ผ่างบ 10 ปี กอ.รมน. แสนล้าน ปราบ‘ฝ่ายซ้าย’ สู่ครหา ‘รัฐซ้อนรัฐ’

ผ่างบ 10 ปี กอ.รมน. แสนล้าน ปราบ‘ฝ่ายซ้าย’ สู่ครหา ‘รัฐซ้อนรัฐ’

"...จึงไม่แปลกเมื่อถึงยุค “รัฐบาลข้ามขั้ว” โดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ยืนยัน “ไม่ยุบ” กอ.รมน. จึง “ค้านสายตา” หลายฝ่าย โดยเฉพาะฝั่ง “ก้าวไกล” ที่เห็นว่า กอ.รมน. คือองค์กรในรูปแบบ “รัฐซ้อนรัฐ” สมควรถูกยุบเพื่อนำงบประมาณไปพัฒนาส่วนอื่น..."

เงื่อนปมการชงยกเลิก “กองอำนวยความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” หรือ “กอ.รมน.” กลับมาคุกรุ่นอีกรอบ

พลันที่ “พรรคก้าวไกล” โดย “รอมฎอน ปันจอร์” สส.บัญชีรายชื่อ อดีตนักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ออกโรงเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมาย กอ.รมน. เข้าสู่สภาฯ โดยยืนยันหลักการว่า กอ.รมน.มีความสัมพันธ์และอำนาจทับซ้อนกับกองทัพในทางการเมือง นอกจากนี้ยังอ้างถึงงบประมาณที่ผ่านมาของ กอ.รมน. อย่างน้อย 15 ปีหลังสุด ใช้ไปไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท ถูกมองว่า “สิ้นเปลือง-คุ้มค่า” หรือไม่

ก่อนหน้านี้ กอ.รมน.ยังถูกบางฝ่าย โดยเฉพาะบรรดาผู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหลาย วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า เป็น “รัฐซ้อนรัฐ” คอยควบคุมกำกับความคิดเห็น-ความเคลื่อนไหวของประชาชน

ประวัติศาสตร์ กอ.รมน.ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัย “สงครามเย็น” ช่วงทศวรรษ 1970 ถูกก่อตั้งในชื่อ กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) เป็นองค์กรที่เดินหน้าแทรกซึม หาการข่าว และปราบปราม “ฝ่ายซ้าย” ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และบุคคลที่มีความคิด “เอียงซ้าย” โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ จนถูกตั้งฉายาว่าเป็น “ฝ่ายการเมืองของกองทัพไทย”

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1980 ฝ่ายซ้าย-พรรคคอมมิวนิสต์ไทยค่อย ๆ “เสื่อมมนต์ขลัง” จากหลายปัจจัย ส่งผลให้ใน พ.ศ. 2516 เปลี่ยนชื่อมาเป็น กอ.รมน.และลดบทบาทลงไป กระทั่งในรัฐบาล “ชวน หลีกภัย” ได้ปรับบทบาทของ กอ.รมน. ให้ปฏิบัติภารกิจทางด้านป้องกันปราบปรามยาเสพติด การจัดระเบียบและเสริมความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ การแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยและผู้หลบหนีเข้าเมือง การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แก้ปัญหาความข้องแย้งโดยสันติวิธี (หน่วยสันตินิมิต) การปฏิบัติงานด้านการข่าว และการปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) เป็นต้น

สุดท้าย กอ.รมน.ถูก “ฝ่ายการเมือง” นำมาใช้ในการแทรกซึม-หาข่าว-ปฏิบัติการจิตวิทยา หรือ “IO” อย่างที่ถูกบางฝ่ายกังขา เพื่อใช้โจมตีฝ่ายตรงข้ามมาหลายยุคหลายสมัยด้วยกัน

ประเด็นที่น่าสนใจ 10 ปีหลังสุด กอ.รมน.ใช้งบประมาณไปเท่าไหร่ และใช้ไปกับอะไรบ้าง

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่รายละเอียดงบประมาณของ กอ.รมน. ระหว่างปีงบประมาณ 2556-2566 หรือ 10 ปีหลังสุด รวมทั้งสิ้น 100,274,700,800 บาท หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท มีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ได้รับ 7,980,125,500 บาท ได้แก่ แผนงานป้องกัน ปราบปราม และบำบัดยาเสพติด 181,225,900 บาท แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ 7,280,114,400 บาท แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 518,785,200 บาท

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ได้รับ 8,201,570,700 บาท ได้แก่ แผนงานป้องกัน ปราบปราม และบำบัดยาเสพติด 187,705,000 บาท แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ 7,516,131,500 บาท แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 497,734,200 บาท

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ได้รับ 8,906,478,600 บาท ได้แก่ แผนงานป้องกัน ปราบปราม และบำบัดยาเสพติด 181,225,900 บาท แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ 8,191,181,400 บาท แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 527,529,200 บาท

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ได้รับ 10,200,971,600 บาท ได้แก่ แผนงานป้องกัน ปราบปราม และบำบัดยาเสพติด 187,705,000 บาท แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ 9,143,109,000 บาท แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 770,375,800 บาท และแผนงานรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและแก้ปัญหาที่ดินทำกิน 99,781,800 บาท

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 ได้รับ 10,410,393,400 บาท เช่น แผนงานบูรณาการสร้างความปรองดองและสมาฉันท์ 290,180,400 บาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ 3,554,642,600 บาท แผนงานบูรณาการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ 3,550,000 บาท แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 204,086,200 บาท แผนงานบุคลากรภาครัฐ 1,035,836,600 บาท แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ 5,222,315,800 บาท และแผนงานยุทธศาสตร์อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ 99,781,800 บาท

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ได้รับ 10,049,512,900 บาท ได้แก่ งบกลาง 936,442,100 บาท แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 4,777,057,500 บาท แผนงานยุทธศาสตร์ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ 76,212,800 บาท แผนงานบูรณาการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 296,727,000 บาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ 3,739,113,100 บาท แผนงานบูรณาการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ 16,050,000 บาท แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 207,910,400 บาท

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ได้รับ 10,240,111,400 บาท ได้แก่ งบกลาง 835,012,100 บาท แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 4,859,133,500 บาท แผนงานยุทธศาสตร์ปรับกระบวนการทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงจากแนวดิ่งสู่แนวราบ 272,864,000 บาท แผนงานยุทธศาสตร์จัดระบบอนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 76,212,800 บาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ 3,974,191,600 บาท แผนงานบูรณาการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ 16,050,000 บาท แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 206,647,400 บาท

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ได้รับ 9,893,672,900 บาท ได้แก่ แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 363,709,500 บาท แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 318,250,800 บาท แผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 6,092,817,600 บาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ 2,099,429,400 บาท แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 206,115,500 บาท แผนงานบุคลากรภาครัฐ 813,287,100 บาท

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ได้รับ 8,854,707,900 บาท ได้แก่ แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 285,208,700 บาท แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 90,306,200 บาท แผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 5,512,838,100 บาท แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม 261,710,700 บาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ 1,709,108,300 บาท แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 181,698,800 บาท แผนงานบุคลากรภาครัฐ 813,837,100 บาท

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ได้รับ 7,764,882,400 บาท ได้แก่ แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 266,731,700 บาท แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 44,859,600 บาท แผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 4,916,202,200 บาท แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม 252,716,100 บาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ 1,357,895,600 บาท แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 136,174,100 บาท แผนงานบุคลากรภาครัฐ 790,573,100 บาท

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ได้รับ 7,772,273,500 บาท ได้แก่ แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 144,056,800 บาท แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 44,589,600 บาท แผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 4,832,032,800 บาท แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม 414,297,900 บาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ 1,404,987,500 บาท แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 145,707,100 บาท แผนงานบุคลากรภาครัฐ786,601,800 บาท

ผ่างบ 10 ปี กอ.รมน. แสนล้าน ปราบ‘ฝ่ายซ้าย’ สู่ครหา ‘รัฐซ้อนรัฐ’

จากข้อมูลงบประมาณ 15 ปีข้างต้น สังเกตได้ว่า ในช่วง “รัฐบาลปกติ” คือในปีงบประมาณ 2556-2557 (จัดทำช่วงปี 2555-2556) และปีงบประมาณ 2564-2565 (จัดทำช่วงปี 2563-2564) กอ.รมน.จะได้รับงบประมาณน้อยลง ขณะที่ช่วง “รัฐบาลจากรัฐประหาร” คือระหว่างปีงบประมาณ 2558-2562 (จัดทำช่วงปี 2557-2561) งบประมาณของ กอ.รมน.ค่อนข้าง “อู้ฟู่” ติดระดับหลัก “หมื่นล้านบาท” เลยทีเดียว

จึงไม่แปลกเมื่อถึงยุค “รัฐบาลข้ามขั้ว” โดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ยืนยัน “ไม่ยุบ” กอ.รมน. จึง “ค้านสายตา” หลายฝ่าย โดยเฉพาะฝั่ง “ก้าวไกล” ที่เห็นว่า กอ.รมน. คือองค์กรในรูปแบบ “รัฐซ้อนรัฐ” สมควรถูกยุบเพื่อนำงบประมาณไปพัฒนาส่วนอื่น

สุดท้ายมหากาพย์เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร คงต้องไปวัด “ฝีมือ-เสียงข้างมาก” ในสภาฯกันต่อไป