'ชทพ.' ส่ง 'นิกร' ร่วมกก.ประชามติ หอบแนวทาง สมัย 'บรรหาร' ไปนำเสนอ

'ชทพ.' ส่ง 'นิกร' ร่วมกก.ประชามติ หอบแนวทาง สมัย 'บรรหาร' ไปนำเสนอ

"วราวุธ" เสนอชื่อ "นิกร" ร่วมคณะทำงานศึกษาประชามติ พร้อมชงข้อเสนอ-แนวทางสมัย "บรรหาร" ไปพูดคุย ประเมินมีทางสำเร็จ หากทำความเข้าใจ สส.-สว. ให้ตรงกัน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุม สส. พรรค ว่า พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอชื่อนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพราะถือเป็นผู้มีประสบการณ์ ทั้งนี้จะนำแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ ที่เริ่มและนำไปสู่การได้มาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ไปนำเสนอ สำหรับประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคที่เตรียมเสนอรัฐบาล คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เว้นแต่หมวด 1 และ หมวด2 ขณะเดียวกัน ส.ส.ร.นั้น จะสะท้อนความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ และกลั่นกรองออกมา เป็นแนวทางเดียวกับที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 

"การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จนั้น ต้องขอความร่วมมือหลายทุกฝ่าย และที่สำคัญต้องมีการพูดคุยกัน เพราะเท่าที่ทราบสว. และสส. มีแนวทางที่ต่างกัน ดังนั้นต้องพูดคุยเพื่อหาจุดลงตัว ให้เดินหน้าร่วมกันได้" นายวราวุธ กล่าว

\'ชทพ.\' ส่ง \'นิกร\' ร่วมกก.ประชามติ หอบแนวทาง สมัย \'บรรหาร\' ไปนำเสนอ

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับแนวทางประชามติที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าต้องมีกี่ครั้งนั้น ตนมองว่าต้องมี 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการทำประชามติว่าแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ส่วนจะผนวกคำถามอะไรเพิ่มเติมเข้าไป คงเป็นวิจารณญาณของคณะกรรมการร่วมรัฐบาลที่เป็นผู้ดูแล เช่น หากมีประชามติว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องแก้ มาตรา 256 เพื่อให้ตั้ง ส.ส.ร. ได้ เมื่อแก้มาตรา 256 แล้วตั้ง ส.ส.ร. ก็ต้องทำประชามติอีก และก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง รวมเป็น 3 ครั้ง 

 

"การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ น่าจะมีความสมดุล และมีความลงตัวกันให้มากขึ้น บางครั้งการปลดล็อค หรือมีข้อจำกัดมากไป ในปัจจุบันจะทำให้การทำงานของหลายฝ่าย ไม่ลื่นไหล และการดำเนินการภายใต้กรอบงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทำได้อย่างล่าช้า จึงเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการตั้ง ส.ส.ร. ครั้งนี้ จะสามารถตอบโจทย์ ที่ทำให้ทุกฝ่ายทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น รวมถึงเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชน" นายวราวุธ กล่าว

เมื่อถามว่าคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มีมานานกว่า 20 ปีแล้ว การจะมีอะไรเหมือนก็เป็นเพียงบางมิติ แต่ที่ผ่านมาบริบทโลกและสังคมไทย ได้เปลี่ยนไป จะให้เหมือนกันเป๊ะก็คงเป็นไปไม่ได้ เช่น การตั้ง ส.ส.ร. มาถึงวันนี้คงต้องมีการปรับเปลี่ยนบริบท เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน และประชากร 66 ล้านคนของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่จะเอาของ 20 ปีที่แล้วมาทำในวันนี้.