ลุ้น30กันยานี้ .... ชี้ขาด ‘สร้างรัฐสภา’

ลุ้น30กันยานี้ .... ชี้ขาด ‘สร้างรัฐสภา’

ย้อน‘มหากาพย์10ปี’ สัญลักษณ์นิติบัญญัติ ‘งบพุ่ง-สารพัดปมร้อน’ “ปดิพัทธ์” แย้ม2ทางออก หวัง “ปิดจ๊อบ”ฉลองวันรัฐธรรมนูญ

กลายเป็นมหากาพย์ที่ยืดเยื้อยาวนานนับทศวรรษสำหรับโครงการก่อสร้าง  “สัปปายะสภาสถาน” หรือ “รัฐสภาแห่งใหม่”  

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “รัฐสภา” ซึ่งถือเป็นจุดบัญชาการของฝ่ายนิติบัญญัติ และมีความสำคัญไม่แพ้ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมา เปรียบเสมือนเรือที่เล่นฝ่าคลื่นลมจากหลากหลายสารพัดปัญหาที่คาราคาซังมาอย่างยาวนาน และยังไม่มีความชัดเจนว่าที่สุดกระบวนการก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์แบบ100%เมื่อใด 

 

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว “รองอ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ประกาศเป็น “ตัวแทนประชาชน” ทำหน้าที่ปัดกวาดโครงการก่อสร้างที่เป็นเสมือนขยะที่ซุกใต้พรมยืดเยื้อมายาวนาน 

ลุ้น30กันยานี้ .... ชี้ขาด ‘สร้างรัฐสภา’

เขาบอกว่า สิ่งแรกที่ทำ คือ  “สั่งเบรก” คณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และอาคารประกอบ ที่พิจารณา รายงานของที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ CAMA และบริษัทผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ATTA Consortium ซึ่งเสนอให้ “ลงมติรับทราบ การตรวจรับงานครบ 100%” เมื่อ 18 ก.ย. และชะลอการพิจารณาไปจนกว่า “รองฯอ๋อง” จะกลับจากการ พาคณะไปดูงานที่ ประเทศสิงคโปร์ ในปลายเดือนก.ย. นี้

 

ในการแถลงของ “ปดิพัทธ์” เมื่อ 21 ก.ย. นั้น พอสรุปเหตุผลที่ “สั่งเบรก” คือ “ความไม่สมบูรณ์ของแบบ” และในชอตต่อไปที่จะพิจารณาคือ ปัญหาในแง่ “วิศวกรรมและสถาปัตยกรรม”

อย่างที่ทราบกันดี “โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่” ตามสัญญาก่อสร้าง เริ่มต้นในวันที่ 30 เม.ย. 2556 ในวงเงินงบประมาณ 12,280 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 900 วัน

 

ทว่าเมื่อถึงหน้างานจริงกระบวนการก่อสร้างกลับยืดเยื้อมีการขยายสัญญาก่อสร้างมาแล้วถึง 4รอบ  รอบแรก 378 วัน ตั้งแต่ 25 พ.ย.2558 - 15 ธ.ค. 2559 ด้วยเหตุผลปัญหาเรื่องที่ดิน และการขนย้ายดิน เป็นเหตุให้ต้องต่อสัญญา รอบสอง อีก421 วัน ตั้งแต่ 16 ธ.ค.2559 - 9 ก.พ. 2560

 

แต่ก็ยังมีปัญหาอีกเรื่องแรงงาน-สถานการณ์โควิดระบาด ต้องต่อสัญญา รอบสาม อีก 678 วัน ตั้งแต่ 10 ก.พ. 60 - 15 ธ.ค. 62 และด้วยปัญหาการหาผู้รับจ้างสัญญาประกอบอื่น ต้องต่อสัญญารอบที่สี่ จำนวน 382 วัน จาก 16 ธ.ค. 62 ถึง 31 ธ.ค. 2563

 

รวมเวลาที่ขยายสัญญา 4 รอบ รวม 1,864 วัน และเมื่อรวมกับสัญญาตั้งแต่เริ่มแรก มีระยะเวลารวม 2,764 วัน

ลุ้น30กันยานี้ .... ชี้ขาด ‘สร้างรัฐสภา’

เมื่อหมดสัญญารอบ 4 สภาฯ ไม่ต่อสัญญาครั้งที่ 5 เพราะไม่มีเหตุผลที่สมควร พร้อมเรียกค่าปรับจากบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ในฐานะว่ารับว่าจ้างให้ก่อสร้าง เป็นจำนวน12ล้านบาทต่อวันนับตั้งแต่สิ้นสุดสัญญารอบที่4 จนกว่ากระบวนการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ

 

เป็นเหตุให้ บริษัทซิโน-ไทยฯ ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เรียกค่าเสียหาย 1,590 ล้านบาท ต่อสู้ประเด็นการส่งมอบพื้นที่ของรัฐสภาที่ล่าช้า ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา

 

ถอด “บันทึกการประชุม” หลังจากที่สิ้นสุดสัญญารอบ 4 มีการตรวจสอบจาก กมธ.กิจการสภาฯ เมื่อ 2 มิ.ย. 65 ระบุคำชี้แจงจาก “โชติจุฑา อาจสอน” กรรมการบริหารโครงการฯ CAMA ว่า การทำงานตั้งแต่ 1 ม.ค.2564 เป็นไปภายใต้สัญญาหลักของการก่อสร้างโครงการ เนื่องจากระยะเวลาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญา แต่งานตามสัญญาจะสิ้นสุด เมื่อส่งมอบงานได้ 100% ของการตรวจรับงานตามสัญญาที่ระบุไว้ ซึ่งเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินงวดตามสัญญา และมีกำหนดแล้วเสร็จ 29 พ.ย. 2565

ลุ้น30กันยานี้ .... ชี้ขาด ‘สร้างรัฐสภา’

“งานที่ไม่เสร็จ ภูมิสถาปัตยกรรมภายนอก แก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ทั้งไม้ปูพื้นที่ไม่ตรงตามข้อกำหนดก่อสร้าง แบบใช้ไม้ตะเคียน แต่ผู้รับจ้างใช้ไม้พะยอม ,ไม้สักรอบอาคาร ที่เสื่อมสภาพ เพราะโดดแดดส่อง ต้องแก้ไข นอกจากนั้นยังรายละเอียดงานนอกสัญญาต้องเพิ่มเติมจากแบบ” คำชี้แจงจาก กรรมการบริหารโครงการฯ CAMA

ย้อนรอย “อาถรรพ์” มหากาพย์โครงการก่อสร้างรัฐสภา ถูกขยายความลามเป็นกลเกมของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะในยุค “สนช.57”  มีการสั่งเด้ง “เลขาธิการรัฐสภา” ซึ่งมีอำนาจเทียบเท่า “ปลัดกระทรวง” มาแล้ว2คน 

คนแรก “สุวิจักขณ์ นาควัชระชัย” หรือต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัชระชัยย์ นาควัชรชัยท์”ถูกเด้งเข้ากรุไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ว่ากันว่า เหตุผลยามนั้นมาจากการผสมโรงทั้งเหตุผลทางด้านการเมือง  รวมถึงตัว “สุวิจักขณ์” เองก็มีแผลถูกตรวจสอบกรณีใช้งบรัฐสภา โดยเฉพาะครหาใช้งบจัดซื้อ “นาฬิกาหรู” 15ล้านบาทต่อเรือน ติดรอบรัฐสภา 

ลุ้น30กันยานี้ .... ชี้ขาด ‘สร้างรัฐสภา’

โยงไปถึง “โครงการก่อสร้างรัฐสภา” ที่ถูกตั้งปมว่าทุจริต โดยเฉพาะ เรื่อง “ดิน” แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มี องค์กรตรวจสอบ ชี้ขาดเรื่องดังกล่าว

ถัดมา  “จเร พันธุ์เปรื่อง” อดีตเลขาธิการสภาฯ​ ที่รับไม้ต่อจาก “สุวิจักขณ์” ถูกคำสั่งคสช. ตามม.44 เด้งเข้ากรุ เป็นที่ปรึกษานายกฯ จนเกษียณอายุราชการ กลายเป็นอาถรรพ์ที่2

ลุ้น30กันยานี้ .... ชี้ขาด ‘สร้างรัฐสภา’

แถมถูก “สนช.” ตั้งกรรมการสอบวินัย ประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวข้อง “ทุจริตดินในพื้นที่ก่อสร้าง” แต่จนถึงขณะนี้ผลสอบที่ว่านั้นไม่เคยมีปรากฏ หรือยืนยันในข้อกล่าวหาที่ว่า

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมี “บิ๊กรัฐสภา” ที่ถูก “สั่งปลด” คือ “คุณวุฒิ ตันตระกูล” รองเลขาธิการสภาฯ ที่ร่วมเป็นคณะทำงานเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ ซึ่งถูกมติคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา(ก.ร.) ที่ขณะนั้น ประธานก.ร. คือ พรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธานสนช. ให้ “ปลดออกจากราชการ”  เมื่อ 8 ก.ย. 2559 ด้วยเหตุผล “ไม่อุตสาหะในการก่อสร้างโครงการรัฐสภาใหม่ ที่พบความล่าช้า” แต่ต่อมาเจ้าตัวใช้สิทธิอุทธรณ์ และไม่พบความผิดตามการลงโทษ และได้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม เมื่อ 24 ก.ค. 2560 ตามมติ ก.ร. ที่มี “พรเพชร” เป็นประธาน

ลุ้น30กันยานี้ .... ชี้ขาด ‘สร้างรัฐสภา’

ข้ามมาที่ “สภาฯ ชุดที่25” ได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาตรวจสอบ เช่นเดียวกัน กรรมาธิการกิจการสภาฯ ที่มี “อนันต์ ผลอำนวย” อดีต สส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐที่รับหน้าที่กำกับ ติดตาม ให้งานก่อสร้างเดินหน้าอย่างไร้ปัญหาน้อยที่สุด

 

แต่ก็ดูเหมือนจะ “ล้วง” ไปไม่ถึงต้นตอที่แท้จริงได้ จะมีก็แต่ภาพของการเดินสาย ของ “ภาคประชาชน” อย่าง “วัชระ เพชรทอง” และ “วิลาศ จันทรพิทักษ์” อดีตสส.ประชาธิปัตย์ ที่ยื่นเรื่องผ่านประธานสภาฯ , สำนักงานเลขาธิการสภาฯ​เพื่อทักท้วงความไม่ชอบมาพากล

 

ล่าสุด “วัชระ” ทำหนังสือส่งตรง ถึง “ปดิพัทธ์” คัดค้านการ ตรวจรับงาน 100% ที่จะพิจารณาอีกครั้งในปลาย ก.ย. นี้ ที่ะพบการก่อสร้างที่ไม่สมบูรณ์ รวมถึงข้อบกพร่องต่างๆ

โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ถือเป็นโครงการก่อสร้างที่ซับซ้อน และมีรายละเอียดค่อนข้างมาก รวมถึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง หากปักธง ในแง่ความโปร่งใส และ ยึดการรักษาประโยชน์ของราชการและประชาชน

 

“วัชระ” ฝากข้อเสนอให้ รองฯอ๋อง ต้องกลับไปทำการบ้าน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบางฝ่ายที่ต้องการ ตรวจรับงานแบบ 100% และควรคำนึง ค่าปรับที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่สภาฯ ไม่ต่อสัญญา ตั้งแต่ 1 ม.ค. 64 ถึงปัจจุบัน ที่มีอัตรา 12ล้านบาทต่อวัน เพื่อรักษาประโยชน์ของราชการและประชาชน โดยไม่ปล่อยให้ รัฐสภาและประชาชน ตกเป็นจำเลยร่วมกับโครงการนี้ หลัง ซิโน-ไทย ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เรียกค่าเสียหาย 1,590 ล้านบาท เพราะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า

ลุ้น30กันยานี้ .... ชี้ขาด ‘สร้างรัฐสภา’

ระยะเวลาที่ล่วงเลยมาถึงเวลานี้ ต้องจับตาภายในวันที่30ก.ย.นี้ ที่แม้จะมีการเสนอให้ตรวจรับงาน 100% แต่เมื่อยังไม่สิ้นข้อสงสัยในเรื่อง “ข้อบกพร่อง” ต่างๆ ที่ต้องตามแก้ไข เช่นนี้ก็ต้องจับตาว่าบทสรุปจะออกมาอย่างไร 

ด้วยภาพของการเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในฐานะฐานบัญชาการของฝ่ายนิติบัญญัติ “ปดิพัทธ์” ตั้งเป้าไว้ว่า จะปิดจ๊อบเพื่อเป็นการฉลองวันรัฐธรรมนูญ สัญลักษณ์ของประชาธิปไตยในระบบการเมืองไทย ช่วง10ธ.ค.ที่จะถึงนี้ให้จงได้!.