"รองเลขาฯสภา"ชงทบทวนข้อบังคับสภาฯ ปมเลือกนายกฯซ้ำ-โหวตข้างมากได้ตำแหน่ง

"รองเลขาฯสภา"ชงทบทวนข้อบังคับสภาฯ ปมเลือกนายกฯซ้ำ-โหวตข้างมากได้ตำแหน่ง

"รองเลขาฯสภา" เผย ข้อบังคับประชุมสภา เขียนให้โหวตนายกฯ ซ้ำได้ - ได้ตำแหน่งแม้เสียงโหวตไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แต่อาจต้องทบทวนใหม่

สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภา ร่วมจัดสัมมนาและอภิปรายในหัวข้อรัฐสภากับบทบาทที่ท้าทายในการริเริ่มเสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายของ สส. และการหนุนเสริมร่างกฎหมายของประชาชน

 

โดยว่าที่ ร้อยตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวตอนหนึ่งถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอมาจากสภาฯ ชุดที่ผ่านมา ว่า เมื่อหมดสมัยของรัฐบาล มีการยุบสภาแล้ว ร่างพ.ร.บ. และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถือว่าตกไป แต่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ สามารถยืนยันต่อสภาฯ ได้ภายใน 60 วันนับจากวันเรียกประชุมรัฐสภานัดแรก ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวครบกำหนด เมื่อ 31 ส.ค.  เนื่องจากไม่มี ครม.ใหม่ ดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว ดังนั้นร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดย ครม. และ สส. นั้นต้องเร่ิมนับหนึ่งใหม่ รวมไปถึงร่างพ.ร.บ.ที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอ ยกเว้นเป็นร่างของภาคประชาชนที่ถูกบรรจุไว้ในระเบียบวาระแล้ว ซึ่งมีกระบวนการที่ภาคประชาชนที่เสนอร่างกฎหมายนั้นต้องยืนยัน

“ทั้งนี้มีประเด็นที่อาจต้องทบทวนในเรื่องการเสียโอกาสของประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายแต่ยังอยูในกระบวนการก่อนบรรจุวาระ เช่น เสนอให้นายกฯ รับรองเพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน แต่นายกฯ ยังไม่รับรอง ทำให้ไม่ทันบรรจุระเบียบวาระ เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะตั้ง ครม.ช้า ซึ่งไม่แน่ใจว่าคนร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้คิดถึงการตั้งนายกฯตามบทเฉพาะกาลไว้หรือไม่ หากเป็นชั้นสส.อาจจะทัน” ว่าที่ ร้อยตรี อาพัทธ์ กล่าว

ว่าที่ ร้อยตรี อาพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ฉบับเก่าๆ กำหนดประเด็นการเลือกนายกฯ ให้เลือกซ้ำได้ แต่ข้อบังคับรัฐสภาไม่ได้เขียน ไม่แน่ใจว่าได้คิดหรือไม่ ทั้งนี้ข้อบังคับการประชุมสภาฯ กำหนดไปถึงกรณีว่าหากรวมเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แต่คนที่ได้คะแนนสูงสุด ถือว่าเป็นคนที่ถูกเลือก ทั้งนี้ต้องให้สภาทบทวนเพราะเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา