มิสเตอร์ KPI ‘เศรษฐา’ ฝ่า 2 แรงเสียดทานการเมือง

มิสเตอร์ KPI ‘เศรษฐา’ ฝ่า 2 แรงเสียดทานการเมือง

นอกจากแรงกดดันในเชิงการบริหารประเทศของ “เศรษฐา” ยังมีมิติในพรรคเพื่อไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค ก็อาจเป็นอีกแรงกระเพื่อมถึง “เศรษฐา” เพราะความเชื่อมโยงกับคนในพรรคอาจยังมีช่องว่าง และไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบฟ้าผ่าเมื่อไหร่

จะว่าไป ใครเป็น “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เวลานี้ก็คงปวดเศียรเวียนเกล้าไม่น้อย เมื่อบททดสอบต่างๆ กำลังประเดประดังเข้ามาให้แก้ปัญหาอย่างไม่ขาดสาย เดิมพันทางการเมืองและเส้นทางผู้นำรัฐบาลคนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าขึ้นอยู่กับผลงาน ที่จะแปลงเป็นคะแนนนิยมในการเลือกครั้งต่อไปในอนาคต

ภารกิจที่เศรษฐา รับผิดชอบเป็นนอกจากเป็นนายกฯ แล้ว ยังควบ รมว.คลัง เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่คนมองว่าเป็นจุดแข็ง และยังรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงควบคู่ไปด้วย แม้อาจจะไม่ถนัดเท่ากับด้านเศรษกิจก็ตาม

ความเป็นนักธุรกิจ บริหารงานในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่มาก่อน ก็เริ่มจะได้เห็นสไตล์การทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น แม้บทบาทและสถานะวันนี้จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงก็ตาม แต่มีสิ่งหนึ่งซึ่งคนที่รู้จักเศรษฐาต่างรู้ดีก็คือ การจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะต้องมีเป้าหมายชัดเจน และมีKPI (Key Performance Indicator) หรือดัชนีชี้วัดความสำเร็จ คอยเป็นตัวกำหนดเสมอ เรื่องนี้คนที่ทำงานใกล้ชิดนายกฯ นิด บอกเองว่า “สไตล์เขาอยู่แล้ว”

เห็นได้ชัดตอนที่นายกฯ ขึ้นเวทีมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ก็พูดเรื่องนี้ไว้ด้วย

“โครงการ แผนงาน ต่างๆ จะต้องมีตัวชี้วัด (KPI) หรือมีเป้าหมายที่ก่อให้เกิดผลดีกับประชาชนหรือเกิดผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ผมไม่สนับสนุนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลให้ประเทศประชาชน เพราะเป็นการนำภาษีประชาชนไปละลายแม่น้ำเสียเปล่าๆ ไม่สนับสนุนการนำงบประมาณไปทำอะไรที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจุดประสงค์ที่จับต้องได้ ไม่มีความชัดเจน ฉะนั้น ขอให้พิจารณาลดแผนงานหรือโครงการต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือถ้าเป็นไปได้ก็ยกเลิกแผนงานหรือโครงการที่ไม่มีความชัดเจนไปเสีย เพื่อให้การใช้งบประมาณอย่างตรงเป้าหมายและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ” เศรษฐา ระบุ

แนวทางทำงานในแบบเศรษฐา ก็พอจะเห็นข้อดีอยู่จริง แต่ในทางปฏิบัติขณะนี้ รัฐบาลที่ตั้งเป้าใหญ่คือช่วยคนตัวเล็ก และต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ควบคู่กันไปผ่านการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญที่เป็นไฮไลต์ของรัฐบาล

โดยเฉพาะมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,0000 บาท และมาตรการพักหนี้เกษตรกร ที่ดูเหมือนกำลังเผชิญแรงเสียดทานเข้าอย่างจัง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย กลับมีความกังวลและมีหนังสือทักท้วงผ่านมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถึงผลกระทบที่จะตามมาจนอาจสูญเสียวินัยการเงินการคลัง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นในรัฐบาลตามมา นโยบายประชานิยม ที่เศรษฐา และพรรคเพื่อไทย หมายมั่นปั้นมือจะนำมาใช้เพื่อกอบกู้วิกฤติศรัทธาทางการเมืองของตัวเอง หวังสร้างโมเมนตั้มเชิงบวกจากฐานมวลชนรวมถึงโหวตเตอร์ หรือได้ผลในระยะสั้น แต่ระยะยาวอาจไม่เป็นผลดีตามมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย เหมือนที่แบงค์ชาติเตือนแล้ว

นี่จึงเป็นแรงกดดันในเชิงการบริหารประเทศของเศรษฐา และยังมีมิติในพรรคเพื่อไทยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ วางตัวอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร นั่งหัวหน้าพรรคเปลี่ยนตัวคนคุมภาค หลังถอดบทเรียนความพ่ายแพ้เลือกตั้ง ปี66 ก็อาจเป็นอีกแรงกระเพื่อมมาถึงเศรษฐา เพราะความเชื่อมโยงกับคนในพรรคอาจยังมีช่องว่าง และไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบฟ้าผ่ากับนายกฯนิด เมื่อไหร่อย่างไร

ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า การจะฟื้นความยิ่งใหญ่ให้เพื่อไทยได้ คือผลงาน และการพาตัวเองให้อยู่ในกระแส การขึ้นมาของอุ๊งอิ๊ง ก็น่าจับตาว่า เป็นสัญญาณอะไรบางอย่างสำหรับเพื่อไทยในระยะถัดไป ท่ามกลางการพูดกันของคนในพรรคถึงวงรอบในการปรับครม. อยู่ที่ประมาณ 1 ปีหรืออาจไม่เกินนั้น