหตุการณ์ทางการเมืองล้วนมีความสำคัญ จะมากหรือน้อยอย่างไรก็จะทำให้เกิดพลวัตขับเคลื่อนสังคมและนำมาสู่เหตุการณ์สำคัญครั้งอื่นถัดมา โดยเฉพาะเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ที่เป็นการประท้วงที่มาจากภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เป็นนิสิต นักศึกษา ที่แสดงให้เห็นถึงเป็นพลังบริสุทธิ์ ที่ไม่ยอมรับกับกระบวนการรัฐประหาร ความไม่เป็นธรรมในสังคม ความไม่ถูกต้อง และจะเห็นว่าหลังเหตุการณ์นี้ จะมีการชุมนุมประท้วงของภาคประชาชนในครั้งถัดมา โดยเฉพาะภายหลังมีการรัฐประหาร คิดว่าเป็นเหมือนเหตุการณ์จุดเปลี่ยนและเป็นเหตุการณ์ตัวอย่างที่สำคัญ

น.ส.วทันยา กล่าวว่า ตนอยากชวนทุกคนคิดร่วมกันว่า สุดท้ายแล้วทำไมการเมืองไทย ยังวนเวียนอยู่ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและการรัฐประหาร เราต้องเลิกมีความคิดผิดๆที่ว่า เมื่อนักการเมืองเลว แล้วต้องแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหาร เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง เพราะผลการเลือกตั้งถือเป็นบทเรียนที่ดีที่สุดของนักการเมือง ส่วนการเมืองอนาคตจะทำอย่างไรให้สามารถยึดโยงกับประชาชนนั้น การเลือกตั้งเมื่อผ่านระบบพรรคการเมือง ก็จะมีการยึดโยงกับประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่คำถามคือ จะยึดโยงกับประชาชนอย่างไรมากกว่า 

น.ส.วทันยา กล่าวว่า ขอตั้งคำถามว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าระหว่างกระสุนกับกระแสจะแข่งกันตรงไหน แล้วใครจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งกระสุนนั้นมีทั้งกระสุนทางตรงในรูปแบบของเม็ดเงิน และกระสุนผ่านนโยบายที่เป็นประชานิยมที่สัญญาว่าจะให้ เพราะเป็นสิ่งที่บั่นทอนระบบประชาธิปไตยแทนที่จะพัฒนาและก้าวไปข้างหน้า 

น.ส.วทันยา กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันว่า แน่นอนวันนี้เรายังไม่มีหัวหน้าพรรค และในฐานะสมาชิกคนหนึ่งก็ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเครื่องตอกย้ำและสะท้อนให้เห็นว่าเราเป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของจริงๆ จะเห็นว่าการเลือกตั้งหัวหน้าพรรควันนี้ มีความเห็นต่างในเรื่องความคิดในพรรค แต่นั่นก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เราเป็นเพียงพรรคการเมืองเดียวจริงๆ ที่เมื่อใครเห็นต่าง ก็มีสิทธิ์ในการแสดงออกการเห็นต่างด้วยวิธีการต่างๆ เพราะถ้าพรรคมีเจ้าของ แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นเวลาเรามององค์กรธุรกิจ ที่มีเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นระบบกงสี บริษัทจำกัด มีผู้ถือหุ้นที่ชัดเจน แปลว่าเรามีเจ้านาย ถ้าเจ้านายสั่งอะไรในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา เราอาจจะให้ความเห็นได้บ้าง แต่สุดท้ายเราก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ถ้าจะเห็นต่างจริงๆ ยอมรับไม่ได้ นั่นแปลว่ามีอยู่ 2 ทาง คือ ไม่ลาออกเอง ก็คือถูกบริษัทเชิญออก

น.ส.วทันยา กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ พอเราไม่มีระบบนี้ คนทุกคนคือเราทำงานในฐานะเพื่อนสมาชิกที่ทำงานร่วมกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน แต่แน่นอนว่าในการทำงานคนหมู่มากมันก็จะต้องมีคนที่เป็นหัวหน้า ในการที่จะนำกลุ่มคนหรือสมาชิกในการขับเคลื่อน แต่ทั้งหมดเราทำงานในฐานะเพื่อสมาชิกด้วยกัน ไม่ได้มีเจ้านายที่จะมากดปุ่มสั่งการ อันนี้คือสิ่งสำคัญที่เป็นเหมือนกลไกในการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรมที่เกิดขึ้น แต่การเลือกตั้งของเราคือสมาชิกทุกคนเป็นความศักดิ์สิทธิ์ มันเกิดระบบการแข่งขันขึ้นอย่างจริงจัง เป็นสิ่งสำคัญที่พรรคปราธิปัตย์มี เพราะจริงๆ แล้วเจตนารมณ์ในการจัดตั้งพรรคการเมืองในระบบการเมือง คือ การเป็นองค์กรที่ให้คนที่มีแนวคิด อุดมการณ์ความคิดทางการเมืองเดียวกัน เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการเมือง แต่หลักประกันแรกที่ต้องมีคือ พรรคการเมืองนั้นต้องไม่มีเจ้าของ