เกมบังคับ “ก้าวไกล” ปลดล็อก ก่อนหมดสิทธิ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

เกมบังคับ “ก้าวไกล” ปลดล็อก  ก่อนหมดสิทธิ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

แม้ "ก้าวไกล" ประกาศตัวเป็น ฝ่ายค้าน ทว่ายังไม่ชัดเจนว่า "ผู้นำฝ่ายค้าน" จะตกถึงมือหรือไม่ ด้วย 2เงื่อนไขที่ยังไม่ปลดล็อค และหากไม่ทำอาจเป็นเดดล็อค ที่ ตำแหน่สำคัญ อาจตกไปถึงมือ พรรคอื่น

จากผลการลงมติเห็นชอบ “เศรษฐา ทวีสิน” จากพรรคเพื่อไทย ให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ด้วยเสียง 482 ต่อ 165 เมื่อสกัดดูแล้วจะพบว่า “เสียงเห็นชอบ” เป็นของ สส.ส่วนใหญ่ จากพรรคที่ถูกทาบเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเอิกเกริก 

 

ทั้ง ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ประชาชาติ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า เพื่อไทรวมพลัง เสรีรวมไทย พลังสังคมใหม่ ท้องที่ไทย รวมทั้งที่ถูกทาบแบบรู้กัน คือ พลังประชารัฐ ประชาธิปไตยใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคใหม่ รวมไปถึง ประชาธิปัตย์ ที่เสนอตัว “ขอเกาะ” ท้ายขบวนไปด้วย

 

ส่วน สส. ของพรรคที่โหวตไม่เห็นชอบ ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรม ขณะที่ พรรคไทยสร้างไทย งดออกเสียง

 

เท่ากับว่าได้เห็นโฉมของ “ฝั่งรัฐบาล” และ “ฝั่งฝ่ายค้าน” ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ขณะที่ “พรรคก้าวไกล” หลังรู้ผลโหวตอย่างเป็นทางการ เมื่อ 22 สิงหาคม “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาฯพรรคก้าวไกล แถลงยอมรับแต่โดยดีว่า “นับจากนี้ไป พรรคก้าวไกลจะทำงานฐานะพรรคฝ่ายค้าน ที่ทำงานเชิงรุก ทั้งตรวจสอบฝ่ายบริหาร ผลักดันกฎหมายก้าวหน้า รวมถึงวาระของประชาชนตามกลไกของสภา”

เกมบังคับ “ก้าวไกล” ปลดล็อก  ก่อนหมดสิทธิ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

ทว่า ในข้อคำถามถึง “ผู้นำฝ่ายค้าน” ที่ยังมีความคลุมเครือ ชัยธวัชเลือกที่จะเว้นวรรคไม่ระบุคำตอบให้ชัดเจนถึงทิศทาง บอกแค่ว่า “จะพิจารณาเป็นการภายในของพรรค ซึ่งยังมีเวลาตามรัฐธรรมนูญกำหนด”

 

ความไม่ชัดเจนในคำตอบของคีย์แมนก้าวไกลเรื่องนี้ ในพรรคเองก็ต้องขบกันให้แตก ถึงปัจจัยใน 2 ประเด็น

เงื่อนไขแรก คือตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” นั่งอยู่ และเงื่อนไขสอง คือ คดีคุณสมบัติของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่รอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีถือครองหุ้น “ไอทีวี”

 

เพราะทั้ง 2 เงื่อนไข คือ สเปกที่รัฐธรรมนูญกำหนดสถานะของ “ผู้นำฝ่ายค้าน” เอาไว้ ตามมาตรา 106 ที่ระบุว่า ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง สส.ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาฯ ที่มีจำนวน สส.มากที่สุด และ สส. ไม่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

เกมบังคับ “ก้าวไกล” ปลดล็อก  ก่อนหมดสิทธิ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

ดังนั้นในเกมของ “ก้าวไกล”​ หากรีบพูด รีบสรุป เท่ากับจะเป็นเชือกมัดตัว และในภาวะที่อะไรยังไม่แน่นอน 

 

หากเร่งเกมยอมให้ “ปดิพัทธ์” สละเก้าอี้รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ขณะที่ “พิธา” อยู่ระหว่างการหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ อาจทำให้มีปัญหาข้อกฎหมาย และสุดท้ายอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย

 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีเวลาให้ “กุนซือก้าวไกล” คิดไม่มากนัก เพราะตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องมี “ผู้นำฝ่ายค้าน” หลังจากที่มี ครม.เข้าบริหารประเทศ จากการประเมินคือ เมื่อ “เศรษฐา” รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ 23 ส.ค. จากนั้นคาดว่าไม่เกินกลางเดือนกันยายน “ครม.เศรษฐา 1” จะถือฤกษ์เริ่มต้นทำงาน

แม้รัฐธรรมนูญ จะไม่กำหนดระยะเวลาที่จะได้ตัว “ผู้นำฝ่ายค้าน” แต่มีกรอบไว้ชัดเจนคือ หลังมีครม.บริหารประเทศ ดังนั้น หากพรรคก้าวไกล​ให้ความสำคัญกับบทบาทฝ่ายค้านที่แท้จริง จำเป็นต้องรีบตัดสินใจ เช่นเดียวกับการเคลียร์คดีของ “พิธา” ว่าด้วยคุณสมบัติ ที่เจ้าตัวขอขยายเวลายื่นคำชี้แจงออกไปอีก 30 วันนับจาก 21 ส.ค.

 

เพราะไม่เช่นนั้น ตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” อาจตกไปยังพรรคการเมืองอื่น ทั้ง “ประชาธิปัตย์” และ “ไทยสร้างไทย” ที่มีสิทธิตามเงื่อนไข คือ ไม่มี สส.เป็นรัฐมนตรี ประธานสภาฯหรือรองประธานสภา รวมถึงจำนวน สส.ที่มีในมือ พออนุโลมให้ได้ว่าเป็น “พรรคการเมืองที่มีจำนวน สส.มากสุด”

เกมบังคับ “ก้าวไกล” ปลดล็อก  ก่อนหมดสิทธิ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

ทว่า ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ประเมินว่า กรณีที่ตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้าน” จะตกไปถึง 2 พรรคนั้นก็ไม่ง่าย เพราะมีเดดล็อกคือ “ไทยสร้างไทย” เป็นพรรคไร้หัวหน้าพรรคที่มีสถานะเป็น สส.

 

ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ยังหา “หัวหน้าตัวจริง” ไม่ได้  แม้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” สส.บัญชีรายชื่อ จะมีสถานะรักษาการหัวหน้าพรรค แต่ความตามกฎหมายถูกเขียนไว้เป็นถ้อยคำเฉพาะ คือ สส.ที่เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ใช่ สส.ที่เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค

เกมบังคับ “ก้าวไกล” ปลดล็อก  ก่อนหมดสิทธิ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

ดังนั้นหากทั้ง 2 พรรค หวังจะครอบครองตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ก็จำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างพรรคให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะ ไทยสร้างไทย ที่มี สส. 6 เสียง อาจได้ตำแหน่งใหญ่ 

 

ส่วนประชาธิปัตย์ที่แอบมีหวัง จะได้โควตารัฐมนตรีใน รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะถูกขีดชื่อออกจากบัญชีว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ รวมถึงกรณีที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ไม่มีสถานะเป็น สส.ในสภา

 

ส่วนอีก 4 พรรค คือ เสรีรวมไทย ประชาธิปไตยใหม่ ครูไทยเพื่อประชาชน ท้องที่ไทย และพรรคใหม่ ที่หัวหน้าพรรคเป็น สส.แม้จะเข้าองค์ประกอบตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ทว่าในแง่ความสง่างาม ย่อมไม่เหมาะสม เพราะมีเพียง 1 เสียง และประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่เคยมีครั้งไหน ที่ผู้นำฝ่ายค้านมาจากพรรค 1 เสียง อีกทั้งในแง่การบริหารจัดการอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกสภา

เกมบังคับ “ก้าวไกล” ปลดล็อก  ก่อนหมดสิทธิ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

บทบาทของ ผู้นำฝ่ายค้าน ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของการเป็นกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงยื่นเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา เพื่อปรึกษากรณีมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคง ปลอดภัย หรือเศรษฐกิจของประเทศ

 

ดังนั้นหากตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านที่ติดเดดล็อกจากพรรคตั้งต้น คือ “ก้าวไกล” และสุดท้ายไม่มีทางไหนที่จะเคลียร์ได้ จนหลุดไปถึงคิวพรรคลำดับถัดไป แต่ไม่มีใครที่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ 

 

ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอย... “ไร้ผู้นำฝ่ายค้านในสภา” เหมือนครั้งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ช่วงปี 2551-2554 

 

เมื่อ “เพื่อไทย” ซึ่งมี “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” เป็นหัวหน้าพรรคขณะนั้น ไม่รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ทั้งที่เพื่อไทยได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถูก “กลุ่มเพื่อนเนวิน” แปรพักตร์ไปสนับสนุนพรรคอันดับสอง ประชาธิปัตย์ ดัน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ขึ้นเป็นนายกฯ.