'ศิริกัญญา' ย้ำทางตัน'เงินหมื่น' เตือนพ.ร.ก.กู้เงิน โทษประหารทางการเมือง

'ศิริกัญญา' ย้ำทางตัน'เงินหมื่น'  เตือนพ.ร.ก.กู้เงิน โทษประหารทางการเมือง

"ศิริกัญญา" ย้ำทางตันเงินดิจิทัล10,000 บาท มองปรับหลักเกณฑ์ไม่ช่วยลดภาระงบ เตือนรัฐบาลหากคิดออก พ.ร.ก.กู้เงิน เดินเข้าลานประหารทางการเมือง

ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึง นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่ล่าสุดมีการปรับหลักเกณฑ์ คัดกรองโดยเฉพาะบุคคลที่ได้รับเงินเดือน 25,000 บาท 2,500 บุคคลที่ได้รับเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และอีกหลักเกณฑ์ที่จะแจกเฉพาะผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลน่าจะมีปัญหาการเงิน ที่จะนำมาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

ทั้งนี้แม้พยายามลดจำนวนผู้รับเงิน เหลือ 43-49 ล้านคน หากคิดเป็น 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 ไม่พอในปีเดียว เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อยและมีข้อเสนอออกมาอีกว่า จะใช้เป็นงบผูกพัน โดยผูกพันปีละ 100,000 ล้านบาท ไป 4 ปี ก็ยิ่งชัดเจนว่า หลังจากที่ได้คำนวณมาแล้ว แสดงว่างบประมาณปี 67 มีที่ว่างให้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพียงแค่ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังกล่าวว่า ในกรณีที่จำเป็นจะต้องผูกพันไปจนถึง 4 ปี ก็เท่ากับว่าจะมีร้านค้าบางส่วน จะไม่ได้เงินสดทันที และต้องรอแลกเป็นรายรอบปีงบประมาณไป ซึ่งส่วนนี้จะกระทบกับร้านค้าที่อาจจะไม่มีแรงจูงใจมากพอ ที่ต้องการเงินสดมาหมุนเวียนในร้านค้าของตนเอง จนไม่เข้าร่วมโครงการ จึงเป็นการตอกย้ำว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาถึงทางตันแล้ว ไม่สามารถที่จะให้ธนาคารของรัฐหรือธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการนี้ออกไปก่อนได้ เพราะติดข้อจำกัดหลักที่เป็นตอใหญ่ นั่นคือเรื่องของงบประมาณและที่มาของเงินที่จะต้องใช้

"แต่การปรับเงื่อนไขในครั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่า ยังคงทำตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิม และผลที่คาดว่าจะได้รับดั้งเดิมของโครงการนี้หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนไปหมดแล้ว ก็อาจจะต้องมีการทบทวนนโยบายใหม่ทั้งหมดด้วยซ้ำ" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว 

สำหรับการคัดกรองคนที่มีเงินเดือน 25,000 บาท และผู้ที่มีเงินฝากนั้น ความจริงแล้วลดจำนวนลงไปได้นิดเดียว เพียงแค่ 13 ล้านคน ถ้าเป็นคนที่มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท ก็ลดไปได้เพียงแค่ 7 ล้านคน ดังนั้น ความจริงแล้วไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ในแง่ของการที่จะประหยัดงบประมาณลง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงว่าจะทำอย่างไรกันต่อ

"แต่สุดท้ายแล้ว กลับไปที่ทางเลือกที่ 3 ทางเลือกที่ให้เฉพาะคนที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เขียนไว้ชัดเจนว่า อาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป อาจจะเป็นแค่การประคับประคองเยียวยาค่าครองชีพ ให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน ซึ่งนี่เป็นการเริ่มที่จะเปลี่ยนรูปแบบของโครงการ เปลี่ยนวัตถุประสงค์เปลี่ยนคนที่จะได้รับไปอย่างชัดเจน" รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว 

 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ดังนั้น ถ้าจะคงเพียงแค่รูปแบบว่าเป็นการแจกเงินเอาไว้ แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูดไว้ ก็จำเป็นที่จะต้องทบทวนจนเข้าใจดีว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่เพื่อไทยได้หาเสียงไว้ แต่ถ้าสามารถที่จะบอกกับ ประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่า ติดปัญหาในเรื่องอะไรงบประมาณ มีไม่พออย่างไร ตนคิดว่าประชาชนน่าจะเข้าใจได้ ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ที่จะทำโครงการนี้ แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่นั่นคืองบประมาณ

ส่วนโครงการนี้อาจจะถูกยกเลิกไปหรือไม่นั้น ตนเรียกว่าเปลี่ยนวิธีการมากกว่า อย่าเรียกว่ายกเลิก เข้าใจดีว่าสัญญาทางใจที่มีไว้กับโหวตเตอร์ หรือผู้สนับสนุนสำคัญ แต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกัน ก็มีวิธีการที่จะไปได้หลายทาง ส่วนสุดท้ายจะจบแค่เป็นโครงการเยียวยาหรือไม่ ก็ต้องรอดูว่าจะกลายเป็นรูปแบบนั้นหรือไม่ ต้องบอกว่าตอนนี้ งบประมาณที่ไปทบทวนกันของแต่ละหน่วยงานรัฐ ทำกันเสร็จแล้ว และเริ่มทยอยส่งกลับมายังสำนักงบประมาณแล้ว

อย่างไรก็ดี สำนักงบประมาณมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วว่า จะสามารถตัด ลด เกลี่ย งบประมาณ ของปี 67 ได้เท่าไหร่ แล้วปรากฏว่า ก็ได้แค่แสนล้าน ดังนั้น ถ้าจะไม่ทำงบประมาณผูกพันข้ามปี ทางออกเดียว คือ ให้เฉพาะคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนั้น ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไป เพียงแค่เยียวยาค่าครองชีพ จึงต้องบอกกับรัฐบาลว่าต้องมาทบทวนวัตถุประสงค์ของโครงการนี้อย่างจริงจัง อย่ายึดติดรูปแบบให้ดูที่เป้าหมายมากกว่า ว่าผลลัพธ์อยากจะได้อะไร แล้วออกแบบนโยบาย ให้เป็นไปตามนั้นมากกว่า 

"ก็ต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ของดิจิทัลวอลเล็ตมีมติออกมาก่อน ที่มีข่าวออกมาเป็นเพียงความคิดเห็นของอนุกรรมการเท่านั้น เราก็ยังคงใจดีให้เวลารัฐบาลกลับไปคิดทบทวนลงรายละเอียดทุกอย่าง แล้วให้คณะกรรมการชุดใหญ่มีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเข้ามา เราก็จะได้ทำการตรวจสอบกันต่อไปซึ่งหลายคณะกรรมาธิการ ตั้งท่ารอที่จะเรียกเข้าไปพูดคุยในรายละเอียดอยู่ กระทู้สดยังรออยู่ แม้จะเป็นในช่วงปีสมัยประชุม แต่เปิดมาเมื่อไหร่ ก็คงจะได้พูดคุยกันเรื่องนี้แน่นอน พร้อมฝากให้สื่อสอบถามประชาชน รวมถึงร้านค้าว่า หากจะต้องทยอยจ่าย เป็นหลายปีงบประมาณเงินสดจะไม่ได้ทันที ร้านค้า แต่ยังคงเข้าร่วมโครงการหรือไม่" น.ส.ศิริกัญญา ระบุ

ส่วนการคัดกรองของโครงการนี้สามารถทำได้จริงหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่อยากให้สับสนกับเรื่องนี้ เพราะปัญหาใหญ่ คือเรื่องของงบประมาณมากกว่า ส่วนเรื่องหลักเกณฑ์ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับคนที่จะได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ ดูรายได้จากการยื่นสรรพากร และดูทรัพย์สินจากธนาคารพาณิชย์ โดยแจ้งผ่านไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่ามีเงินฝากเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะยาก แต่แน่นอนว่าจะมีความผิดพลาดในเรื่องของอาจจะมีคนที่มีรายได้มาก แต่ไม่ได้ยื่นสรรพากร มีสินทรัพย์อย่างอื่น แต่ไม่ได้มีเงินฝาก 

สำหรับการหารือกับธนาคารกรุงไทยไม่ใช่ธนาคารออมสินนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นไปไม่ได้ใหญ่เลย น่าจะหารือกับธนาคารกรุงไทยเกี่ยวกับแอปพลิเคชันมากกว่า เพราะธนาคารกรุงไทยมีประสบการณ์ในการทำเป๋าตังค์มา อาจจะเป็นธนาคารกรุงไทย ที่จะดำเนินการทำแอปพลิเคชันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการหารือกับออมสินก็เป็นไปไม่ได้ เพราะติดข้อกฎหมาย ซึ่งไม่มีข้อไหนที่จะทำให้ดำเนินการแจกเงินได้เลยแม้แต่ข้อเดียว ถ้ายังคงใช้ธนาคารออมสินอยู่ ก็จะต้องมาแก้ไขกฎหมายและต้องผ่านสภา

เมื่อถามว่า หากทางออกสุดท้ายของรัฐบาลอาจจะต้องใช้ พ.ร.ก. เพื่อดำเนินโครงการนี้ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในทางเทคนิค ทางออกสุดท้าย คือ การออกพ.ร.ก.เงินกู้ เหมือนกับช่วงโควิดที่ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน เป็นทางออกทางเทคนิคที่ง่ายที่สุด แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า พ.ร.ก.จะออกได้จะต้องมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

"แต่ก็ต้องถามสำนักบริหารหนี้ว่า จะยอมให้กู้หรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนและเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และในทางการเมือง ก็ต้องยอมรับว่าการจะออก พ.ร.ก. เงินกู้ ณ เวลานี้ ที่ไม่ได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหนักขนาดนั้น ต้องเจอแรงต้านมหาศาลแน่นอน ก็ขอเตือนไว้ว่าถ้าออกเป็นพ.ร.ก.เงินกู้เมื่อไหร่ อาจจะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองได้" รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว