"บก.ลายจุด" ติง ดิจิทัลวอลเล็ต 5.4แสนล้าน จ่อสร้างหนี้-ภาวะเงินเฟ้อ

"บก.ลายจุด" ติง ดิจิทัลวอลเล็ต 5.4แสนล้าน จ่อสร้างหนี้-ภาวะเงินเฟ้อ

"สมบัติ" โพสต์เฟซบุ๊ค ตั้งคำถาม ดิจิทัลวอลเล็ต5.4แสนล้านบาท ไม่ตอบโจทย์เศรษฐศาสตร์ หลังเตรียมหั่นรายจ่ายภาครัฐมาใช้ ชี้อาจก่อภาวะเงินเฟ้อ -สร้างหนี้

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ เศรษฐศาสตร์ดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อแสดงความเห็นต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยและเตรียมผลักดันเป็นนโยบายภาคปฏิบัติของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ว่า พรรคเพื่อไทย ระบุถึงที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้ดิจิทัลวอเล็ตอยู่ที่ 5.4แสนล้านบาท โดยมาจากการตัดงบประมาณส่วนที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้ในปี 2022 จีดีพีของไทยอยู่ที่ 19.8 ล้านล้านบาท ดังนั้นการใช้งบประมาณที่สูงหาก ให้กับผู้มีรายได้น้อย ย่อมใช้จ่ายเงินนั้นอย่างเต็มที่ การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจะส่งผลอย่างเห็นได้ชัด แต่หากตกอยู่ในมือผู้มีรายได้ระดับหนึ่ง ไม่เดือดร้อน โอกาสที่ประชาชนเหล่านั้นจะใช้เงินหมื่นนี้ ในการลดค่าใช้จ่ายประจำของตนเอง โดยเก็บเงินในบัญชีตนเองไว้แล้วใช้เงินในวอลเล็ตแทน เม็ดเงินดังกล่าวก็จะไม่ก่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและกลายเป็นเงินเก็บในบัญชี

 

"อย่างไรก็ตามอาจโต้แย้งได้ว่า จำนวนคนที่มีกำลังทางเศรษฐกิจอยู่แล้วมีไม่มากนัก เมื่อเทียบคนจนในประเทศ ผมมองว่าภาวะทางเศรษฐกิจช่วงที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตดำเนินอยู่ จะเป็นช่วงกระทิง ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันคึกคัก แต่หลังโครงการจบทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงก่อนหน้านั้น จมูกที่พ้นน้ำก็ต้องกลับมาอยู่ในระดับเดิม และอะไรคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะต่อจากนั้น เพราะนี่คือพลังบริโภคเทียม และสิ่งที่ได้มานั้นไม่ฟรี เพราะอาจเกิดการสร้างหนี้  ต่อให้ผู้ชำระเงินเป็นคนไทยในอนาคต อาจเกิดปัญหาเงินเฟ้อข้าวของแพงขึ้นแล้วจะไม่ลดลงโดยง่าย" นายสมบัติ ระบุ

นายสมบัติ ระบุอีกว่า การใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญ และมีผลต่อจีดีพี ดังนั้นการนำงบจากการใช้จ่ายภาครัฐมาเป็นค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อาจทำให้กำลังซื้อภาครัฐหายไป และกระทบกับจีดีพี  ทั้งนี้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ได้รับการอัดฉีดผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อถึงที่สุดแล้วจะส่งผลต่อปัจจัยการนำเข้ามากน้อยเพียงใด เมื่อห่วงโซ่การผลิตและสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนกลายเป็นสภาพแวดล้อมสำคัญในการบริโภคในไทย ทั้งนี้รวมถึงการบริโภคพลังงานที่เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตีฟู ที่ต้องกล่าวถึงปัจจัยการนำเข้าเพราะจะมีผลต่อการคำนวน จีดีพี

   

 

 

 

"การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนควรต้องพิจารณาถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการผลิตให้เพิ่มประสิทธิภาพและแข่งขันได้" นายสมบัติ