'เกียรติ' จี้ รัฐบาลแจกให้ชัด ปม 'กู้แจกหมื่น' เหตุใดออกเป็น พ.ร.บ.งบไม่ได้

'เกียรติ' จี้ รัฐบาลแจกให้ชัด ปม 'กู้แจกหมื่น' เหตุใดออกเป็น พ.ร.บ.งบไม่ได้

“เกียรติ” ชี้ นายกฯ - ครม. ชี้แจง เงินดิจิทัลไปคนละทิศ กระทบความน่าเชื่อถือรัฐบาล จี้ ในสภาให้ชัด เหตุใดออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีไม่ได้ พร้อมฝาก กกต. ชัดเจน พรรคการเมืองทำนโยบายไม่ตรงที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ สิทธีอมร คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทั้งสิ่งที่เลขาธิการนายก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า หากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวิเล็ตไม่ผ่าน ยังไม่มีแผนสำรอง แต่นายกฯ เศรษฐาบอกว่า มีแผนสำรอง แต่ยังไม่บอก

เรื่องนี้สะท้อนว่าการให้ข้อมูลของนายกฯ และคนใน ครม. ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทำให้กระทบต่อความน่าเชื่อถือ และแม้ว่าวิธีออกกฎหมายจะเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุด แต่กฎหมายนั้นก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย ก็คือต้องเข้าข่ายกรณีจำเป็นเร่งด่วน เมื่อมีวิกฤติ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้อย่างชัดเจนใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องชี้แจงในสภาให้ชัดเจนว่าประเทศมีวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร และเหตุใดออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีไม่ได้ เพราะการจะออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้นั้น จะต้องพิจารณาในเงื่อนไขของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่ระบุไว้ชัดเจนเช่นกันว่า ต้องเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณประจำปีได้ และมาตรา 57 ซึ่งผูกโยงไปถึงมาตรา 53 และมาตรา 56 ที่ระบุว่าการกู้เงินนั้นจะทำได้เฉพาะ เพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หรือสังคมเท่านั้น

ดังนั้นการพิจารณา พ.ร.บ.เงินกู้ ดังกล่าวจะผ่านหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคำชี้แจงของรัฐบาล แต่จนถึงวันนี้ยังคงเป็นคำถามเดิม ที่มีตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว และรัฐบาลก็ยังมีคำตอบที่ไม่ชัดเจน

ที่สำคัญคือ เมื่อกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ กฤษฎีกาก็จะตีความเช่นเดียวกันว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องอธิบายถึงความคุ้มค่า  ความจำเป็นเร่งด่วน และชี้แจงว่าประเทศมีวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างไร ทั้งๆ ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้หยุดชะงัก ไม่ได้ติดลบ ตามการวิเคราะห์ของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศที่เห็นตรงกันว่าประเทศไทยไม่ได้กำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และจริงอยู่ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่ต้องโตด้วยการปรับโครงสร้าง ไม่ใช่โตด้วยการกระตุ้นให้ใช้เงิน และควรเริ่มจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ตั้งแต่ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ เพราะเห็นได้ชัดว่าขณะนี้เป็นโครงสร้างที่บิดเบือนมาก ทำให้ประชาชนต้องแบกภาระแต่ผู้ประกอบการบางรายได้กำไรเกินควร ซึ่งการปรับโครงสร้างพลังงานเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลย แต่ได้ผลทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 แสนล้าน

นอกจากนี้ นายเกียรติ ยังชี้ให้เห็นว่า นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงนั้น จะต้องมีการยื่นต่อ กกต. รวมถึงจะต้องระบุให้ชัดเจนถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในนโยบายที่ใช้หาเสียงด้วย แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำนั้นไม่ตรงกับสิ่งที่ได้ยื่นไว้ต่อ กกต. ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า เมื่อพรรคการเมืองใดมาเป็นรัฐบาลแล้วหากสามารถทำเช่นนี้ได้ ก็จะทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคหมดความน่าเชื่อถือ เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วสามารถทำในสิ่งที่ไม่ตรงกับที่เคยยื่นไว้ต่อ กกต. ได้ ไม่เป็นไร

เรื่องนี้ กกต. จึงควรต้องออกมาชี้แจงด้วยว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่า พอเป็นรัฐบาลก็จะเปลี่ยนเงื่อนไขอะไรก็ได้ อย่างนี้จะกระทบต่อความเชื่อถือของพรรคการเมืองอย่างมาก ทั้งในและต่างประเทศ