"พท." เสียงแตก ปมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ คลายล็อกเงื่อนไขผ่านประชามติ

"พท." เสียงแตก ปมแก้ พ.ร.บ.ประชามติ  คลายล็อกเงื่อนไขผ่านประชามติ

“พท.” เสียงแตก ปม แก้พ.ร.บ.ประชามติ “ชูศักดิ์” ย้ำไม่จำเป็นต้องแก้ไข เหตุทำอย่างรอบคอบแล้ว  เตรียมชง ครม.  เรื่องทำประชามติ กรอบคำถาม มั่นใจหากประชามติผ่าน สว.ไม่กล้าขวาง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่ สส.พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นชอบต่อการเลื่อนญัตติเสนอคำถามประชามติแก้รัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกลให้ขึ้นมาพิจารณาก่อนวาระอื่น เมื่อ 30 ส.ค. ว่า เหตุผลที่สส.พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว เนื่องจากพรรคเตรียมทำเรื่องดังกล่าวให้เป็นวาระและนโยบายที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการ อีกทั้งเห็นว่าแม้จะให้สภาฯ พิจารณาเรื่องคำถามประชามติ แต่กระบวนการไม่สามารถจบได้ เพราะตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 กำหนดว่าต้องใช้ความเห็นชอบทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ดังนั้นแม้สภาฯเห็นชอบ แต่ต้องส่งไปยังวุฒิสภาให้พิจารณา

 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่าในประเด็นที่ต้องใช้มติของสองสภานั้นเป็นปัญหาและอนาคตจำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อให้การเห็นชอบกับเรื่องที่จะทำประชามติหากผ่านสภาฯ สามารถเสนอไปสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้

 

เมื่อถามถึงแนวคิดต่อการแก้ไขประเด็นอื่นในพ.ร.บ.ประชามติ เช่น เกณฑ์ออกเสียงเพื่อให้เรื่องที่ทำประชามตินั้นถูกเห็นชอบ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา”

ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเดียวกันว่า เหตุที่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลต่อการพิจารณาคำถามประชามตินั้น เพราะมองว่าต่อให้สภาฯเห็นชอบยังไม่จบ เพราะต้องส่งให้วุฒิสภาอีก ซึ่งในหลักการแล้วสว.อาจจะไม่เห็นชอบทำให้คำถามนั้นตกไป อีกทั้งเรื่องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญนั้นจะถูกกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงต้องการให้เป็นกระบวนการของรัฐบาล

 

นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอ ครม. ให้พิจารณาคำถามประชามติ ในการประชุมครม. ในกระบวนการการทำประชามมติและลักษณะของคำถาม โดยมีประเด็นใหญ่ คือ คำถาม ที่เห็นตรงกันในพรรค คือ ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้จัดทำ

การทำประชามติครั้งแรก คือการตั้งคำถามว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยไม่มีตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้  ส่วนที่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ยังมี สว.ปัจจุบันดำรงวาระอยู่นั้น ผมมองว่าหากผ่านได้แล้วเชื่อว่ารัฐสภาน่าจะผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.  เพราะประชาชนเห็นชอบแล้ว ไม่สมควรฝืนมติของประชาชน และเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มหมวดใหม่ จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยต้องเริ่มจากการเลือกตั้งส.ส.ร.ก่อน” นายชูศักดิ์ กล่าว

 

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะปัดฝุ่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เคยเสนอไว้ในสภาฯ ชุดที่ผ่านมา หรือจัดทำร่างใหม่เสนอ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อยู่ระหว่างพิจารณา และคาดว่าจะทำใหม่ โดยเฉพาะเรื่องกรรมาธิการฯ ที่ถูกวิจารณ์ว่าหากไม่มีกรรมาธิการที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเลยอาจจะมีประเด็นปัญหาได้ ทั้งนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร  ซึ่งกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ส.ส.ร. ดำเนินการ อาจใช้เวลากว่า 3 ปีครึ่ง

 

เมื่อถามว่าในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องรับฟังความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องรับฟัง โดยตนเข้าใจว่า ครม. ต้องเปิดโอกาสให้พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคการเมืองทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นรวมถึงจะรับฟังในประเด็นต่างๆ ส่วนคำถามประชามติที่ภาคประชาชนเสนอนั้นต้องให้ ครม.เป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการตามหรือไม่

 

เมื่อถามว่ากรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ พรรคพลังประชารัฐที่ไม่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ มองว่าจะคุยกันได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องคุยกัน และเชื่อว่าจะไปด้วยกันได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นคือนโยบายของรัฐบาลที่ถือว่าเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

 

เมื่อถามถึงแนวคิดของการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ที่เรื่องจะผ่านประชามติ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ เพราะสมเหตุสมผลของเนื้อหา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย คือ ประชาชนต้องมาออกเสียง เกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ และต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธินั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว.