'กมธ.มั่นคง' จี้ ป.ป.ส.-ตร. ยึดมาตรฐาน-ทำคดี "อุปกิต" ช่วงปิดสมัยประชุม

'กมธ.มั่นคง' จี้ ป.ป.ส.-ตร. ยึดมาตรฐาน-ทำคดี "อุปกิต" ช่วงปิดสมัยประชุม

"รังสิมันต์" ถามความคืบหน้า คดี "สว.อุปกิต" พบ ป.ป.ส.จ่อสรุป สืบทรัพย์สิน สัปดาห์หน้า ด้าน "ตร." ยืนยันตั้งข้อหาผู้ต้องหาสมคบค้ายาแล้ว จี้ให้ยึดมาตรฐานทำคดีเร็ว ช่วงปิดสมัยประชุม

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป แถลงผลการประชุมต่อประเด็นปัญหายาเสพติดชายแดน ซึ่งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มหาดไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), กรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) , กรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ  ชี้แจง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งวางมาตรการและแนวทางแก้ปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดนในระดับโครงสร้างซึ่งเป็นต้อตอของปัญหาอื่นๆ เช่น ฟอกเงิน ค้ามนุษย์ บ่อนการพนันผิดกฎหมาย ทั้งนี้จากการฟังคำชี้แจงของหน่วยงานยังไม่พบแนวทางการแก้ปัญหา  รวมถึงมาตรการป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ ทั้งนี้ตนมองว่าในประเด็นที่เกี่ยวกับทุนจีนสีเทารัฐบาลควรพูดคุยกับทางการจีนเพื่อยกระดับการแก้ปัญหา รวมถึงมีมาตรการการบังคับใช้กฎหมายที่ใช้ได้จริง

\'กมธ.มั่นคง\' จี้ ป.ป.ส.-ตร. ยึดมาตรฐาน-ทำคดี \"อุปกิต\" ช่วงปิดสมัยประชุม

นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่าในการหารือประเด็นดังกล่าวได้สอบถามต่อการดำเนินคดีกับนายอุปกิต ปาจรียางกูร สว. ด้วย ซึ่งทาง ป.ป.ส. ให้ข้อเท็จจริงว่าอยู่ระหว่างการสืบทรัพย์ และทรัพย์สินของนายอุปกิตว่าได้มาจากการค้ายาเสพติดหรือไม่ เบื้องต้นคาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีความคืบหน้า ขณะที่ ปปง. ไม่ได้รายงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ตนมองว่า ทั้ง ป.ป.ส.และ ปปง.ต้องทำงานร่วมกัน โดยบังคับใช้กฎหมายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับคนที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง

“ในคดีของนายอุปกิตนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงในกมธ. ว่า ได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว และวันนี้ สว.อุปกิตถือเป็นผู้ต้องหาคดีสมคบค้ายา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบในชั้นกมธ.  ส่วนการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปนั้นต้องอยู่ที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยกมธ.ไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่เท่าที่ผมทราบส่วนตัวทราบว่า อัยการเตรียมสั่งฟ้องในต้นเดือนธันวาคมนี้” นายรังสิมันต์ กล่าว

เมื่อถามว่าหากการสั่งฟ้องเกิดขึ้นเดือนธันวาคม กังวลว่าเขาจะใช้เอกสิทธิคุ้มครองต่อหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การขอเอกสิทธิคุ้มครองนั้นอาจจะเป็นไปได้ แต่ตนมองว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่คงรู้ว่าสมัยประชุมสภาฯ จะเปิดในวันที่ 12 ธันวาคม ดังนั้นจะใช้อำนาจหน้าที่แบบใด และหากเป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องรอให้พ้น 120 วันถึงจะดำเนินคดีได้อีก ตนหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามสิ่งที่ควรจะเป็นและตามมาตรฐานที่ใช้กับผู้ต้องหารายอื่นที่ไม่มีสถานะเป็นนักการเมือง

เมื่อถามถึงกรณีที่นายอุปกิตฟ้องหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายเพิ่ม 20ล้านบาท นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ส่วนตัวติดใจในประเด็นที่ขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ตนพูดเรื่องดังกล่าวอีก แต่ขณะนี้ศาลยังไม่มีคำสั่งใด ตนมองว่ากรณีที่ตนทำตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ไว้ คือ การติดตาม และตรวจสอบ หากถูกสั่งให้หยุดพูดเท่ากับเป็นการปิดปาก และคนที่สั่งอาจจะมีภาระทางกฎหมายตามมา อีกทั้งในกรณีที่ตนติดตามขณะนี้พบว่ามีคนที่ช่วยนายอุปกิต ทั้งระดับผู้พิพากษา พบผลการตรวจสอบว่าผิดวินัยร้ายแรง ขณะที่อดีต ผบ.ตร. ชื่อย่อ “ป.” ยังเป็นตำรวจ 1 ใน 12 นาย ที่อาจถูกชี้มมูล.