เหตุการณ์ '14 ตุลาคม 2516' เกิดขึ้นอย่างไรและส่งผลอะไร

เหตุการณ์ '14 ตุลาคม 2516' เกิดขึ้นอย่างไรและส่งผลอะไร

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของกลุ่มนักศึกษาประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้จุดไฟติด นักศึกษาประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากอย่างไม่ยอมถอย

เนื่องจากมีปัจจัยจำนวนมากที่ช่วยส่งเสริมกันและกันอย่างพอเหมาะพอเจาะ ไม่ว่าจะเป็น ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดการผูกขาด การกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่ไม่เป็นธรรม

ค่าแรงในยุคนั้นต่ำมาก คือวันละ 10 บาทและรัฐบาลเผด็จการทหารห้ามคนงานจัดตั้งสหภาพแรงงานด้วย ภาวะความเดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพ เช่น ข้าวสารมีราคาสูงขึ้นมากในช่วงนั้น โดยพ่อค้าได้กำไรมากกว่าชาวนา

การผูกขาดอำนาจการเมืองการทหาร โดยกลุ่มจอมพลถนอม-ประภาสติดต่อกันนาน (ราว 10 ปี ก่อนหน้านั้นคือ จอมพลสฤษดิ์อีก 5 ปี) และมีการคาดหมายว่า 2 ผู้นำรัฐบาลเผด็จการจะให้พันเอกณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอม (ซึ่งเป็นลูกเขยจอมพลประภาสด้วย) สืบอำนาจต่อ

นำไปสู่การขัดแย้งกับนายทหารกลุ่มอื่นๆ ที่มีตำแหน่งและอาวุโสระดับรองจากจอมพลถนอม-ประภาสลงมา

นอกจากนี้แล้ว การแพร่ระบาดของการทุจริตฉ้อฉล (คอร์รัปชัน) การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้อำนาจบาตรใหญ่ของผู้มีอำนาจ ฯลฯ ขยายตัวมาถึงจุดที่เริ่มสร้างความไม่พอใจในหมู่นักศึกษาและประชาชนมากขึ้น

การเติบโตของเศรษฐกิจ การศึกษา และสื่อสารมวลชน ทำให้มีการเผยแพร่ความคิดแบบเสรีประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง

มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น (รวมทั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาได้จำนวนมาก) มีนักศึกษาปัญญาชนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีความรู้/ความตื่นตัวทางการเมืองสังคมเพิ่มขึ้น

กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมของนิสิตนักศึกษาและวรรณกรรม เช่น บทกวี เรื่องสั้น บทความต่างๆ มีส่วนหนุนช่วยให้นักศึกษาสนใจปัญหาสังคมการเมืองเพิ่มขึ้น

พวกนักศึกษาในช่วงปี 2514-2516 เริ่มมีบทบาทในการรณรงค์คัดค้านรัฐบาลเผด็จการในประเด็นต่างๆ มาตามลำดับ ดังนั้น เมื่อกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนกล้าหาญที่จะชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ประชาชนส่วนต่างๆ จึงให้การสนับสนุนมาก

เหตุการณ์ \'14 ตุลาคม 2516\' เกิดขึ้นอย่างไรและส่งผลอะไร

แม้แต่นักธุรกิจสมัยใหม่ในยุคนั้นจำนวนมากที่ไม่พอใจกับปัญหาความด้อยประสิทธิภาพ/ล่าช้าและการทุจริตฉ้อฉลของรัฐบาลและระบบราชการ ก็คงอยากได้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเช่นกัน

ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 นั้น สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจนถึงจุดที่เกิดสภาพปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อย่างทั่วทุกด้าน ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็น จุดใกล้วิกฤติ

เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เหมาะสม คือมีผู้กล้าท้าทายรัฐบาลเผด็จการที่ประชาชนเริ่มไม่อยากอดทนต่อไปแล้ว และรัฐบาลเผด็จการใช้วิธีการที่ล้าหลังสุดโต่ง คือใช้อาวุธปราบปรามพวกนักศึกษากลุ่มที่ประท้วงอย่างรุนแรง

และออกข่าวเท็จว่ากลุ่มนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ติดอาวุธ จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่รักความเป็นธรรมเห็นใจเข้าข้างนักศึกษา

แม้ว่าประชาชนหลายคนในยุคนั้นอาจไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมาก่อนหรืออาจไม่ได้สนใจมากนักก็ตาม แต่ลึกๆ แล้วประชาชนไทยที่มาจากสังคมชนบท เป็นคนที่รักพวกพ้องและรักความเป็นธรรม

เมื่อพวกเขาได้เห็นความไม่อยุติธรรมที่ชัดเจน เช่น กรณีที่รัฐบาลส่งทหารตำรวจอาวุธครบมือมาปราบนักศึกษาที่เป็นฝ่ายค้านชุมนุมโดยสันติวิธี ไม่ได้มีอาวุธอะไรเลย

ประชาชนในยุคนั้นมองว่านักศึกษาคือเยาวชนลูกหลาน เป็นพลังบริสุทธิ์ที่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง

การที่นักศึกษาประชาชนไม่ยอมจำนนต่อมาตรการการปราบปรามของรัฐบาลเผด็จการ แต่กลับตอบโต้ด้วยการขว้างปาตำรวจ ทหาร ทุบป้อมตำรวจ เผาอาคารตึกกกป. - กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน (ที่พันเอกณรงค์ใช้เป็นสำนักงานหาเงิน) ขับรถเมล์ชนรถถัง ฯลฯ

ขณะที่ตำรวจทหารก็ปราบปรามผู้ประท้วงรุนแรงขึ้น ทำให้เรื่องการปราบปรามลุกลามไปจนเกิดเป็นสภาพที่รัฐบาลปกครองให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบไม่ได้

กลุ่มการเมืองอื่นจึงใช้สถานการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกับการ “จลาจล” นี้ สร้างพันธมิตรกับขบวนการนักศึกษาประชาชน บีบให้ผู้นำรัฐบาล 3 คนที่ถูกประชาชนตอนนั้นเรียกว่า “3 ทรราช” ต้องยอมลาออกจากทุกตำแหน่งและบินออกนอกประเทศไป เปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

พลังเริ่มต้นและสำคัญที่สุดคือ การประท้วงของขบวนการนักศึกษาประชาชน

ลำพังนักศึกษาประชาชน (รวมทั้งนักเรียนระดับมัธยม อาชีวศึกษา ฯลฯ) ที่ออกไปชุมนุมถึงจะมีจำนวนมากราว 5 แสนคน แต่พวกเขาไม่มีกำลังอาวุธ ไม่มีการจัดตั้งองค์กรที่เข้มแข็ง ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะเอาชนะรัฐบาลเผด็จการทหารได้โดยตรง

ที่ขบวนการนักศึกษาฯ ชนะได้ก็เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน ประชาชนเชื่อว่านักศึกษาคือพลังบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นเครื่องมือของพรรคหรือกลุ่มการเมืองใด

แม้แต่หนังสือพิมพ์ของเอกชนที่ปกติต้องเซ็นเซอร์ (ควบคุม) ตัวเองในยุคเผด็จการก็ยังพยายามรายงานข่าวแบบเรียบๆ ตามความเป็นจริงว่านักศึกษาถูกปราบปรามอย่างไรบ้าง

ปัจจัยที่สำคัญต่อมาคือ การที่กลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองและการทหารกลุ่มอื่นเข้ามาแทรกแซง ใช้สถานการณ์ที่นักศึกษาประชาชนแข็งข้อต่ออำนาจรัฐ ผลักดันบีบบังคับ (หรือแม้แต่อาจจะใช้วิธีหลอก) ให้ทั้งจอมพลถนอม-จอมพลประภาสและพันเอกณรงค์ยอมลาออกจากตำแหน่งและบินออกไปต่างประเทศ

เหตุการณ์ \'14 ตุลาคม 2516\' เกิดขึ้นอย่างไรและส่งผลอะไร

อย่างไรก็ตาม พลังนักศึกษาประชาชนเป็นทั้งปัจจัยเริ่มต้นและปัจจัยที่สำคัญที่สุด ถ้าหากนักศึกษาประชาชนไม่พร้อมใจกันต่อสู้กับกลุ่มจอมพลถนอม-จอมพลประภาสอย่างกล้าหาญถึงขั้นที่อาจจะต้องสละเลือดเนื้อและชีวิตแล้ว

กลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมกลุ่มอื่นที่ลึกๆ แล้ว อาจเคยคิดในใจว่าอยากจะผลักดันกลุ่มจอมพลถนอม-จอมพลประภาสลงไป ก็ยังคงจะไม่มีช่องทาง ไม่มีสถานการณ์ที่เหมาะสมที่จะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจลงมือผลักดันได้จริง

ถ้าไม่มีขบวนการ 14 ตุลาคมเกิดขึ้น ผู้มีอำนาจกลุ่มอื่นก็คงจะประนีประนอมแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มถนอม-ประภาสต่อไปได้ ชัยชนะของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม จึงเป็นเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่าง “ประจวบเหมาะ”

ด้วยปัจจัยต่างๆ ทางสังคมที่นักศึกษาประชาชนมีส่วนสำคัญ ไม่ใช่เกิดขึ้นโดย “บังเอิญ” หรือแบบสุ่มๆ หรือวางแผนและจัดการโดยกลุ่มการเมืองอื่นที่ต้องการโค่นกลุ่มจอมพลถนอมอย่างที่นักวิเคราะห์สถานการณ์ภายหลังบางคนกล่าวอ้าง

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ส่งผลอะไร

ไม่ว่าการสั่งตะลุมบอนนักศึกษาประชาชนในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จะเกิดจากความผิดพลาดเนื่องจากความชุลมุน หรือมีใครอยู่เบื้องหลังเพื่อสร้างสถานการณ์ เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นไปแล้วอาจจะด้วยหลายปัจจัยประกอบกัน

เรื่องที่ผู้เขียนอยากให้ความสำคัญกว่าคือประเด็นที่ว่า 14 ตุลาคม 2516 มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างไร เราจะประเมินเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินที่ยาวนานของประวัติศาสตร์กันอย่างไร

ในช่วงเกิดการปะทะกันช่วง 14-15 ตุลาคม 2516 นั้น นักศึกษามีบทบาทและได้รับการยอมรับจากประชาชนสูงมาก พวกตำรวจ (และทหารด้วย) ตระหนักว่านักศึกษาประชาชนในกรุงเทพฯ เกลียดชังพวกตน ต่างถอดเครื่องแบบเวลาออกไปข้างนอก

สถานีตำรวจในกรุงเทพฯ หลายแห่งถูกทิ้งร้าง ตำรวจไม่กล้าไปทำงาน นักศึกษาต้องไปช่วยทำงานดูแลจราจรและรับแจ้งความที่สถานีตำรวจบางแห่งแทน

แม้นายทหารและกลุ่มการเมืองกลุ่มอื่นจะเป็นผู้เดินหมากทางการเมืองจนเอาชนะกลุ่ม 3 ทรราชได้จริง แต่ในช่วงสถานการณ์ขัดแย้งเฉพาะหน้านั้น รัฐบาลใหม่นำโดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องเล่นบทบาทยอมรับนักศึกษาประชาชนไปก่อน

รัฐบาลใหม่ยังเชิญให้ผู้แทนนักศึกษาไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ของทางราชการ เพื่อให้ประชาชนเชื่อถือและยอมยุติการต่อต้านรัฐบาล แสดงว่ารัฐบาลใหม่ในตอนนั้นยังไม่มั่นใจมากพอว่าพวกนักศึกษาประชาชนจะเชื่อถือรัฐบาลและยอมหยุดประท้วงหรือไม่ (พีรพล ตริยะเกษม จากหนังสือ 50 ปี TU13 มรดกความคิด)

เหตุการณ์ \'14 ตุลาคม 2516\' เกิดขึ้นอย่างไรและส่งผลอะไร

อย่างไรก็ตาม ขบวนการนักศึกษาประชาชนในยุคนั้นรวมตัวกันขึ้นมาเฉพาะกิจแบบหลวมๆ ไม่ได้มีกำลังคนและการจัดตั้งองค์กรเข้มแข็งขนาดที่จะเป็นพรรคการเมืองใหญ่เพื่อส่งคนสมัคร ส.ส. และเข้าไปเป็นรัฐบาลได้

ดังนั้นช่วง 3 ปี หลัง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ที่กลุ่มตัวแทนเจ้าที่ดินนายทุนผลัดกันเข้าไปเป็นรัฐบาล (และฝ่ายค้านด้วย) นั้น จึงไม่ได้ทำให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในระดับหนึ่ง มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนส่วนใหญ่ เป็นอดีตนักการเมืองตัวแทนของชนชั้นสูง/ชนชั้นกลาง มีคนหนุ่มสาว ปัญญาชนฝ่ายหัวก้าวหน้าสมัครและได้รับเลือกไปเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งแต่ก็เป็นเสียงส่วนน้อย

ปัญหาความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจสังคมในแง่ต่างๆ ยังคงดำรงอยู่ ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรมอย่างมากเพียงพอ

สิ่งที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนทำได้คือ แค่เข้าไปรับฟังปัญหาของประชาชนและเสนอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมในประเด็นต่างๆ เช่น ลดค่าเช่านา เพิ่มค่าจ้างแรงงาน ฯลฯ

ขบวนการนักศึกษาประชาชนในช่วงแรกแม้จะได้รับการยอมรับสูงแต่ไม่มีกำลังผลักดันมากพอที่จะทำให้ข้อเรียกร้องได้ผลในทุกเรื่อง