'ธนาธร' ชูวิชั่นเปลี่ยนไทย 5 ด้าน ยกระดับคุณภาพชีวิต ใช้เงินไม่ถึง 5 แสนล.

'ธนาธร' ชูวิชั่นเปลี่ยนไทย 5 ด้าน ยกระดับคุณภาพชีวิต ใช้เงินไม่ถึง 5 แสนล.

'ธนาธร' บรรยายสาธารณะ ไทยได้อะไรหากใช้ 5 แสนล้าน โชว์วิสัยทัศน์ เปลี่ยนประเทศ 5 ด้าน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ทำประปา-อัพเกรดโรงเรียนและอาชีวะ-รถเมล์อีวี-จัดการขยะ-เทเลเมดิซีน ทยอยทำ 8 ปี ใช้เงินไม่ถึง 5 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดบรรยายสาธารณะในหัวข้อ “ประเทศไทยควรได้อะไร หากต้องใช้ 5 แสนล้าน” เพื่อเสนอแนะแนวทางการใช้งบประมาณของประเทศอย่างคุ้มค่า สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมๆ กัน

โดยนายธนาธร กล่าวว่า หากดูจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตทุกปี แต่โตในอัตราต่ำ โตช้ากว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน รวมถึงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นทุกปี หากเราจะต้องใช้เงิน 5 แสนล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การอัดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภค จะไม่สามารถดันเศรษฐกิจให้โตขึ้นได้อย่างยั่งยืน แต่จำเป็นต้องสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยธนาธรเสนอว่าหากมีเงิน 5 แสนล้าน สิ่งที่ควรจะทำก็คือการกระจายเงินไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 ด้าน นอกเหนือจากงบประมาณประจำที่รัฐต้องจ่ายอยู่แล้ว โดย 5 ด้านที่ว่านี้ ได้แก่ การสาธารณสุข การคมนาคม น้ำประปาดื่มได้ การจัดการขยะ และการศึกษา

  • สร้างระบบแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ทั่วประเทศ 60,900 ล้านบาท
  • รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด 88,000 ล้านบาท 
  • น้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ 67,000 ล้านบาท 
  • ลงทุนเพิ่มศักยภาพโรงเรียน 121,000 ล้านบาท 
  • จัดการขยะอย่างถูกสุขลักษณะทั่วประเทศ 120,000 ล้านบาท 

รวม 456,900 ล้านบาท 

\'ธนาธร\' ชูวิชั่นเปลี่ยนไทย 5 ด้าน ยกระดับคุณภาพชีวิต ใช้เงินไม่ถึง 5 แสนล.

ในด้านการสาธารณสุข นายธนาธร กล่าวว่า การทำเทเลเมดิซีน หรือการแพทย์ทางไกล (telemedicine) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ ไม่ต้องรอคิวตรวจที่โรงพยาบาลนานหลายชั่วโมง โดยมีเครื่องตรวจวัดความดัน ค่าน้ำตาลในเลือด สัญญาณชีพต่างๆ ในทุกหมู่บ้าน เก็บขึ้นคลาวด์อย่างเป็นระบบ สามารถพบแพทย์ได้ผ่านหน้าจอ หากอาการป่วยไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เทเลเมดิซีนไม่เพียงทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย ประหยัดค่าใข้จ่ายและเวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาล แต่ยังจะทำให้ไทยมีระบบจัดเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่สามารถใช้คาดการณ์งบประมาณด้านสาธารณสุข และเตรียมบุคลากรการแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ธนาธรระบุว่าคณะก้าวหน้าได้ทำเทเลเมดิซีนสำเร็จใช้งานจริงแล้วที่เทศบาลตำบลหนองแคน โดยประชาชนเข้ารับการตรวจได้ที่เครื่องเทเลเมดิซีนทุกหมู่บ้าน โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งสิ่งนี้สามารถเกิดได้ทั่วประเทศ มีเครื่องเทเลเมดิซีนทุกหมู่บ้าน โดยใช้งบเพียง 60,900 ล้านบาท

ในด้านคมนาคม นายธนาธร กล่าวว่า ควรมีการจัดทำบริการรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์การลดฝุ่นละออง PM2.5 ลดการใช้พลังงานฟอสซิล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใข้พลังงานโดยประชาชนจะใช้รถส่วนตัวน้อยลง ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การทำงาน การประกอบธุรกิจของประชาชนครั้งใหญ่ ที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างระบบอุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้า เพราะในอนาคตเทรนด์โลกคือการใช้รถไฟฟ้าอยู่แล้ว รถเมล์ในไทยจะถูกทยอยเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด หากเราไม่พัฒนาอุตสาหกรรมไว้รองรับ สุดท้ายก็จะต้องซื้อจากจีน แทนที่จะสร้างงานและอุตสาหกรรมให้กับคนไทย โดยการทำรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด จะใช้งบประมาณ 88,000 ล้านบาท 

\'ธนาธร\' ชูวิชั่นเปลี่ยนไทย 5 ด้าน ยกระดับคุณภาพชีวิต ใช้เงินไม่ถึง 5 แสนล.

ในด้านการทำประปา นายธนาธร กล่าวว่า ประเทศที่เจริญแล้วล้วนมีน้ำประปาที่ดื่มได้ เพื่อลดรายจ่ายของประชาชน โดยจากข้อมูลของ Rocket Media Lab คนไทยต้องทำงานถึง 27 นาทีเพื่อซื้อน้ำกิน 1 วัน แต่คนฝรั่งเศสใช้เวลาเพียง 9 นาทีเท่านั้นในการทำงานเพื่อให้ได้เงินมาซื้อน้ำกิน 1 วัน น้ำประปาอาจสามารถสามารถทำให้ดื่มได้ใน 99 วัน และยังมีการพัฒนาต่อยอดติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์ เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำ และออกบิลค่าน้ำอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้คนเดินจดมิเตอร์ สิ่งนี้สามารถเกิดได้ทั่วประเทศ โดยใช้งบ 67,000 ล้านบาท ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงน้ำประปาสะอาดระดับดื่มได้ทั่วประเทศ และยังก่อเกิดอุตสาหกรรมชิปและสมาร์ทมิเตอร์อีกด้วย 

ส่วนด้านการจัดการขยะ นายธนาธร กล่าวว่า การจัดการขยะเป็นสิ่งที่เราลงทุนน้อยเกินไปมาก เมื่อเทียบกับการจัดการเมืองด้านอื่น ทำให้ขยะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในเทศบาลตำบลหนองพอก ร้อยเอ็ด คณะก้าวหน้าได้ทำให้เห็นแล้วว่า หากท้องถิ่นจริงจังในการแยกขยะเปียกจากขยะแห้งและขยะรีไซเคิล จะสามารถลดปริมาณขยะได้ทันทีอย่างน้อย 50% และสามารถฝังกลบหรือเผาขยะ และขายขยะต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น ธนาธรเสนอให้ใช้งบประมาณ 120,000 ล้าน เพื่อลงทุนซื้อรถขยะที่มีประสิทธิภาพ สร้างบ่อขยะและโรงเผาขยะที่สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐานสากล ไม่ปล่อยมลภาวะหรือสารพิษปนเปื้อน โดยการลงทุนขนาดใหญ่หลักแสนล้าน จะสามารถสร้างบ่อขยะและโรงขยะที่ดีเทียบเท่าญี่ปุ่นหรือเดนมาร์ก ที่มีระบบการจัดการขยะดีที่สุดในโลก และคณะก้าวหน้าได้เคยไปดูงานมาแล้ว โดยการสร้างโรงขยะจะต้องไม่เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของนายทุนหรือนักการเมือง แต่ต้องดึงต่างชาติอย่างญี่ปุ่นหรือกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียมาร่วมทุนในการสร้าง และไทยเรียนรู้เทคโนโลยีจากประเทศเหล่านี้ เพื่อนำมาต่อยอดสร้างโรงขยะที่ปลอดภัยเองในอนาคต 

นายธนาธร กล่าวถึงด้านการศึกษาว่า การลงทุนในการศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็นและคุ้มค่าอย่างสูงสุด เพราะในยุคเทคโนโลยีดิสรัปต์ คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนทักษะของอนาคต เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้รอดจากภาวะ AI และระบบ automation เข้ามาแทนที่มนุษย์ ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับอาชีวะศึกษาน้อยเกินไป เพราะมัวแต่คิดว่าเด็กอาชีวะต้องตีกัน ทั้งที่ในประเทศพัฒนาแล้ว ทักษะและวิชาชีพช่าง เป็นสิ่งที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีอย่างสูงและได้รับการสนับสนุนอย่างมากโดยรัฐ เราสามารถเพิ่มการลงทุนในโรงเรียนและอาชีวะศึกษาได้ โดยอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อปรับปรุงอาคารสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย ให้กับโรงเรียน แห่งละ 500,000 - 3 ล้านบาท ตามขนาดของโรงเรียน และสถานศึกษาระดับอาชีวะ แห่งละ 20 ล้านบาททุกแห่งทั่วประเทศ รวม 121,000 ล้านบาท

"ทั้งหมดนี้รัฐสามารถเลือกได้ว่ารัฐจะทำเอง หรือให้เอกชนเข้ามาทำ ทำให้งบประมาณ 456,000 ล้านบาทในการยกระดับประเทศ 5 ด้าน อาจน้อยกว่านี้ เพราะตัวเลข 456,000 ล้าน หมายถึงรัฐลงทุนทำเอง 100% แต่รัฐสามารถใช้บริการเอกชน ดึงเอกชนมาร่วมลงทุน ก็จะลดค่าใข้จ่ายของรัฐลงไป แต่ยืนยันว่าในการลงทุนร่วมกับเอกชน จะต้องไม่เป็นช่องทางให้เอกชนเข้ามาแสวงหาสัมปทาน เอากำไรเกินควรบนผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ แต่รัฐต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของการจัดงบประมาณที่สมเหตุผล และได้คุณภาพบริการสาธารณะที่ดีสำหรับประชาชน" นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยวันนี้ไม่มีวันก้าวไปข้างหน้าเป็นประเทศที่เจริญได้โดยปราศจากเทคโนโลยี การใช้งบประมาณที่คุ้มค่าสูงสุด จึงเป็นการเอาปัญหาของประชาชนมาแปรเป็นโจทย์ที่รัฐต้องแก้ เป็นความต้องการที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงานที่มีคุณภาพ และสร้างเทคโนโลยีที่เราเป็นเจ้าของเอง ซึ่งการทำประปาดื่มได้ ทำรถเมล์อีวี ทำโรงขยะที่มีมาตรฐาน ล้วนแล้วแต่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศไทย

นายธนาธร กล่าวสรุปตอนท้ายว่า การใช้เงินเกือบ 5 แสนล้านพัฒนาประเทศ 5 ด้านนี้ หากไม่ใช้เงินกู้ 5 แสนล้าน แต่ใช้งบประมาณแผ่นดินปกติ ทยอยทำ 8 ปี ก็จะตกปีละ 60,000 ล้าน ซึ่งตนเชื่อว่าสามารถหาได้โดยไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม เพราะแต่ละโครงการต้องค่อยๆ ทยอยทำอยู่แล้ว ไม่สามารถเกิดขึ้นทีเดียวภายใน 2-3 ปีได้ และถึงแม้ 5 แสนล้านจะเป็นจำนวนเงินที่มาก แต่ตนถือว่าคุ้มค่าอย่างยิ่งหากนำมาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ และยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทย เดินหน้าสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าและมีรายได้สูง ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาอีกต่อไป