APEC 2023 : เซลส์แมน #1 ของไทยจะไปซานฟรานซิสโก 

APEC 2023 : เซลส์แมน #1 ของไทยจะไปซานฟรานซิสโก 

นายกเศรษฐาจะมีโอกาสได้แสดงฝีมือในการประชุมสุดยอดบนเวที APEC ระหว่างวันที่ 11 ถึง 17 พฤศจิกายนนี้ ประกาศให้โลกรู้ว่าประเทศไทยเปิดแล้ว และครั้งนี้มีความพิเศษที่เจ้าภาพคือสหรัฐอเมริกา

APEC คืออะไร 

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) คือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก* 

สมาชิกของ APEC ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง** อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน*** ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

 

* สังเกตการใช้คำว่า "เขตเศรษฐกิจ" และไม่ใช้คำว่าประเทศ เนื่องจากมีฮ่องกงและไต้หวันเข้ามาเกี่ยวข้อง

** ฮ่องกงปกครองโดยจีน 

*** ไต้หวันปกครองตนเอง แต่จีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน 

ประเด็นหลักและเป้าหมายของการประชุมครั้งนี้คืออะไร

เจ้าภาพเป็นผู้มีสิทธิ์ในการกำหนดหัวข้อหลัก การประชุมใหญ่ประจำปีครั้งนี้จัดขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เจ้าภาพจึงเลือกหัวข้อ "สร้างอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นสำหรับทุกคน"

หมายถึงเป้าหมายสำหรับภูมิภาคที่ "เชื่อมโยงถึงกัน นวัตกรรม และครอบคลุม" และ "เพื่อพัฒนาวาระนโยบายเศรษฐกิจที่เสรี ยุติธรรม และเปิดกว้างที่ เป็นประโยชน์ต่อคนงาน ธุรกิจ และประชาชน"

สหรัฐตั้งเป้าหมายให้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ถ้อยแถลงรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี 2566 และ 2. ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ "Golden Gate Declaration" โดยมีประเด็นการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการสานต่อการทำงานและผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยเมื่อปี 2565 เช่น การขับเคลื่อนนโยบายทางการค้าที่ครอบคลุมและยั่งยืน การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีกับการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) และการค้ากับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

จับตามองเป็นพิเศษว่าสหรัฐกำลังจะชู "กรอบเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (IPEF) 14 ชาติที่จัดทำขึ้น เพื่อเป็นการกดดันและต่อรองกับการขยายอิทธิพลของจีน

ไฮไลท์ปีนี้คือเป้าสายตาของทุกคนจับจ้องบทบาทของประธานาธิบดีสหรัฐและจีน 

ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะเดินทางมาประชุมด้วยตนเอง แม้ว่าทางการจีนยังไม่ยืนยันแต่มีการขายบัตรรับฟังปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ วันที่ 15 พฤศจิกายนในราคา 2,000 เหรียญ ซึ่งผู้จัดงานเผยว่าจะเป็นปาฐกถาครั้งสำคัญมาก 

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไม่ไปร่วมประชุมโดยตนเองในการประชุม G-20 ที่อินเดีย จึงทำให้การประชุมเอเปกที่สหรัฐครั้งนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากไม่เดินทางมาด้วยตนเอง ก็จะมีการตั้งข้อสงสัยว่าเศรษฐกิจจีนย่ำแย่และจีนอาจจะมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ประธานาธิบดีออกนอกประเทศไม่ได้ 

หากประธานาธิบดีสหรัฐและจีนได้พบกันในงานนี้จริง น่าจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจเปลี่ยนไปทางบวกมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดหลายแห่งทั่วโลกโดยเฉพาะสงครามใหญ่ในยูเครนและกาซ่ากำลังเป็นที่สร้างความวิตก ผู้นำของทั้งสองประเทศนี้จะสามารถร่วมมือกัน ส่งสัญญาณที่นำมาสู่การประนีประนอมได้

(ส่วนประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียคงไม่สามารถเดินทางมาประชุม APEC ได้ เนื่องจากมีหมายจับโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ รัสเซียจึงต้องส่งผู้อื่นมาแทน)

นายกเศรษฐา ตั้งไจจะทำอะไร 

นอกจากทำหน้าที่ตัวแทนของประเทศในการประชุมตามเป้าหมายของกลุ่มแล้ว นายกเศรษฐาประกาศว่าจะใช้โอกาสนี้ เป็นนักขายหมายเลขหนึ่ง ติดตามผลการประชุมกับนักลงทุนและบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งได้พบปะหารือและเชิญชวนให้ลงทุนในประเทศไทย หลังจากที่ได้เจรจาเบื้องต้นแล้วเมื่อเดือนกันยายนช่วงการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก 

แคลิฟอร์เนียเป็นศูนย์รวมของธุรกิจสำคัญระดับโลกหลายอย่าง ซึ่งหากวัดแคลิฟอร์เนียในฐานะเขตเศรษฐกิจ แล้วเทียบกับประเทศต่างๆ จะอยู่ในอันดับหกของโลก และซานฟรานซิสโกคือเมืองหลวงของเทคโนโลยีชั้นนำของโลกซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของสหรัฐ เข้าใจว่าจะมีการประกาศโดยทีมไทยแลนด์เรื่องความร่วมมืออย่างจริงจังกับไมโครซอฟท์, Google และอีกหลายบริษัท

นายกเศรษฐาเตรียมพบหารือกับผู้นำประเทศต่างๆหลายประเทศ รวมทั้งทวิภาคีกับผู้นำ 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้

สำหรับการหารือกับผู้นำประเทศต่างๆนายกรัฐมนตรีจะมุ่งไปที่ การค้า การลงทุน การยกระดับเขตการค้าเสรี (FTA) ความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยประเทศไทยจะเสนอโครงการลงทุนครั้งใหญ่ผ่านโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) 

เพื่อชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งรัฐบาลไทยจะผลักดัน และส่งเสริมให้มีการลงทุนให้เกิดขึ้นจริงเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าในภูมิภาคผ่านเส้นทางที่ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ในประเทศไทย

ปัจจัยที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 

1) สถานการณ์ระหว่างอิสราเอลกับกาซ่า

แม้ว่าจะมีการตกลงหยุดจริงชั่วคราววันละ 4 ชั่วโมงเพื่อมนุษยธรรม แต่ความเสียหายของทั้งสองฝ่ายยังรุนแรงมาก 

และไทยมีประเด็นใหญ่คือตัวประกันที่ยังไม่รู้ชะตากรรมประมาณ 23 คน หากมีข่าวดีว่าตัวประกันรับการปลดปล่อยบางคนหรือทั้งหมด การประชุมเอเปกก็จะน่าจะเป็นไปได้ตามเป้าหมาย แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางลบ เช่น มีอันตรายเกิดขึ้นกับตัวประกันชาวไทย หรือสงครามบานปลายเป็นระดับภูมิภาค การรุกเปิดประเทศไทยและโฆษณาเชิญชวนการลงทุนนั้น ก็อาจจะต้องปรับให้เหมาะกับกาลเทศะ 

2) สหรัฐอเมริกามีปัญหาเรื่องงบประมาณบริหารประเทศ

ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ พรรครีพับลิกันซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนสร้างเงื่อนไขกดดันทำเนียบขาวของพรรคเดโมแครต เงินงบประมาณจะหมดลงในวันที่ 17 พฤศจิกายน ช่วงนี้จึงเป็นการแสดงพลังทางการเมืองในสหรัฐ ขณะที่มีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือนเป็นจำนวนมาก 

ส่งกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ภาครัฐบาลและเอกชนประสบความสำเร็จที่มุ่งหวังไว้ในงานเอเปกครั้งนี้ และภาวนาให้ตัวประกันชาวไทยได้รับอิสรภาพ ให้ผู้ที่บาดเจ็บจากสงครามครั้งนี้ทุกคนฟื้นฟูโดยเร็ว และแรงงานไทยที่ยังเสี่ยงภัยสู้ชีวิตอยู่ในอิสราเอล ไม่ว่าจะโดยเหตุผลส่วนตัวอย่างไรก็ตาม อยู่รอดปลอดภัยทุกคนครับ