‘ความมั่นคง’ไร้จุดรวมศูนย์ จุดบอด 'รัฐบาลเพื่อไทย'

‘ความมั่นคง’ไร้จุดรวมศูนย์ จุดบอด 'รัฐบาลเพื่อไทย'

งานความมั่นคง ต้องมีการบูรณาการ ทั้ง ตำรวจ-ทหาร-หน่วยงานเกี่ยวข้อง แต่ "รัฐบาล" ขาดรองนายกฯด้านความมั่นคง ส่วน เก้าอี้เลขาฯ สมช.ก็ยังว่าง

หน่วยงานความมั่นคงไทย” มีกลไกดูแลความเรียบร้อยภายในประเทศผ่าน 2 ช่องทาง หากเป็น “การก่อการร้าย” จะมีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้าย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ที่ต้องบูรณาการต้องทำงานกับต่างประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ก่อนประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีมีผู้ก่อการร้ายเข้ามาซุกซ่อนภายในประเทศ

แต่หากเป็น “อาชญากรรมข้ามชาติ” เช่น ทุนจีนสีเทา หรือการหลบหนีเข้ามาของแก๊งต่างๆ ในคราบนักท่องเที่ยวมาในประเทศไทย เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะประสานองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) หรือ “ตำรวจสากล” องค์กรระหว่างประเทศที่อำนวยความสะดวกในการร่วมมือกับตำรวจทั่วโลก และการควบคุมอาชญากรรม

ต้องยอมรับว่า"ปัญหาทุนจีนสีเทา" เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั่วโลกกำลังเผชิญ นำมาซึ่งการทำผิดกฎหมาย ทัวร์ศูนย์เหรียญ ทุนจีนสีเทา แก๊งอุ้มบุญ แก๊งคอลเซนเตอร์ เรียกค่าไถ่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะประเทศไทยซึมลึกไปทุกหัวระแหง ทั้งการเมือง ข้าราชการ ธุรกิจ โดยใช้เครือข่าย-คอนเนกชัน ของผู้กว้างขวาง ปกป้องให้พ้นเงื้อมมือเจ้าหน้าที่รัฐ

ทุกรัฐบาลใช้ 2 กลไกนี้ แก้ไขปัญหา ปราบปราม ป้องกัน และยับยั้งทั้งก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่เว้นแม้แต่ยุค “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ช่วงทุนจีนสีเทาระบาดหนัก ตำรวจ มีกลไกหลักที่ถูกออกแบบไว้รองรับปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว ด้วยการประสานผ่านอินเตอร์โปล สถานทูตจีนในประเทศไทย คอยชี้เป้า ให้เบาะแส

แต่หากทำงานไม่แข็งขัน การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ มีทุจริตคอร์รัปชั่น เอื้อประโยชน์ รับสินบน ย่อมเป็นมูลเหตุให้กลุ่มทุนจีนสีเทาไร้ความยำเกรง นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่น 

นายกรัฐมนตรี” หรือ “รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง” มีหน้าที่ต้องเข้าไปขันน็อตเป็นกรณีไป

โดยจะมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ทำหน้าที่ชี้มูลเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งปวง อาจต้องแก้โครงสร้างการทำงาน ปรับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงาน รวมถึงนโยบายต่างๆ ต้องวิเคราะห์ให้เห็นภาพใหญ่ ก่อนเสนอรองนายกฯ หรือนายกรัฐมนตรี

หากยังจำกันได้ ปีที่แล้วสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ถูกล้างบางยกใหญ่ หลังพบว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสวนข้อเท็จจริง 110 ตำรวจ ตม.เพื่อเอาผิดตั้งแต่ระดับนายพลถึง ผบ.หมู่มาแล้ว

ในขณะที่การทำงานความมั่นคงของ “รัฐบาลเพื่อไทย” แม้จะมี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ และ รมว.คลัง คอยกำกับดูแล ซึ่งต้องยอมรับว่านายกฯ ไม่ได้คุ้นเคยงานด้านนี้มากนัก อีกทั้งงานไม่ได้รวมศูนย์ไว้ที่นายกฯ หรือ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ที่ต้องกลั่นกรองเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน การแบ่งงานจึงอยู่ในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ

ไม่ต่างกับกรณีการนำตำรวจจีนเข้ามาลาดตระเวนร่วมกับตำรวจไทย เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวจีน ที่เป็นประเด็นอยู่ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน หรือมีแนวคิดจะดำเนินการรูปแบบเดียวกับที่พัทยา จ.ชลบุรี ที่มีเจ้าหน้าที่รัสเซีย คอยดูแลนักท่องเที่ยวรัสเซีย

หรือจัดเป็นรูปแบบใหม่ ดูแลนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายกลุ่มจีนสีเทา ก็ต้องมีการประสานกรอบการทำงานให้ชัดเจน สิ่งใดทำได้ หรือไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องผ่านรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ที่สามารถกำกับดูแล “ตำรวจ-ทหาร” บูรณาการหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆได้

นอกจากนักท่องเที่ยวจีนแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ที่ต้องมีมาตรการดูแลด้วยหรือไม่ ก็ต้องประสานกัน ทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจสันติบาล ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว หารือร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนออกมาเป็นข้อเสนอ

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ประเด็นนำเข้าตำรวจจีนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ “รัฐบาลเพื่อไทย” ก็ถูกวิจารณ์ขรม การบริหารจัดการที่ล่าช้า กรณีอพยพแรงงานไทยในอิสราเอล และการช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป ทำให้กองทัพซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะไร้ผู้มีอำนาจเด็ดขาดสั่งการลงมา

ส่วนเก้าอี้ “เลขาฯสมช.” คนใหม่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านความมั่นคง และข่าวกรองของไทยที่นายกฯ และคณะรัฐมนตรี ใช้ในการประสานงานด้านความมั่นคง และการป้องกันประเทศก็ยังว่างอยู่ทุกวันนี้

ดังนั้นคงถึงเวลาที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” ควรให้ความสำคัญ มองหาบุคคลมีความเชี่ยวชาญมานั่งเก้าอี้ “รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง” กำกับดูแล “ตำรวจ-ทหาร”บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดการรวมศูนย์ เสริมจุดแข็ง อุดช่องโหว่ ไม่ให้เป็นจุดบอดของรัฐบาล ส่งผลต่อการทำงาน และถูกวิพากษ์วิจารณ์เหมือนเช่นทุกวันนี้