ฟังเสียงนักวิชาการ-สส.-ชาวบ้าน หนุน-ค้านรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านมรดกโลก

ฟังเสียงนักวิชาการ-สส.-ชาวบ้าน หนุน-ค้านรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านมรดกโลก

'สภาวันอาทิตย์' เชิญ 'นักวิชาการ-สส.-ชาวบ้าน' จัดเสวนา 'รถไฟจะไปอโยธยา' ระดมสมอง หาข้อยุติ'รถไฟความเร็วสูง' วิ่งผ่านพื้นที่มรดกโลก ฝ่ายหนุนชี้สร้างเศรษฐกิจเติบโตระยะยาว แต่เห็นด้วยควรดูให้ชัดสร้างความเสียหายโบราณสถานหรือไม่ ด้านฝ่ายค้านชี้ควรทำประชาพิจารณ์ใหม่

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา Treppenhaus Bangkok กลุ่มสภาวันอาทิตย์ องค์กรภาคประชาชนทำงานด้านระดมความคิด มุมมอง ข้อเสนอ ต่างๆเพื่อเป็นเสียงสะท้อนทางสังคม ในการแก้ปัญหา ข้อขัดแย้ง รวมถึง นำเสนอแนวทางพัฒนา โดย ทำมาอย่างต่อเนื่อง กว่า 1 ปีที่ผ่านมาจัดเวทีสาธารณะ หัวข้อ "รถไฟจะไปอโยธยา" เพื่อถกเถียงในประเด็น การสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่านอยุธยา

โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งฝ่ายมุมมองสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ นายวัชรวงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ตัวแทนประชาชนอยุธยา และอดีตนายก อบต. ดร.ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายจิรวัฒน์ จังหวัด เจ้าของเพจโครงการสร้างพื้นฐานประเทศไทย

ฟังเสียงนักวิชาการ-สส.-ชาวบ้าน หนุน-ค้านรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านมรดกโลก

ส่วนฝ่ายที่กังวลผลกระทบกับพื้นที่มรดกโลก ได้แก่  ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.พระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล และนายภาณุพงศ์ ศานติวัตร ตัวแทนกลุ่ม Saveอโยธยา

ฟังเสียงนักวิชาการ-สส.-ชาวบ้าน หนุน-ค้านรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านมรดกโลก

ทั้งนี้ฝ่ายที่เห็นด้วยให้เดินหน้าโครงการ ซึ่งมีทั้งคนในพื้นที่รวมอยู่ด้วย แสดงความเห็นสรุปได้ว่า โครงการนี้เป็นเมกะโปรเจกต์ ที่ควรจะเชื่อมต่อไปต่างประเทศ มีส่วนที่จะสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมาก เป็นผลดีในระยะยาว มากกว่าจะใช้แต่เพียงภายในประเทศ และที่ผ่านมาได้ผ่านการทำ EIA มาแล้ว อย่างไรก็ดีเห็นด้วยที่จะให้ตรวจสอบให้ชัดเจนว่า เส้นทางที่จะก่อสร้าง มีส่วนที่ไปสร้างความเสียหายต่อวัตถุโบราณที่มีคุณค่า ทั้งที่พบแล้ว และที่ยังไม่พบอีกหรือไม่ โดยผลของการทำแบบสำรวจ HIA  (heritage impact assessment) จะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ ที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพให้มีการจัดทำตามขั้นตอนของ UNESCO คงจะได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนต่อไป 

ด้านฝ่ายที่ห่วงเรื่องผลกระทบมรดกโลก แสดงความเห็นตรงกันว่า นอกจากเสนอให้ทบทวนเส้นทางใหม่แล้ว ยังมองว่า อยากให้ทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ โดยเฉพาะที่ผ่านมา ได้จัดทำในช่วงบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ มีข้อจำกัด

ฟังเสียงนักวิชาการ-สส.-ชาวบ้าน หนุน-ค้านรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านมรดกโลก

นาย พิษณุวัฒน์ สิงห์ชัย ผู้ก่อตั้งสภาวันอาทิตย์ กล่าวว่า  วันนี้แม้จะยังมีข้อเห็นต่าง ที่ยังถกเถียงกันอยู่ แต่เบื้องต้นได้ข้อสรุป ที่เห็นตรงกัน คือ ทั้งสองฝ่ายที่เข้าร่วมเสวนา มองร่วมกันว่ารัฐบาลควรเปิดเผยสัญญาและชี้แจงรายละเอียดของโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ทำกับจีนให้ประชาชนทราบ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนในการทำความเข้าใจกับโครงการและผลกระทบจากโครงการ  ซึ่งจะทำให้เห็นว่าใครจะได้ประโยชน์สูงสุด โดยประชาชนทั่งในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและทั่วประเทศจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน

ฟังเสียงนักวิชาการ-สส.-ชาวบ้าน หนุน-ค้านรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านมรดกโลก

นายพิษณุวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในเดือน พ.ย.นี้ สภาวันอาทิตย์จะร่วมกับภาคการเมืองและภาคประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นผลกระทบจากโครงการทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และประวัติศาสตร์โบราณคดีต่อไป