จาก‘ประชาธิปัตย์’ถึง‘ก้าวไกล’ ฝ่ายค้านเชิงรุก-ครม.เงาสีส้ม?

จาก‘ประชาธิปัตย์’ถึง‘ก้าวไกล’  ฝ่ายค้านเชิงรุก-ครม.เงาสีส้ม?

8ปีผ่านไป วาทะกรรม "รัฐบาลเงา" หรือ "ครม.เงา" ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้บริบทการเมือง ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นฝ่านค้าน

จังหวะก้าวย่าง “พรรคก้าวไกล” ภายใต้เกมการเมืองที่เต็มไปด้วยการ “ขบเหลี่ยม-ชิงเล่ห์” เวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทฝ่ายค้าน ที่ชัดเจนแล้วว่ากำลังจะมีผู้นำฝ่ายค้านที่ชื่อ “ชัยธวัช ตุลาธน” ถือว่าน่าจับตาอย่างยิ่ง

วันก่อน “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล อธิบายบทบาทฝ่ายค้าน ภายใต้โมเดล “ฝ่ายค้านเชิงรุก” เวอร์ชันสีส้ม ที่ใช้วิธีการแบ่ง สส.และทีมงานพรรคออกเป็น 15 ทีมเชิงประเด็น อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา การพัฒนาการเมือง เป็นต้น 

โมเดลนี้ โดยอีกกลไกหนึ่งที่ทีมเชิงประเด็นใช้ในการขับเคลื่อน คือกลไก Policy watch ในการพยายามจับตานโยบายการทำงานของรัฐบาล

ถอดเวิร์ดดิ้งของ “ไอติม” พริษฐ์ ที่ตอบคำถามสื่อ “คอการเมือง” ต่างตีความว่าไม่ต่างอะไรกับการตั้ง “รัฐบาลเงา” หรือ “คณะรัฐมนตรีเงา” สุดแท้จะนิยาม ยิ่งในนามนี้พรรคก้าวไกลอยู่ในฐานะพรรคฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ด้วยแล้ว แน่นอนว่าย่อมมีการเปรียบเทียบไปถึงโมเดลที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

จาก‘ประชาธิปัตย์’ถึง‘ก้าวไกล’  ฝ่ายค้านเชิงรุก-ครม.เงาสีส้ม?

ย้อนการเมืองกลับไป คำว่า “คณะรัฐมนตรีเงา”  หรือ “ครม.เงา” ถูกบัญญัติศัพท์ครั้งแรกในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ซึ่งมี “สมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกฯ

โดยผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2551 “สมัคร” นำทัพกวาด สส.เข้าสภา 231 ที่นั่ง ก่อนรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่น จัดตั้งรัฐบาลผสม “312 เสียง”

ขณะที่พรรคคู่แข่งเวลานั้นคือ พรรคประชาธิปัตย์ มี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นหัวหน้าพรรค กวาด สส.เข้าสภา 164 เสียง แพ้โหวตตกเป็นพรรคฝ่ายค้าน และได้ตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” ไปครอง 

ต่อมาวันที่วันที่ 8 ก.พ.2551 ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้ง “ครม.เงา” โดยมีตำแหน่งสำคัญ อาทิ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกรัฐมนตรีเงา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเงา นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีเงากระทรวงต่างๆ รวม 36 คน

เวลานั้น “อภิสิทธิ์” ผู้นำฝ่ายค้านและนายกรัฐมนตรีเงา ประกาศติดตามการทำงานของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่มี “สมัคร” เป็นนายกฯ ต่อเนื่องไปถึงช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์”

ต่อมาปี 2554 ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พรรคเพื่อไทยกวาด สส.เข้าสภา 265 ที่นั่ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยรวบรวมเสียงพรรคการเมือง เป็นรัฐบาลผสม 299 เสียง

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์กวาด สส.เข้าสภา 159 ที่นั่ง เป็นแกนนำฝ่ายค้าน มี “อภิสิทธิ์” หัวหน้าพรรค พร้อมรั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน 

กระทั่งวันที่ 6 ก.ย.2554 คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเงา เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตำแหน่งสำคัญ อาทิ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกรัฐมนตรีเงา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเงา พร้อมแต่งตั้ง ครม.เงา อีกรวม 36 คน

จาก‘ประชาธิปัตย์’ถึง‘ก้าวไกล’  ฝ่ายค้านเชิงรุก-ครม.เงาสีส้ม?

หรือแม้แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปี 2566 ประเด็น “รัฐมนตรีเงา” ถูกปลุกผี นำกลับมาเป็นมอตโต้หาเสียงของพรรคการเมือง โดย “ลูกท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้พูดไว้ในคลิปวิดีโอ “ชาติไทย Young พัฒนา” ในช่วงเดือน พ.ค.2566 ก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน 

ในคลิปวิดีโอช่วงหนึ่งได้ตั้งคำถามหนึ่งว่า ถ้าหากได้เข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรี สิ่งต้นๆ ที่จะทำคือเรื่องใดบ้าง? 

“วราวุธ” ตอบกลับไปว่า จะเสนอให้คนรุ่นใหม่มีการจัดตั้ง “รัฐบาลเงา” ขึ้นมา เพื่อติดตามผลงานการทำงานต่างๆ ของรัฐบาลปัจจุบัน และสามารถพร้อมตรวจสอบรัฐบาลหลัก ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ทำงานประกบควบคู่กันไป

จาก‘ประชาธิปัตย์’ถึง‘ก้าวไกล’  ฝ่ายค้านเชิงรุก-ครม.เงาสีส้ม?

อันที่จริง การบัญญัติศัพท์คำว่า “ครม.เงา” หรือ “รัฐบาลเงา” ก็ไม่ได้เพิ่งเกิดที่ประเทศไทยเพียงเท่านั้น หากดูโมเดลต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ  เคยมีการบัญญัติศัพท์คำว่า รัฐบาลเงา (Shadow Government) หรือ ครม.เงา (Shadow Cabinet) หมายถึง กลุ่มนักการเมืองอาวุโสที่เป็นกระบอกเสียงของฝ่ายค้าน ในระบบการเมืองอังกฤษ เรียกว่า “ระบบเวสต์มินสเตอร์” ได้เกิดการตั้งตนเป็นรัฐมนตรีเงา ประกบรัฐมนตรีตัวจริงของรัฐบาล

 ผ่านไป 8 ปี การเมืองไทยวนลูปกลับมาที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลับมาเป็นฝ่ายค้านอีกครั้ง 

ฉะนั้นแม้ “ไอติม” พริษฐ์ จะยืนยันว่าโมเดลฝ่ายค้านเชิงรุกสีส้ม จะไม่ใช่ ครม.เงา แต่ในยามที่ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ก็มิวายถูกเปรียบเปรยเป็น “ครม.เงาแปลงร่าง” หรือ “ครม.เงาสีส้ม” โดยเฉพาะในมุมมองของแฟนคลับเพื่อไทยบางกลุ่ม ที่กระแหนะกระแหนมาโดยตลอดว่า ทั้ง “พรรคสีฟ้า” และ “พรรคสีส้ม” เหมาะสมที่จะเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน

จังหวะก้าวย่าง “พรรคก้าวไกล” ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้านที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้ จึงต้องจับตาเกมการเมืองที่เต็มไปด้วยสารพัดกลยุทธ์ ในการ “ขบเหลี่ยม-ชิงเล่ห์” เชื่อได้เลยว่ายังมีหลายซีรีส์ให้ต้องติดตาม!