'กมธ.สว.' เซ็งไม่ได้ข้อมูลอาการ - การรักษา 'ทักษิณ' จ่อเรียกสอบซ้ำ ต.ค.นี้
กมธ.สิทธิมนุษยชน สว. ระบุไม่ได้คำตอบอาการ และการรักษาด้วยการผ่าตัด แนะ “สตช.- แพทย์ใหญ่ - ญาติ” แจงรายละเอียดให้คลายสงสัย หวั่นเป็นคลื่นใต้น้ำกระทบกระบวนการยุติธรรม จ่อเรียกมาให้ข้อมูลซ้ำ เดือนต.ค.
เมื่อเวลา 16.30 น. นายสมชาย แสวงการ สว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา แถลงภายหลังการประชุมเพื่อ ติดตามการดูแลนักโทษของระบบราชทัณฑ์ ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับมาตรการดูแลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เกินกว่า 30 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาตามระเบียบที่ราชทัณฑ์กำหนด ว่า ได้รับข้อมูลพอสมควร โดยได้รับคำตอบ 3-4 ประเด็น ได้แก่
1. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ที่ให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ และมีตำรวจช่วยดูแลควบคุม ส่วนกรณีที่สังคมวิจารณ์ว่าไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาลจริง และกลับบ้านไปเลี้ยงหลานแล้วนั้น ตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นั้น ยืนยันข้อเท็จจริงว่า ว่านายทักษิณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
2.การรักษาตัว เป็นไปตาม 4 โรคสำคัญ ที่มีผลรับรองทางการแพทย์จากสิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่การรักษาด้วยการผ่าตัดโดยแพทย์ใหญ่ ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เพราะแพทย์ที่มาชี้แจงนั้นไม่ได้เป็นผู้รักษา และเป็นไปตามกฎหมายที่คุ้มครองตามสิทธิของผู้ป่วย กมธ.แนะนำสามารถส่งข้อมูลทางลับได้ เพราะกมธ.จะไม่นำไปเปิดเผย
“กมธ.ให้คำแนะนำด้วยว่า ขณะนี้มีการสงสัยในอาการป่วยหลายโรค ควรชี้แจงว่ามีโรคใดที่ควรกังวล และพักฟื้นในระยะเวลาเท่าไร ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นสิทธิของผู้ป่วย และครอบครัวที่สามารถรับรู้ได้ ทั้งนี้แพทย์ ผู้ป่วยต้องอธิบายได้ในบางระดับให้สังคมรับทราบ ว่าอาการที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด และต้องรักษาต่อไป อยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจมากหรือไม่ ตามดุลยพินิจของแพทย์” นายสมชาย กล่าว
3.ในประเด็นที่ กมธ. สอบถาม กรณีที่นายทักษิณ ฐานะนักโทษเด็ดขาด และเข้ารับการผ่าตัดรักษาอาการจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว และส่งกลับได้หรือไม่ โรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาไปฟื้นฟู และหากหายสามารถกลับไปเรือนจำได้ หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ระบุว่าเป็นขั้นตอนปกติ ทั้งนี้ต้องดูว่าอาการของนายทักษิณอยู่ในเกณฑ์ใดต้องให้แพทย์ใหญ่ปรึกษากับญาติ ซึ่งอาจจะได้รับการชี้แจงต่อไป แต่เป็นสิทธิของญาติที่จะชี้แจงกับสังคมหรือไม่ โดย กมธ.ไม่ก้าวล่วง
4.กรณีรับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ จะได้รับการลดโทษอีกหรือไม่ กรมราชทัณฑ์ ระบุว่า เกณฑ์การขอลดโทษตามห้วงเวลาที่สามารถขอพระราชทานอภัยโทษนั้น มีช่วงเวลาตามวโรกาสพิเศษ เช่น วันที่ 5 ธ.ค., 27 ก.ค. , 12 ส.ค. ทั้งนี้การขอลดโทษตามเกณฑ์นักโทษต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 โดยจำนวนวันของนายทักษิณ ตามเกณฑ์ 1 ใน 3 หรือ 120 วัน จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค. หรือเกณฑ์ 6 เดือน ซึ่งในกรณีของนายทักษิณ นั้นจะครบเกณฑ์ 6 เดือนในเดือนก.พ. 67
“ส่วนการพักโทษที่มีหลักเกณฑ์คือ เป็นผู้สูงวัย มีโรคประจำตัว ซึ่งนายทักษิณอยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว เมื่อถามว่าต้องใส่กำไลอีเอ็มหรือไม่ เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าไม่จำเป็น หากพักโทษแล้วอาจจำจัดพื้นที่ ที่อยู่ เช่น ที่บ้าน ในประเทศไทย แต่ไม่สามารถเดินทางนอกราชอาณาจักรได้ ทั้งนี้ในห้วงเวลา 6 เดือนที่จะเข้าเกณฑ์พักโทษนั้น จะรวมเวลาที่อยู่ในช่วงการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจด้วย” นายสมชาย แถลง
ประธาน กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ กล่าวด้วยว่า การรักษาตัวว่าจะอีกนานหรือไม่ เป็นประเด็นที่แพทย์ใหญ่ของโรงพยาบาลตำรวจจะพิจารณา ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ปฏิเสธไม่ได้ ส่วนกรณีการผ่าตัดนั้น กมธ.ไม่ได้รับคำตอบ ซึ่ง กมธ.ไม่ได้บังคับให้ตอบ เพียงแค่ให้คำแนะนำว่า ไม่ตอบ สังคมจะมีความสงสัย ดังนั้น สตช. และแพทย์ใหญ่ต้องชี้แจง หากไม่ป่วยต้องกลับเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่หากป่วยต้องชี้แจงว่าถึงระยะเวลารักษาซึ่งตนไม่ได้แช่ง ทั้งนี้ตนอยากเห็นความตรงไปตรงมา หากนายทักษิณตัดสินใจจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว
“หากปล่อยให้มีความสงสัย และเกิดเป็นคลื่นใต้น้ำ อาจจะมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมได้ อย่างไรก็ดีนายแพทย์ใหญ่ไม่ได้ให้คำตอบในรายละเอียดการรักษานายทักษิณ เท่าที่ระบุกับ กมธ. ได้คือ ไม่ขอตอบ ดังนั้นยังไม่ทราบอาการ หรือกรณีที่ต้องผ่าตัด ทั้งนี้ กมธ.จะให้เวลาอีก 1 เดือนคือ ในช่วงเดือนตุลาคม ก่อนที่นายทักษิณจะครบสิทธิการรักษาตัวนอกเรือนจำ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกครั้ง อย่างไรก็ดีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกันทราบว่ามี กมธ.คณะอื่นๆ สนใจจะติดตามเช่นกัน” นายสมชาย กล่าว.
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์