“อัครนันท์” อัด สสส.เน้นหนัก โครงการ "เมา ไม่ ขับ" จี้ ผู้บริหารใส่แว่นขยายเกลี่ยงบฯ

“อัครนันท์” อัด สสส.เน้นหนัก โครงการ "เมา ไม่ ขับ" จี้ ผู้บริหารใส่แว่นขยายเกลี่ยงบฯ

“อัครนันท์” อัด สสส.เน้นหนัก โครงการ เมา ไม่ ขับ ลืมทุ่มงบ โครงการแก้ปัญหายาเสพติด จี้ ผู้บริหารใส่แว่นขยายเกลี่ยงบฯ

ที่รัฐสภา นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.จังหวัด กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย อภิปรายรายงานตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ประจำปี 2565 หรือ รายงานกองทุน สสส.ว่า การดำเนินงานของ สสส. เน้นหนักในเรื่องโครงการ เมาแล้วขับ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นผลงานที่ประจักษ์และเด่นชัดมากที่สุด สสส.แต่ สสส.ไม่ใช่หน่วยงานภายใต้กำกับการโดยดูแลเรื่องยาเสพติดโดยตรง และปัจจุบันยาเสพติดเป็นปัญหาที่ทุกคนรับรู้ได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุด ซึ่งตรงตามรายงานที่ สสส. ได้รายงานไว้คือ ประชาชนมีแนวโน้มการสูบบุหรี่ลดลง การดื่มแอลกอฮอล์คงที่ แต่ยาเสพติดยังมีสถิติ เป็นสิ่งที่สวนทาง เช่นการหาซื้อได้ง่าย และเป็นที่แพร่หลายในทุกช่วงวัย ทุกวงการ ทั้งวงการศึกษา ที่สามารถหาซื้ออุปกรณ์เสพยาเสพติดได้ที่หน้าโรงเรียน

โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563-2566 พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากสารเสพติดในช่วงอายุ 12-15 ปีเพิ่มขึ้น และพบว่ามีพฤติกรรมการความรุนแรงในครอบครัว

ซึ่งจะเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2565 จนถึงปัจจุบัน และการสำรวจสถิติความรุนแรงในครอบครัว ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าผู้ก่อเหตุความรุนแรงส่วนใหญ่มาจากปัญหายาเสพติดกว่า 25 %

โดยนายอัครนันท์ ได้ยกตัวอย่างการใช้ความรุนแรงที่จังหวัดกาญจนบุรี มาอภิปรายในสภาว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงเดือนมิถุนายน 2566 9 เดือนที่ผ่านมาจังหวัดกาญจนบุรี พบ ผู้ประสบปัญหาในครอบครัวจำนวน 45 ราย มาจากปัญหาสุราและยาเสพติด , ปัญหาหึงหวง และ  บันดาลโทสะ

ทั้งนี้จากการได้พูดคุยกับหมอจิตแพทย์ ประจำจิตเวช โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี พบว่าการใช้สารเสพติดในปัจจุบันถูกใช้อย่างแพร่หลาย และพบผู้ป่วยจิตเวชที่มีอายุน้อยที่สุดเพียง 9 ปี

ทั้งนี้จากสถิติผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดและการความรุนแรงตั้งแต่ปี 2563 จนถึง 2565 พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 อย่างไรก็ตามจึงมองว่าการประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลยังไม่ทั่วถึง หากจะนำงบประมาณมารณรงค์เรื่องยาเสพติดให้ติดหูติดตา เช่น โครงการเมาไม่ขับ อาจจะทำ ใครปัญหาผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด และปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวอาจน้อยลง 

ดังนั้นจึงเป็นการสะท้อนถึงการทำงานของ สสส. ในการจัดทำงบประมาณ เพื่อใช้ในการป้องกันและรณรงค์เรื่องยาเสพติดน้อยเกินไป 

 “ผมจึงอยากฝากไปถึงผู้บริหารงบประมาณ ในส่วนนี้ต้องช่วยกันใส่แว่นขยายให้กับปัญหานี้ เพื่อให้ปัญหานี้ลดน้อยลง และไม่ให้เกิด เป็นปัญหาระดับชาติต่อไป”