'คำนูณ' ไม่เห็นด้วย แก้ พ.ร.บ.ประชามติ ปรับเงื่อนไข ม.13

'คำนูณ' ไม่เห็นด้วย แก้ พ.ร.บ.ประชามติ ปรับเงื่อนไข ม.13

"คำนูณ" โพสต์เฟซบุ๊ค ไม่เห็นด้วย แก้พ.ร.บ.ประชามติ ม.13 เงื่อนไขใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ชี้ขาด ผ่านประชามติ บอกไม่มีต้นแบบที่ชี้ว่าเป็นปัญหา

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คเพื่อแสดงความเห็นต่อแนวคิดการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 13 เพื่อปลดล็อกหลักเกณฑ์การผ่านประชามติที่กำหนดให้ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ในส่วนของผู้ออกมาใช้สิทธิและผลการออกเสียงเห็นชอบ ตอนหนึ่งว่าตนไม่เห็นด้วย  เพราะเงื่อนไขที่ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง  2 ชั้น และถูกมองว่ามีปัญหาว่าจะทำให้การทำประชามติเรื่องต่างๆ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่สำเร็จ ทั้งที่เกณฑ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้น จึงไม่มีตัวแบบใดๆให้พิจารณา

นายคำนูณ ระบุอีกว่าในขั้นตอนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเมื่อ 2 ปี เนื้อหามาตรา 13 แม้มีการอภิปรายแต่ไม่มีประเด็นใดขัดแย้ง ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ประชามมติ เสนอต่อรัฐสภา เมื่อ 4 พ.ย. 63  ผ่านวาระแรก วาระสอง และวาระสามด้วยเสียงท่วมท้น ไม่มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ  และมีผลบังคับใช้เมื่อ 15 ก.ย. 64  สุดท้ายต้องรอดูรัฐบาลจะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายประชามติหรือไม่ ถ้าเสนอ จะแก้อย่างไร ยกเลิกเงื่อนไขเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น ด้วยเหตุผลว่าอย่างไร

นายคำนูณ ระบุด้วยว่าการทำประชามติจะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะในกรณีที่มีความสำคัญมากเฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพราะเป็นการสอบถามประชาชนโดยตรง ให้ประชาชนร่วมในกระบวนการตัดสินใจโดยตรง ไม่ใช่เพียงแค่ให้ผู้แทนราษฏรตัดสินใจเท่านั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเสมือนเป็นการใช้ประชาธิปไตยทางตรงมาเสริมระบบประชาธิปไตยโดยผู้แทน โดยหลักการแล้วจึงจำเป็นต้องได้เสียงข้างมากจริง ๆ ของประชาชน

“รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 166 รวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 มีพัฒนาการและความก้าวหน้ามาก สำคัญที่สุดคือให้การประชามติมีผลผูกพันรัฐบาลที่จะต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่แค่ให้เป็นเสมือนการให้คำปรึกษาเหมือนที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เท่านั้น ต่อมาคือให้ที่มาของการริเริ่มทำประชามติกว้างขวางขึ้น รัฐสภาเสนอได้ ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอได้ โดยร่างกฎหมายประชามติ คณะรัฐมนตรีเสนอต่อรัฐสภาฐานะร่างกฎหมายปฏิรูปประเทศ ต้องใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณา” นายคำนูณ ระบุ.