'ก้าวไกล' ผิดหวังคดี 'บิลลี่' ลงโทษคุก 'ชัยวัฒน์' แค่ ม.157 ยกฟ้องปมอุ้มฆ่า

'ก้าวไกล' ผิดหวังคดี 'บิลลี่' ลงโทษคุก 'ชัยวัฒน์' แค่ ม.157 ยกฟ้องปมอุ้มฆ่า

'มานพ' ผิดหวังคดีกล่าวหา 'ชัยวัฒน์' อุ้มฆ่า 'บิลลี่' ตัดสินแค่โทษ ม.157 แต่ยกฟ้องอุ้มฆ่าอำพรางศพ ทั้งที่เป็นหัวใจหลักของ หวัง พ.ร.บ.อุ้มหาย ได้บังคับใช้จริงจัง กันเหตุอุ้มฆ่าไม่ให้เกิดขึ้นอีก

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 นายมานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวถึงกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาในคดีการถูกบังคับให้สูญหายและฆาตกรรมของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” นักสิทธิมนุษยชนชาวปาเกอะญอ ที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมพวก 4 คน เป็นผู้ต้องหา โดยศาลได้พิพากษาให้จำคุกนายชัยวัฒน์ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในฐานความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 แต่ยกฟ้องในข้อหาฆาตกรรมอำพรางศพเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอ

นายมานพ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจจากการตัดสินคดีวันนี้ คือการที่ศาลตัดสินเฉพาะเรื่องของความผิดตามฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 แต่หัวใจหลักของคดีคือกระบวนการฆาตกรรมและอำพรางศพ ที่มีการยกฟ้องเพราะไม่มีหลักฐานพอ นี่คือสิ่งที่สังคมต้องการคำตอบมากที่สุด และเป็นโจทย์ใหญ่ของทั้งสังคมและของชาวปกาเกอะญอ ว่ากรณีบิลลี่ถูกบังคับให้สูญหายเป็นการบังคับสูญหายหรือไม่ 

โดยที่ในทางนิติวิทยาศาสตร์ก็ได้มีความพยายามพิสูจน์เรื่องนี้แล้ว ทั้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม จนนำไปสู่หลักฐานบางอย่าง เช่น การที่ดีเอ็นเอของบิลลี่ที่อยู่ในถังกับของแม่นั้นตรงกัน ซึ่งศาลควรนำข้อมูลนี้มาสู่การพิจารณาด้วย ดังนั้น กรณีการตัดสินความผิดตามฐานมาตรา 157 นั้น จึงเป็นเพียงการตัดสินความผิดเล็กน้อย ที่ไม่ใช่โจทย์สำคัญที่สังคมต้องการ ว่าบิลลี่เสียชีวิตอย่างไรและเพราะอะไร

นายมานพ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญต่อจากนี้ไป คือการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่มีการบังคับใช้มาตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในอนาคตหากกฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง น่าจะช่วยคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้มาก เมื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการใดๆ จะต้องมีพยานหลักฐานในการทำหน้าที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นายมานพ กล่าวด้วยว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงไม่ทำตามกฎหมายได้อีกแล้ว จะต้องมีองค์ประกอบตามกฎหมายดังกล่าวในการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง หากติดขัดเรื่องใด เช่น ไม่มีกล้อง ก็ขอการสนับสนุนแก้ไขได้ แต่หลักการสำคัญคือเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ

“กฎมายนี้จะเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แม้เจ้าหน้าที่อาจจะทำงานยากขึ้นบางประการ แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำงานภายใต้กรอบกฎหมาย ประชาชนก็สามารถใช้สิทธินี้ในการตรวจสอบการทำงานของกระบวนการยุติธรรมได้” นายมานพ กล่าว