รัฐบาลใหม่ไทยในสายตาสื่อนอก ชัยชนะของฝ่าย'อนุรักษนิยม'

รัฐบาลใหม่ไทยในสายตาสื่อนอก ชัยชนะของฝ่าย'อนุรักษนิยม'

การที่ไทยได้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ถือเป็นการปิดฉากทางตันทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานสามเดือนหลังเลือกตั้ง สื่อนอกจับตารัฐบาลชุดใหม่อย่างใกล้ชิดเพราะยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก

เดอะการ์เดียนรายงานว่า ดีลตั้งรัฐบาลครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยหลายคนที่มองว่า พรรคละทิ้งค่านิยมประชาธิปไตยอย่างที่พรรคควรยึดถือ บางคนชี้ว่าพรรคเพื่อไทยหักหลังเสื้อแดงกว่า 90 คน ที่ถูกกองทัพปราบปรามช่วงที่ออกมาประท้วงเพื่อสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ขณะเดียวกันการตั้งรัฐบาลก็สร้างความเกรี้ยวกราดให้กับผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลด้วย พวกเขาลงคะแนนเพราะต้องการปฏิรูปประชาธิปไตย

ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิชาการรับเชิญจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลใหม่รวมกลุ่มสนับสนุนอำนาจเก่าและทหารเข้าไว้ด้วย ผู้ชนะที่แท้จริงคือฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม

“เพื่อไทยกำลังถูกใช้เป็นกันชนเปิดให้ฝ่ายอนุรักษนิยมอยู่ในอำนาจได้อย่างชอบธรรมและมีเสถียรภาพ ถ้ามีอะไรผิดพลาดเพื่อไทยก็รับไป” ณพลกล่าว

ด้านยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกับเดอะการ์เดี้ยน “เพื่อไทยเป็นพรรคทรงพลังที่สุดที่จะต่อกรกับการผงาดขึ้นมาของพรรคก้าวไกล หลังพรรคอนุรักษนิยมแพ้เลือกตั้ง ก็อย่างที่ว่ากัน ศัตรูของศัตรูคือมิตร”

สำนักข่าวบลูมเบิร์กกล่าวถึงบทสัมภาษณ์ที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยเคยให้ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตนต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ตามหลังเพื่อนบ้านและลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน 

ทั้งนี้ เศรษฐาเป็นหนึ่งที่ร่วมเปิดตัวนโยบาย “ดิจิทัลวอลเลต” มอบเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เมื่อได้เป็นรัฐบาลเขาต้องทำตามนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ เช่น ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 70%, ทุกครัวเรือนต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท, เพิ่มรายได้เกษตรกรสามเท่าเพื่อยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ 5%

ความท้าทายนายกฯ ใหม่

ในมุมมองของบลูมเบิร์ก  ไทยซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญแรงต้านเนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว สร้างความเสียหายต่อการส่งออกของไทย และส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยไม่มากอย่างที่คิด ก่อนโควิดนักท่องเที่ยวจีนคือนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของไทย

นอกจากนี้ไทยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยืดเยื้อมานาน ตอนนี้เพิ่มขึ้นราว 90% ของจีดีพีไทยเกือบ 5 แสนล้านดอลลาร์

บลูมเบิร์กรายงานด้วยว่า เศรษฐาจำเป็นต้องรักษาสมดุลผลประโยชน์ของฝ่ายอนุรักษนิยมและคนของกองทัพที่ยังคงมีอำนาจในการเมืองไทย กับเสียงเรียกร้องของฐานเสียงหนุ่มสาวที่พากันเลือกพรรคก้าวไกลจนได้คะแนนเสียงเป็นอัันดับหนึ่งในการเลือกตั้งเดือน พ.ค.

การที่พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคการเมืองของผู้นำคณะรัฐประหารอย่างพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่โค่นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เศรษฐาจะต้องมั่นใจได้ว่าฐานเสียงของพรรคไม่ถูกทำลาย รัฐบาลของเขาจำเป็นต้องทำตามที่หาเสียงไว้ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพื่อให้ไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

มุมมองนักลงทุน

หอการค้าไทยเผยว่า เศรษฐาและพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุน จากคำมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐที่อาจหนุนให้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยโตกว่า 3% ในปีนี้

พรรคยังหาเสียงลดค่าไฟ ผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และทำการพนันให้ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งน่าจะได้รับการตอบรับจากตลาด หลังจากปีนี้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปแล้วราว 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่งกว่า 7% แย่ที่สุดในเอเชีย

คนนอกแวดวงการเมือง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตอนที่พรรคเพื่อไทยเปิดตัวนักธุรกิจผู้ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคย้ำว่าเขาเป็นนักธุรกิจผู้เชี่ยวชาญ มีความสามารถในการจัดการเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมาระดับหนึ่งจากการระบาดของโควิด-19

การเปลี่ยนแปลงจากนักธุรกิจมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นภาพสะท้อนของทักษิณ ชินวัตร ผู้ร่ำรวยมาจากธุรกิจโทรคมนาคมก่อนมาเป็น “นายกรัฐมนตรีซีอีโอ” แต่ถูกรัฐประหารในปี 2549 เช่นเดียวกับรัฐบาลของน้องสาวในปี 2557

สำหรับเศรษฐา นักวิเคราะห์และคนที่รู้จักเขาเผยกับรอยเตอร์ว่า การเป็นมือใหม่ทางการเมืองมีประโยชน์และต้นทุนไปพร้อมๆ กัน

นักการเมืองร่วมพรรคคนหนึ่งและนักธุรกิจอีกสองคนบรรยายว่า เศรษฐาเป็นคนพูดตรง ไม่กลัวที่จะพูดอย่างใจคิด

“เขาไม่ได้ปรับตัวเพื่อมาเป็นนักการเมืองอย่างแท้จริง นักการเมืองหลายคนจึงไม่สบายใจ พวกเขากลัวว่าจะคุมหรือมีอิทธิพลกับเขาไม่ได้”

แม้เศรษฐาอาจไม่มีความผูกพันกับภาระทางการเมืองแบบเก่า ในเวลาเดียวกันเขาไม่มีฐานสนับสนุนทางการเมืองทั้งในพรรคและประชาชนโดยรวม ทำให้เกิดคำถามว่าเศรษฐาจะเป็นตัวของตัวเองได้แค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อทักษิณกลับมาเมืองไทยแล้ว และอาจกลับมามีบทบาทในพรรค

“เศรษฐาเป็นคนนอกแวดวงการเมือง คอนเนคชันและประสบการณ์ธุรกิจอาจช่วยเรื่องรูปแบบการจัดการ หนุนนโยบายเศรษฐกิจ แต่คำถามคือเขาจะเป็นอิสระจากทักษิณอย่างสิ้นเชิงหรือไม่” ฐิติพล ภักดีวณิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้ความเห็น

ปากคำเจ้าตัว

 ไม่กี่วันก่อนเปิดตัวเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2565 เศรษฐาเคยให้สัมภาษณ์ฟอร์บสประเทศไทย เขาเชื่อว่าธุรกิจใหญ่และมหาเศรษฐีควรมีส่วนร่วมกับสังคมด้วยการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เขาต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวเสริมสร้างให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้ 

ก่อนการเลือกตั้งเดือน พ.ค. เศรษฐาเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า ตนไม่ใช่คนของทักษิณ และอยากเน้นแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทย ส่งเสริมสิทธิชาว LGBTQ+ รวมถึงการสมรสเพศเดียวกัน ขจัดการทุจริตให้หมดไป และนำประเทศไทยหวนคืนเวทีโลก

“ผมอยากเป็นนายกรัฐมนตรีผู้สร้างความแตกต่าง เราจำเป็นต้องเพิ่มกิจกรรมในต่างประเทศ เราต้องออกไปแล้วพูดกับโลก เราจำเป็นต้องขายประเทศไทย อะไรคือข้อได้เปรียบของการลงทุนในประเทศไทย เรามีอะไรไปเสนอให้กับโลกบ้าง”