เตือนจุดยืน 'รัฐ' โอเวอร์แอกติง ยุทธศาสตร์ 'เลือกข้าง'ไม่เวิร์กกับไทย

เตือนจุดยืน 'รัฐ' โอเวอร์แอกติง ยุทธศาสตร์ 'เลือกข้าง'ไม่เวิร์กกับไทย

"เศรษฐา ทวีสิน" ต้องกลับมาทบทวน วางบทบาทตัวเองให้เหมาะสม ในฐานะผู้นำประเทศ ควรแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง วางประเทศไทยให้อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง

ตามยุทธศาสตร์ชาติ20ปีการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยมิติความมั่นคง 5 ขา ประกอบด้วย1.การทหาร 2.การเมือง (ในประเทศ-นอกประเทศ) 3.เศรษฐกิจ 4.สังคม 5. วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หากบกพร่องสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ส่งผลดี

ก่อน "ครม. เศรษฐา 1"จะแบ่งเค้กลงตัว จัดสรรเก้าอี้กระทรวงเกรดเอให้พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งต่อรองกันอยู่หลายรอบ เว้น เก้าอี้ "รมว.กลาโหม" ตำแหน่งที่พรรคแกนนำหลายยุคหลายสมัยแย่งกันครอบครอง 

เพราะหากคุมความมั่นคงและกองทัพได้ เสมือนการันตีเสถียรภาพรัฐบาล ลดความเสี่ยงถูกยึดอำนาจรัฐประหาร ส่วนใหญ่ "นายกฯ"จะควบเก้าอี้ตัวนี้ หรืออาจคัดทหารนอกราชการที่ไว้ใจมานั่งตำแหน่งดังกล่าว เพื่อรวมศูนย์ความมั่นคงเอาไว้ โดยมีรองนายกฯความมั่นคงดูแลอีกชั้น

แต่มารอบนี้ ตำแหน่งรมว.กลาโหม ถูกวางเป็นโควต้ากลาง  อาจเป็นเพราะ "เพื่อไทย"มั่นใจแล้วว่าตลอด4ปีการบริหารประเทศ ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยถูกยึดอำนาจเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นใครก็สามารถนั่งเก้าอี้ตัวนี้ได้จึงเป็นที่มาชื่อ "สุทิน คลังแสง" และปราศจากรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง

ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด หาก"เศรษฐา ทวีสิน" นายกฯที่มาจากนักธุรกิจและควบตำแหน่ง รมว.คลัง จะมุ่งเน้นไปที่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเพื่อไทย ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน หวังผลเลือกตั้งครั้งจึงทำให้งานด้านความมั่นคง การรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศท่ามกลางโลกแบ่งเป็น2ขั้วดร็อปลงไป

สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ไทยกำลังถูกดึงเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้ง ด้วยปัจจัยแรกมีแรงงานไทยไปทำงานอิสราเอลเสียชีวิตและถูกจับกุมลำดับต้นๆ ส่วนภายในประเทศมีประชากรหลายเชื้อชาติ ศาสนา ทั้งพุทธ มุสลิม คริสต์ อาศัยอยู่ หรือเข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักศึกษา กระจายไปทั่วประเทศ

ปัจจัยที่สองการทวิตข้อความส่วนตัว นายกฯเศรษฐา ประณามการโจมตีอิสราเอล ท่าทีเดียวกับสหรัฐฯ ทำให้ไทยเสียสมดุลที่พยายามรักษาจุดยืนไม่เข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งหรือเลือกข้าง เพราะไม่ส่งผลดีต่อประเทศไทยและคนไทยทั้งสิ้น แม้ตอนหลังจะหลบข้อความ แต่ต้องยอมรับว่าไทยถูกมองเอียงข้างไปแล้ว

พล.ท.สมชาย วิรุฬหผล นักวิชาการด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ เชื่อว่า มีผลกระทบแน่ อย่างน้อยตัวประกันมีความเสี่ยง และที่ชัดเจนเมื่อนายกฯรับตำแหน่งใหม่ๆประเทศแรกที่เดินทางไปก็คือสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าเราหันทิศไปทางสหรัฐ ก็มองว่าเอียงไปหน่อยแล้ว ซึ่งไม่ดีต่อสถานภาพของไทย เพราะไทยเป็นประเทศเล็ก เราควรจะเป็นกลางและ แสวงหาประเทศพันธมิตรให้มาก รวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรอง 

"จะไปเข้าข้างมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่เหมาะสมและไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย เราควรใช้วิธีที่ฉลาด สร้างสมดุลหรือคานอำนาจของมหาอำนาจทั้งหลายของ 2 ขั้ว 2 ค่าย เพราะปัจจุบันประเทศไทยอยู่ใกล้จีนมาก ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าอิทธิพลทางทหารของอเมริกาก็มีไม่น้อย  เพราะฉะนั้นเราต้องระมัดระวังในการเดินเกม เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในฐานะที่ไทยไม่ใช่ประเทศใหญ่ ทุกเรื่องละเอียดอ่อนหมด"

สอดคล้องกับ นายปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ มองว่า ที่ผ่านมาไทยมีสัมพันธ์ที่ดีกลับหลายกลุ่ม ไปจนถึงระดับกองกำลังโดยเฉพาะกับทหาร-ตำรวจ คุ้นเคยกับสัมพันธ์ชุดนี้ แต่ในมุมกระทรวงการต่างประเทศอาจไม่คุ้นเคย ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ควรไปมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ จึงต้องอาศัยช่องทางทางการประสานงาน เช่น การติดต่อสำนักงานปาเลสไตน์ในประเทศมาเลเซีย การขอความช่วยเหลือผ่านสุลต่านของบรูไน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การบริหารงานจัดการของรัฐบาลล่าช้าเพราะ นายกฯ กระจายงานด้านความมั่นคงไปให้แต่ละบุคคลดูแล ไม่ได้รวมศูนย์ไว้ที่นายกฯ หรือ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ทำให้ไม่มีผู้มีอำนาจตัดสินใจได้เด็ดขาดในการสั่งการ และเป็นช่วงที่นายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ 4 วัน อีกทั้งรัฐมนตรี หลายคนไม่คุ้นเคยกับงานด้านความมั่นคง แม้แต่ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมาในแง่นี้เองก็ทำให้กองทัพไม่กล้าตัดสินใจหรือลงมือปฏิบัติ เพราะต้องการผู้มีอำนาจเด็ดขาดสั่งการลงมา 

ขณะที่แหล่งข่าวความมั่นคง ชี้ให้เห็นว่า การจัดสมดุลการเมืองระหว่างประเทศ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า จีดีพีภายในประเทศของไทยน้อยนิด ถ้าเทียบกับประเทศใหญ่ เราต้องอยู่ให้เป็น รักษาสมดุลที่ไม่เอียงข้างหนึ่ง 

การสู้รบอิสราเอล วันนี้ชัดเจนว่าเอียงไปทางอิสราเอล ประนาม กลุ่มฮามาส ในขณะที่ปาเลสไตน์ กระจายไปทั่วโลกแม้แต่ในประเทศไทย ก็จะเข้ามามีปัญหากับไทยแล้ว เราประนาม ปาเลสไตน์ มุสลิม 3 จชต.ก็ไม่พอใจเพราะมุสลิมถือว่าเขาเป็นพี่น้องกัน และบ้านเราก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น 

"เราจะไปแอคชั่นอะไรมากมายไม่ได้ เราต้องอยู่แบบนี้ สร้างสมดุล วันนี้อิทธิพลของจีนเข้ามามากแล้วในทางด้านเศรษฐกิจ เราต้องพึ่งเขา แต่ในขณะเดียวกันสหรัฐฯก็ยังเป็นประเทศมหาอำนาจอยู่ ดังนั้นเรื่องเทคโนโลยี เราก็ต้องพึ่งเขาเช่นกัน อยู่ยังไงเราถึงจะรักษาสมดุลนี้ได้ คือหลักการที่ประเทศไทยยึดมาตลอด เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่ารัฐบาลจะมีคนเก่งบริหารเศรษฐกิจดีเพียงใด แต่หากความมั่นคง การเมืองภายใน ภายนอกประเทศไม่สงบ เศรษฐกิจก็เดินไม่ได้เช่นกัน"

ดังนั้น "เศรษฐา ทวีสิน" ต้องกลับมาทบทวน วางบทบาทตัวเองให้เหมาะสม ในฐานะผู้นำประเทศ ควรแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง วางประเทศไทยให้อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง