'วิษณุ' ยกอาการ 'ทักษิณ' คล้าย 2 รมต.ถูก คสช.จับ ความดันทะลุ 200

'วิษณุ' ยกอาการ 'ทักษิณ' คล้าย 2 รมต.ถูก คสช.จับ ความดันทะลุ 200

'วิษณุ' ชี้ 'ทักษิณ'เข้ารพ. เกิดจากสภาพจิตใจ กระทบร่างกาย ยก 2 รัฐมนตรี ถูก คสช. จับ ความดันขึ้น 200 ส่วนขอพระราชทานอภัยโทษ เป็น พระราชอำนาจ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณี กำหนดการรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจว่าต้องอยู่จนกว่าจะหายดีหรือไม่ ว่า  ตนไม่ทราบต้องถามความเห็นคณะแพทย์ ซึ่งมีคำยืนยันเพียงว่ายังอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ และอาการยังทรง  ซึ่งเป็นธรรมดาเข้าใจว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพจิตด้วย มันก็เลยกระทบกับร่างกาย เหมือนกับรัฐมนตรีบางคนยังมาบอกให้ตนฟัง ในเชิงตลก ขณะ คสช. ยึดอำนาจ ท่านถูกเชิญไปควบคุมตัวไว้ บ้านช่องก็แสนจะสบาย แต่ความดันขึ้น 200 ทุกวัน ตนไม่ขอเอ่ยว่าเป็นใคร แต่มี 2คนมาเล่าให้ฟัง ซึ่งก็ต้องเห็นใจ มันเป็นไปได้คนเคยอยู่สะดวกสบาย อยู่บ้านอยู่คอนโด เคยลงสระว่ายน้ำ ออกกำลังกาย ยกเวท พอไม่ทำสิ่งเหล่านั้นบางทีก็กระทบได้ ก็ต้องเข้าใจ  

เมื่อถามว่าสามารถย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนได้หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ไม่ควร ตนยังไม่เห็นเหตุผลอะไร แต่ที่ออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มารักษานั้นเพราะว่าไม่มีแพทย์เฉพาะทาง จึงมาอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่หากจะออกจากโรงพยาบาลตำรวจนั้นแปลว่าแพทย์ที่โรงพยาบาลตำรวจไม่มีความเฉพาะทาง จะไปพูดอย่างนั้นไม่ได้  ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลราชทัณฑ์เราจะมองเห็นว่าไม่ได้มีการฝึกฝนคนหรือรับหมอมารักษาโรคเฉพาะทาง ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจมีแพทย์เฉพาะทางทั้งหมด หากคุณจะไปอยู่ที่อื่นซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าคุณจะไปอยู่ที่โรงพยาบาลไหน อย่าว่าแต่โรงพยาบาลเอกชนเลย แม้แต่ โรงพยาบาลของรัฐตนก็ไม่เห็นเหตุผลนี้ ว่าจะย้ายไปอีกทำไม ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจและกรมราชทัณฑ์นั้นมีเอ็มโอยู ส่งต่อผู้ป่วยมาแล้วหลายลาย ร่วมกันมากกว่า 30 ปี  แล้วทำมาแล้วหลายราย จึงปลอดภัยกว่าที่จะไปที่อื่น  ตำรวจสามารถจัดกำลังเข้าไปดูแลได้ อย่าเคสของนายทักษิณ กรมราชทัณฑ์จะต้องจัดเจ้าหน้าที่ไปดูแลประมาณ 4 คน ส่วนตำรวจจะเพิ่มคนอีก ก็เป็นเรื่องของตำรวจ 

เมื่อถามว่าศาลฎีกาได้แจ้งหรือไม่ว่าโทษของนายทักษิณนั้นสรุปแล้ว 8 หรือ 10 ปี นายวิษณุ ระบุว่า สำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม ได้แจ้งมาว่านายทักษิณ ต้องได้รับโทษ 8 ปี 

เมื่อถามว่าในระหว่างที่นายทักษิณยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจขั้นตอนของการขอพระราชทานอภัยโทษ ยังทำได้หรือไม่นั้น นายวิษณุ ยืนยันว่ายังทำได้ เพราะถือว่ายังอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ และสามารถทำได้ทันที ส่วนจะพระราชทานคดีใด หรือทุกคดี ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เอาเป็นว่าพระราชอำนาจ  การพระราชทานอภัยโทษ กว้างขวางมาก และไม่มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับคดีทุจริต ขณะความผิดทางวินัย สมัยตั้งประธานศาลฎีกา ในรัฐบาลยุคนายอานันท์ ปันยารชุน  เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติไล่ผู้พิพากษาออก 13 คน ก็มีการขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งพระองค์ท่านก็พระราชทานกลับมาภายใน 1-2 วัน ตนก็ไม่คิดว่าเรื่องของวินัยจะสามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า "Prerogative" คือพระราชอำนาจที่ ไม่สามารถ ที่จะโต้เถียงท้าทายได้