1 นายกฯ '3 ผู้มากบารมี' การเมืองใต้เงา 'ชินวัตร'

1 นายกฯ '3 ผู้มากบารมี' การเมืองใต้เงา 'ชินวัตร'

ปรากฏการณ์ 3 เหตุการณ์ กับ ผู้มากบารมี 3 คน ทำเอาคอการเมือง หันขวับมาจับจ้องทันควัน หรือว่า นี่คือ การแสดงให้เห็นอะไรบางอย่างเกิดขึ้นแล้วในการเมืองไทย

ปรากฏการณ์แรก : ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลฯตัดสินจำคุก 3 คดี 8 ปีและขอพระราชทานอภัยโทษ ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี แต่ติดคุกจริงอยู่ในเรือนจำไม่ถึง 1 วัน โดยยังคงรักษาอาการป่วยอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจนัยว่า เป็นชั้น“ผู้ป่วย วีไอพี” ซึ่งถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย ถึงความ “เท่าเทียม” ความเป็นธรรมกับนักโทษคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักโทษที่ป่วยหนักไม่แพ้กัน หรือ อาจมากกว่าด้วยซ้ำ

และเริ่มมีแรงกดดันจากกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ทำกิจกรรม “ใส่รองเท้าผ้าใบถุงเท้าหลากสี ไปทำเนียบ เศรษฐาอย่าลอยตัว นำทักษิณกลับเรือนจำ” ที่ บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง สั่งการให้นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับไปควบคุมตัวที่เรือนจำ

ทั้งนี้ นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. ปราศรัยว่า ไม่เชื่อว่า นายทักษิณ มีอาการป่วยจริง หากมีอาการป่วยหรือบาดเจ็บจริง ขอให้รักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เหมือนผู้ต้องขังรายอื่น ตอนนี้สังคมยังตั้งคำถามว่า วันนี้นายเศรษฐา เป็นนอมินีของระบอบทักษิณ มีอำนาจในการตัดสินใจจริงหรือไม่ เพราะเป็นนายกฯมือสาม มือหนึ่งคือนายทักษิณ ที่นอนพักรักษาตัวอยู่ที่ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งถือเป็นนายกฯตัวจริงสั่งการจากชั้น 14 คนที่สอง คือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเป็นแคนดิเดตนายกฯอีกคนของพรรค

“ที่นายเศรษฐาต้องก้มหัวให้เพื่อไปจุมพิตมือ เหมือนบ่าวจูบนาย ส่วนนายเศรษฐาแม้จะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ แต่ก็เป็นนายกฯมือสาม ไม่กล้าตัดสินใจอะไร แต่ในฐานะที่นั่งอยู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ต้องสั่งการให้นำตัวนายทักษิณกลับเข้าเรือนจำอย่างเร่งด่วน”

ย้อนกลับไปกว่า 2 เดือน หลังจาก “ทักษิณ” ประกาศเดินทางกลับไทยหลายครั้ง และล่าสุด ประกาศจริงจัง โดยพร้อมเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ก่อนเดินทางกลับในวันที่ 22 ส.ค.2566 วันเดียวกับที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ผ่านการโหวตของรัฐสภา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

จากนั้น “ทักษิณ” ถูกคุมตัวไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสนามหลวง เพื่อฟังคำพิพากษา จำคุกรวม 3 คดี 8 ปี และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที

ต่อมา ยังได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี

แต่ช่วงที่ “ทักษิณ” ถูกคุมตัวในเรือนจำวันแรกนั้น อยู่ได้ไม่ถึง 1 วันเต็ม เพราะกลางดึกระหว่างคืนวันที่ 22 ส.ค.เขาถูกส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ด้วยสารพัดโรคที่อาการกำเริบ ก่อนถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาลตำรวจในคืนวันเดียวกัน

ท่ามกลางกระแสวิจารณ์เรื่อง “ความเท่าเทียม” ในการรักษาตัวผู้ต้องโทษ ที่มีหลายคนอาการหนักกว่านี้ แต่กลับให้กินแค่ยา หรือรักษาภายในโรงพยาบาลราชทัณฑ์เท่านั้น?

แม้แต่ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถูกจำคุกคดีทุจริตการเลือกตั้ง ยังเคลื่อนไหวผ่าน “น้องชาย” ตั้งคำถามถึงประเด็นนี้ เพราะตัวเองก็ป่วยเหมือนกัน

กระแสข่าวเลยเถิดไปถึงว่าบรรดา “บิ๊กเนม” ทางการเมืองบางคนต่อสาย บางคนเข้าพบ “นายใหญ่” เพื่อคอนโทรลเกมทางการเมืองได้

ขณะเดียวกัน ทายาทตระกูลชินวัตร และกรมราชทัณฑ์ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ มีแค่ทนายความและเครือญาติใกล้ชิดเท่านั้นที่ได้เข้าพบ และต้องทำหนังสือขออนุญาตกรมราชทัณฑ์ก่อน

ถัดมาราว 1 เดือนเศษ มีการปล่อยภาพ “ทักษิณ” ป่วยหนักนอนอยู่บนเตียงของโรงพยาบาล และมีพยาบาลช่วยกันเข็นเตียง ท่ามกลางกระแสวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการจงใจปล่อยออกมา เพื่อเล่นละครให้เห็นว่า ป่วยหนักจริง? 

จนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องออกมาชี้แจงด่วนว่า “ทักษิณ” ป่วยจริง และภาพที่หลุดออกมา คือการเข็นไปสแกน MRI ที่โรงพยาบาลตำรวจ

นอกจากนี้ หลัง “ทักษิณ” อยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจนานกว่า 60 วัน จึงถูก นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน และ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ

“หมอวรงค์” มือปราบจำนำข้าว ชี้ประเด็น อย่างน่าสนใจว่า จุดนี้เป็นจุดตายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เรื่องความเท่าเทียมที่พยายามพูดถึงหลักนิติรัฐ นิติธรรม เลยทีเดียว

และเห็นว่า การส่ง “ทักษิณ” ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเรื่องตบตาประชาชนและอาจมีคอนเนกชั่นบางอย่างกับกรมราชทัณฑ์

ขณะนายศรีสุวรรณ เห็นว่า การปล่อยภาพ “ทักษิณ” หลุดออกมา เป็นการละคร พร้อมขอให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาสอบสวนเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ “ศรีสุวรรณ” ยังร้องเรียนต่อแพทยสภา ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ด้วย

ประเด็นสำคัญ ของการร้องเรียนคือ การกล่าวหาว่า กรมราชทัณฑ์ และแพทย์ที่โรงพยาบาลตำรวจ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นคดีอาญา มีโทษถึงจำคุก

โดยทั้ง “ศรีสุวรรณ” และ “หมอวรงค์” เห็นตรงกันว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการ“เลือกปฏิบัติ” กับ “ทักษิณ” และผู้ต้องขังรายอื่นๆ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น หาก “ทักษิณ” ได้รับการพักโทษ หรือ “พ้นโทษ” โอกาสที่จะเข้าไปมีบทบาทกุมบังเหียน รัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ผ่าน “อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา” ก็มีความเป็นไปได้สูง

เหนืออื่นใด การที่กรมราชทัณฑ์ และ โรงพยาบาลตำรวจไม่กล้าตัดสินใจส่ง “ทักษิณ” กลับเรือนจำ ย่อมสะท้อนถึง “บารมี” ที่ไม่ธรรมดาอีกด้วย

ปรากฏการณ์ที่สอง : กรณีนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี โค้งหัวอย่างนอบน้อม พร้อมจุมพิตที่มือ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ จนนำมาสู่กระแสวิพากษ์ต่างๆนานา โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงการก้มหัวอยู่ใต้อำนาจบารมีหรือไม่?

แถม “เศรษฐา” ยังพูดติดตลกกับนักข่าวว่ามีนายกฯสองคน แต่กระแสสังคมดูเหมือนไม่ตลกด้วย เพราะอยากเห็นนายกฯมีอิสระในการบริหารประเทศ

จน “เศรษฐา” ต้องออกมาชี้แจงว่า จริงๆแล้วความสัมพันธ์ระหว่างตนกับ น.ส.แพทองธาร เรามีกันมานานในฐานะพี่น้อง น.ส.แพทองธาร เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ตนก็เป็นที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และเราเองก็ต่อสู้ด้วยกันมา

ร่วมทุกข์ร่วมสุขหาเสียงกันมา เรามีความรัก เรามีความเมตตา เรามีความเอ็นดู และเราก็มีความเป็นห่วงซึ่งกันและกัน มันเป็นการแสดงออกของคนสองคนที่เรามีความเป็นห่วงและเคารพซึ่งกันและกันอยู่แล้ว และงานวันนั้นตนก็ไปในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย เราอยู่ในสถานะครอบครัว ท่าน ส.ส. และรัฐมนตรีในวันนั้นก็ถอดหมวก ถอดหัวโขนออกไป เพราะเราเป็นครอบครัวเดียวกัน พร้อมยืนยันว่า ไม่มีสิ่งใดและไม่เป็นนัยยะว่าท่านมาครอบงำ หรืออะไรทั้งสิ้น ซึ่งไปถาม น.ส.แพทองธาร ดูแล้วกัน ตนก็ระมัดระวัง

“เราเข้าใจกันดีไม่มีปัญหาอะไร ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนเดียว”

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็น ก็คือ “บารมี” ที่ฉายส่องออกมาอย่างจัดจ้าของ “อุ๊งอิ๊ง”น.ส.แพทองธาร  ชินวัตร จนแม้แต่ “เศรษฐา” ยังอวย อย่างออกนอกหน้าว่าเป็น “นายกรัฐมนตรี” ได้  

ปรากฏการณ์ที่สาม : ในกรณี “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยประเดิมควงคุณแม่ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ออกงานครั้งแรก หลังได้รับตำแหน่งใหม่ และมีช่วงหนึ่งที่ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้หมอบเข้ามาหาคุณหญิงพจมาน ที่นั่งอยู่บนโซฟา ด้วยการย่อตัวลงไปกล่าวสวัสดี พร้อมทักทายสั้นๆ ลุกขึ้นโค้งคำนับแล้วเดินจากไป

ภาพที่ปรากฏดังกล่าว ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงความเหมาะสม บ้างตั้งคำถามว่า นายตำรวจระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แสดงความนอบน้อมมากเกินพอดีไปหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม หากย้อนปูมหลังความสัมพันธ์ของทั้งคู่ พบว่า มีประวัติยาวนานหลายสิบปี เนื่องจาก พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ บิดาของคุณหญิงพจมาน เคยรับราชการอยู่ภาคใต้ และมีลูกน้องคนสนิทชื่อ ดาบไสว หักพาล ซึ่งก็คือบิดาของ “บิ๊กโจ๊ก”

ที่น่าสนใจ ช่วงพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เริ่มมีอำนาจ ก็เจอกระแสข่าวลือว่า เป็นเด็กใน “บ้านดามาพงศ์” จนทำให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกมาปฏิเสธ ระบุว่า พ่อของเขาขับรถให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มากว่า 20 คน รวมถึง พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ ที่ให้ความสนใจในความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชา ชักชวนไปทำงานในตำแหน่งอื่น หรือหน่วยอื่น แต่พ่อเขาไม่ไป

“คุณพ่อผมขับมา 20 ปีแล้ว ก็ยังอยู่ตำแหน่งเดิมที่สงขลา เพราะท่านต้องการอยู่ใกล้ครอบครัว เพราะหากไปอยู่ที่อื่นก็ต้องย้ายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ก็ทำให้พอต่อมา เมื่อผมมารับราชการตำรวจ ก็มีการจับโยงว่า คุณพ่อเคยขับรถให้ท่านผู้บัญชาการพล.ต.ท.เสมอ ผมก็ต้องเป็นเด็กในบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่ได้ไปใกล้ชิดขนาดนั้น”  พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลาง “บิ๊กโจ๊ก” ถูกมรสุมสกัด “ดาวรุ่ง”เล่นงาน เนื่องจากลูกน้องใกล้ชิด เข้าไปพัวพันกับกลุ่มทำผิดกฎหมาย จนนำมาสู่การถูกค้นบ้านพัก และเรื่องก็ยังคาราคาซังอยู่ในชั้นของการดำเนินคดีผู้ทำผิด

ขณะเดียวกัน ถ้าพูดถึง “คุณหญิงพจมาน” ในวันที่ก้าวออกมาเปิดหน้าทางการเมืองไม่ใช่ “นางพญาหลังม่าน” อีกต่อไป ย่อมทำให้เห็น “บารมี” ทางการเมือง ที่คนระดับรอง ผบ.ตร.จะต้องก้มหัวนอบน้อมเป็นธรรมดา

ยิ่งเมื่อไม่นานมานี้ นัยว่า “คุณหญิงพจมาน” มีบทบาทในการกำหนดชะตา “ทักษิณ” กลับหรือไม่กลับประเทศไทย มีบทบาทในการตัดสินใจให้ “อุ๊งอิ๊ง” เล่นการเมืองหรือไม่และแม้แต่ ตัดสินใจไม่ให้ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร เป็น“นายกรัฐมนตรี” เพราะยังไม่พร้อมหลายด้าน ส้มจึงหล่นมาที่ “เศรษฐา”

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นอย่างคมชัดของการเมืองไทย ว่า มี “หนึ่งนายกฯ และสามผู้มากบารมี” กุมบังเหียน ส่วนผลจะเป็นอย่างไร นับว่าน่าติดตามอย่างยิ่ง

อย่าลืม “บทเรียน” อำนาจ-บารมี ที่ล้นเกิน เกิดอะไรขึ้น ทุกคนย่อมทราบดี หรือยังไม่เข็ด?