'กมธ.-อนุฯประชามติ' เห็นแย้งที่มา ส.ส.ร. จ่อส่งร่างคำถามให้ 'สส.' พิจารณา

'กมธ.-อนุฯประชามติ' เห็นแย้งที่มา ส.ส.ร. จ่อส่งร่างคำถามให้ 'สส.' พิจารณา

"กมธ.การเมือง" ชงข้อเสนอ ให้ อนุฯประชามติ พิจารณา ตั้งประเด็นสร้างคำถามปลายเปิด ยอมรับ ที่มา ส.ส.ร. ยังเห็นแย้ง "นิกร" จ่อส่งร่างคำถามประชามติให้ สส.พิจารณา

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน ได้ร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นในกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ  2560  ที่มีนายนิกร จำนง เป็นประธานอนุกมธ. ซึ่งนัดหมายหารือเป็นการภายในเมื่อเวลา 13.00 น. ทั้งนี้การหารือดังกล่าวได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

 จากนั้นเวลา 15.15 น.นายพริษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางคณะอนุกรรมการฯ แจ้งว่าต้องการจะทำแบบฟอร์มเพื่อสอบถามความเห็นสส.ทั้ง 500 คนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  อาทิ  เห็นด้วยหรือไม่กับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือเห็นอย่างไรกับการทำสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงประเด็นที่ควรแก้ไขในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน โดยการออกแบบคำถามจะต้องมีการเปิดกว้างเพียงพอให้สส.สามารถแสดงความเห็นตามเจตนารมณ์ของตนเองได้

ประธานกมธ.พัฒนาการเมือง กล่าวด้วยว่าสำหรับการติดตามเรื่องดังกล่าว ทางกมธ. ตั้งอนุกมธ.เพื่อพิจารณาศึกษาถึงที่มาของ ส.ส.ร. รวมถึงออกแบบระบบเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่ตอบโจทย์ ประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง 4 คน จากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน, ฝ่ายนักวิชาการ  3 คน และจากภาคประชาชน 3 กลุ่ม โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 3 พ.ย.

ด้านนายนิกร กล่าวว่า จากการหารือได้รับความเห็นที่ดีจากกมธ.  ทั้งนี้มีประเด็นที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เช่น การตั้งคำถามตามนโยบายของรัฐบาล การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเว้นหมวด 1 หมวด 2 แต่ กมธ.ให้ความเห็นว่าถ้าไม่เว้นหมวด 1 หมวด 2 จะมีคำถามหรือไม่ ดังนั้นอนุกรรมการจะรับไปพิจารณา

"ยอมรับว่าการหารือกับกมธ.ของสภาฯ มีความเห็นแย้งกันอยู่คือเรื่องส.ส.ร.โดยจะถามว่ามีส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ และให้มีหรือไม่ ส่วนจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ก็อาจจะต้องยกไว้ก่อนเพราะมีคำถามในเชิงลึก อาจจะให้คณะกรรมาธิการฯที่ตั้งโดยสภาฯในอนาคตเป็นผู้พิจารณาว่าจะทำอย่างไร" นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวว่า ในที่ประชุมยังได้มีการพูดถึงแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าอยากจะแก้ทั้งสองฝ่ายที่เห็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งก็จะพยายามและได้มีการพูดคุยที่นอกเหนือจากคำถามคือความเป็นไปได้ หลักการในทางการเมือง ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจกัน โดยทางคณะกรรมาธิการฯจะตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯเพื่อที่จะทำงานกันอย่างใกล้ชิด จะได้หารือกันในคำตอบสุดท้าย ที่จะนำไปสู่คำถามที่มีต่อประชาชน 

นายนิกร กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีความกังวลเกี่ยวกับการทำประชามติ ซึ่งในที่ประชุมก็ได้มีการพูดคุยกันโดยส่วนตัวเห็นด้วยเพราะรู้อยู่แล้วว่าการใช้เสียงกึ่งหนึ่งของทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแรงจริง หากเสียงไม่ถึงแต่ทุกคนหวังจะแก้ก็แก้ไม่ได้เลย เพราะประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งทางคณะอนุ และชุดที่ศึกษาเห็นว่าเราจะแก้ไปก่อนโดยใช้กฎหมายปัจจุบัน เพราะเดี๋ยวจะหาว่าเตะถ่วง แต่เห็นด้วยที่จะให้ทางกมธ.พัฒนาการเมืองไปยกร่าง เพราะอาจจะต้องปรับปรุงกฎหมายประชามติ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ใช้เกี่ยวกับสัดส่วนการถามว่าจะต้องถามกี่ครั้ง เพราะครั้งหนึ่งต้องใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านบาท ซึ่งการทำประชามติอาจจะมีเรื่องอิเลคทรอนิกส์มาด้วยหรือไม่ อาจจะต้องฝากกมธ.ไปพิจารณา.