จับตายุติศึก เหลือง-แดง สู่แนวรบ 'อดีต VS อนาคต'

จับตายุติศึก เหลือง-แดง สู่แนวรบ 'อดีต VS อนาคต'

ในที่สุดก็ได้บทสรุปว่า ความขัดแย้งของประชาชน ไม่ว่าจะเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี หรือแม้แต่ เสื้อสีส้ม ที่กำลังมาแรง ล้วนเกิดจากปัญหาทางการเมือง

เห็นได้ชัด หลังจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในเวลานี้ ตกลงใจที่จะตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับ พรรคการเมืองที่เคยหนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “นายกรัฐมนตรี” เมื่อปี 2562

ปรากฏว่า มวลชนเสื้อเหลือง และมวลชนเสื้อแดง ที่ก่อนหน้า ขัดแย้งกันแทบเป็นแทบตายกว่า 10 ปี เวลานี้เข้าสู่โหมดปรองดองสมานฉันท์เรียบร้อยอย่างเหลือเชื่อ เพียงเพราะพรรคเพื่อไทย ตัวแทนของเสื้อแดง จับมือตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคตัวแทนฝ่ายเสื้อเหลือง หรือฝ่ายอนุรักษนิยม

ที่สำคัญไปกว่านั้น “ด้อมแดง” และ “ด้อมเหลือง” ในโลกโซเชียล ก็แสดงท่าที “ยุติสงครามเหลือง-แดง” เช่นกัน

บทจะจบ ก็จบลงง่ายๆ ไม่ต้องมีใครมาหาทางสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง หรือใช้เป็นข้ออ้างรัฐประหาร จึงจะทำได้  

ความจริง, ต้องบอกว่า พรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ เพียงแต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายคนในพรรคเพื่อไทยต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเอง ร่วมหัวจมท้ายกับพรรคการเมือง ที่พวกเขาเคยโจมตี ทั้งสถานการณ์ปกติ และช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าเป็นพรรคของ “เผด็จการ” และนั่งร้านให้ “เผด็จการ” ก็เพราะไฟต์บังคับทางการเมืองหรือไม่มีทางเลือกที่ดีไปกว่านี้แล้ว

ประการแรก เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทเฉพาะกาล ให้ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ในระยะเวลา 5 ปีแรก และต้องใช้เสียง ส.ว.และส.ส.รวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่ง จึงจะผ่านการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

กรณีนี้ เท่ากับให้อำนาจส.ว.ร่วมกลั่นกรอง คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ไม่ใช่ใครก็ได้ที่พรรคการเมืองจับยัดเข้ามา เพียงแค่ผ่านเกณฑ์มีสิทธิ์ได้รับเสนอชื่อเท่านั้น ซึ่งถ้ามองในแง่บวก ถือเป็นความพิถีพิถันในการเลือกบุคคลให้เหมาะสมกับตำแหน่ง “ประมุข” ของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง แต่ในแง่ลบ ถ้าหาก “ส.ว.ส่วนใหญ่” อยู่ในกำมือคนที่มีบารมีทางการเมือง ก็อาจส่งผลให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีปัญหาได้เพราะจำนวนส.ว.ทั้งสิ้น 250 เสียง ถ้าส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกทางไหน ทางนั้นย่อมได้เปรียบ และชี้เป็นชี้ตายทันที

ยิ่งพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ไม่มีพรรคหนึ่งพรรคใด ชนะเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนสามารถร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา (376 เสียง) ส.ว. ก็จะมีบทบาทสูงในการชี้ขาด คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้

ตัวอย่างในปัจจุบัน ที่พรรคก้าวไกล ได้ส.ส.เพียง 151 ที่นั่ง ห่างจากพรรคเพื่อไทย 10 ที่นั่ง และพรรคอื่นที่ได้เข้ามาอย่างกระจัดกระจาย การรวบรวมเสียง ถ้าไม่ดึงพรรคการเมืองส่วนใหญ่เข้าร่วม การที่จะให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งเสียง “ส.ว.” มาเติมเต็ม

เห็นได้ชัด กรณีโหวตเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ ไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งที่รวบรวมเสียงได้แล้ว 312 เสียงจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ขาดอีกถึง 64 เสียง แต่ปรากฏว่า ส.ว.โหวตให้แค่13 เสียง(จาก 250 เสียง)

อย่างไรก็ตาม กรณีพิธา ไม่ผ่านการโหวตของ “ส.ว.” ยังมีเหตุผลอื่นแทรกซ้อนด้วย คือนอกจาก “พิธา” มีปัญหาถูกร้องเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามลงสมัครเลือกตั้งส.ส.แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความต้องการแก้ไข ป.อาญา ม.112 ซึ่งเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันฯด้วย และทั้ง “พิธา-ก้าวไกล” ก็ยืนยันจะไม่ยอมยกเลิกการแก้ไข ม.112 แม้ต้องเจอทางตันในการจัดตั้งรัฐบาล  

ประการที่สอง เนื่องจากพรรคก้าวไกล ผูกเงื่อนไขตัวเอง เอาไว้กับการแก้ไขป.อาญาม.112 ขณะที่แทบทุกพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการที่จะร่วมรัฐบาลด้วย

พรรคเพื่อไทย จึงไม่มีทางเลือกที่ดีไปกว่า การตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายตรงข้าม หรือ ข้ามฟาก จัดตั้งรัฐบาล เพราะไม่เช่นนั้น การรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล จะไม่เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 251 เสียง

และการยื่นคำขาดของทุกพรรคการเมือง ที่จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล จึงจำเป็นที่พรรคเพื่อไทย จะต้องเลือกระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ต้องอาศัยพรรคการเมืองส่วนใหญ่ กับการยอมอยู่กับ 8 พรรคร่วมที่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ และต้องรอจนกว่า ส.ว.จะหมดสมัย หรือ ประมาณ 10 เดือน(ตามแนวคิดพรรคก้าวไกล) แต่มีคำถามตามมาว่าประเทศและประชาชน รอได้หรือไม่  

กระนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจ เพราะมีราคาที่ต้องจ่าย และรับผิดชอบจากการตัดสินใจครั้งนี้

ไม่ว่าจะเป็น ต้องสูญเสียมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย เสียคำพูด เสียอุดมการณ์ที่ประกาศชัด จะไม่จับมือกับพรรคการเมืองของ “เผด็จการ” และ พรรค “นั่งร้าน” ให้เผด็จการ

แต่สุดท้าย ก็ร่วมรัฐบาลกับ ทั้งพรรคของเผด็จการ และพรรคนั่งร้านให้เผด็จการ เหล่านี้คือ สิ่งที่จะต้องจ่ายในราคาแพง

เรื่องนี้ “เดอะอ้วน” นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคนใกล้ชิด“ทักษิณ ชินวัตร” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นการอธิบายว่า

“เป็นความพยายามคลี่คลายความขัดแย้งที่ดำรงอยู่มาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปีหัวใจสำคัญคือแต่ละฝ่ายยอมถอยออกคนละก้าว ให้มาอยู่ในจุดที่ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชน

พรรคเพื่อไทยต้องคิดใหญ่ ด้วยใจที่ใหญ่ ใจที่กว้าง ภายใต้สถานการณ์ทางเลือกที่คับแคบอย่างยิ่ง จำเป็นต้องทำงานกับความคิด ความรู้สึกของทุกคนภายในพรรคอย่างมาก เมื่อมองเห็นเป้าหมายที่ใหญ่กว่าผลประโยชน์ของพรรคเพียงฝ่ายเดียวพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้อง แสวงหาทางเลือกที่ดีที่สุด และเป็นรูปธรรม ภายใต้หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

การตัดสินใจครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทยเรายอมเสียต้นทุนทางการเมืองบางส่วนด้วยความเชื่อว่า “ทารกที่คลอดจากครรภ์มารดา ล้วนผ่านความเจ็บปวดฉันใด การเปลี่ยนแปลง เพื่อสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น ย่อมต้องผ่านความเจ็บปวดฉันนั้น” พรรคเพื่อไทยจะใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน เพื่อพิสูจน์ตัวเองต่อพี่น้องประชาชน เรารับผิดชอบ ในสิ่งที่เราคิด เราทำ โดยอนาคตจะเป็นบทพิสูจน์ ความคิด และความเชื่อของเรา”

ขณะเดียวกัน ทางฝั่งของพรรคก้าวไกล ที่เวลานี้ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายค้านอย่างเต็มตัวแล้ว ถ้าดูจากการเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าจะยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการก็ตาม

สิ่งที่น่าสนใจ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ Wiroj 77 ว่า

“มาฉุกคิดดู องค์ประกอบของรัฐบาลใหม่ นี่ก็คือรัฐบาลเดิม เพิ่มเติมก็คือ มีพรรคอีกพรรคหนึ่งเข้าไปเสริมเป็นนั่งร้านให้เผด็จการเท่านั้นเอง

ต่อแต่นี้ไป ไม่มีอีกแล้วคำลวงหลอก ที่อ้างตนว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตย คำพูดเหล่านั้นล้วนเป็นเพียงคำโฆษณาเท่านั้น

การเมืองนับจากนี้ จะเป็นการต่อสู้กันระหว่าง พรรคการเมืองแบบเดิม ที่คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของประชาชน กับพรรคการเมืองแห่งอนาคต ที่ตระหนักว่าประชาชนต่างหากที่เป็นเจ้าของพรรค”

ทั้งนี้ สอดคล้องกับที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล

โดยสาระสำคัญบางตอน ระบุว่า “...ต่อไป ไม่ใช่สงครามสีเสื้อ ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพรรค แต่คือ การต่อสู้ระหว่าง อดีต vs อนาคต

อดีตแบบทศวรรษ 2520 ขยับทีละคืบไปสู่ทศวรรษ 40  กับ อนาคตแบบใหม่ที่ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศร่วมกันกำหนด...”

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ ตามมาก็คือ การเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ และในอดีต ถูกนักวิชาการ “ฝ่ายซ้าย” มองว่า เป็นการเมือง “สมประโยชน์” หรือ อุปถัมภ์กัน ระหว่างชนชั้นนำ ทหาร นายทุน พรรคการเมือง จนกลายเป็นโครงสร้างอำนาจอนุรักษนิยมนั่นเอง

พวกเขาเชื่อว่า พรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้โครงสร้างแบบนี้ กำลังจะล่มสลาย และต้องปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ ถ้าไม่ปรับตัว ก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ได้รับการยอมรับ

ส่วนพรรคการเมืองที่ต่อสู้เพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ ซึ่ง “ปิยบุตร” ชี้ให้พรรคก้าวไกลเห็นมาตลอด เป็นแนวทางต่อสู้ที่แตกต่าง และเป็นทางเดียว ที่พรรคก้าวไกล จะอยู่รอดและเติบโตทางการเมือง

จึงไม่แปลก ที่แกนนำพรรคก้าวไกล รวมทั้งผู้สนับสนุน จะเห็นว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐบาล ไม่สำคัญเท่ากับการทำงานการเมืองตามอุดมการณ์ และฉันทามติของประชาชน โดยเชื่อว่า อีก 4 ปีข้างหน้า ผลเลือกตั้งจะพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้ง

แน่นอน, สิ่งที่น่าจับตามอง หลังการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่สุดท้าย ก็ต้อง “มี 2 ลุง” โดยมีพรรคก้าวไกล เป็นฝ่ายค้าน จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง “อดีต” กับ “อนาคต” ตามนิยามของฝ่ายก้าวไกล หรือไม่ อย่างไร  

คำถามคือ พรรคก้าวไกล จะเชื่อมั่นแค่ไหนว่า การได้เลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 1 ได้ส.ส. 151 ที่นั่ง มาจากฐานเสียงที่ตอบสนองนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการแก้ไขป.อาญา ม.112 ที่ไม่ยอมลดเพดานแม้แต่น้อย

แน่ใจหรือ? ว่าไม่ใช่เพราะนโยบายประชานิยมอย่างอื่น ที่เสนอให้มากกว่าพรรคการเมืองอื่น เช่น นโยบาย เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท ซึ่งได้คะแนนทั้งคนแก่ และลูกหลาน เพราะเงินคนแก่ 3,000 บาท ถ้าทำได้จริง จะลดภาระดูแลได้มากทีเดียว ถ้าทำไม่ได้ หรือ หลอกลวง ก็จะกลายเป็นการทำบาปกับคนแก่ กรรมที่ตามสนองจะหนักหนาสาหัสด้วย

ถ้าวิเคราะห์เรื่องนี้ผิดพลาด การทำงานการเมือง ก็อาจผิดพลาดตามไปด้วย เพราะจุดมุ่งเน้น ไม่ตรงจุด นั่นเอง

หรือพูดให้ชัด อาจเป็นการตอบสนองแต่เฉพาะฐานเสียง ฐานการเมือง ที่มีอุดมการณ์ความคิด ความเชื่อตรงกันเท่านั้น

แต่ถ้าจะถือว่า เป็นเรื่อง “อนาคต” เพราะเชื่อว่า ฐานเสียง ฐานการเมือง จะขยายออกไปได้อย่างกว้างขวาง ก็ไม่ใช่เรื่องผิด และอาจคาดหวังได้เช่นกัน

ขณะถ้าฟังจาก “ภูมิธรรม” การตัดสินใจตั้งรัฐบาลข้ามฟากครั้งนี้ ถือว่า คาดหวังสูง กับการแก้ปัญหา เศรษฐกิจปากท้องของเพื่อประชาชน เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นความจริงใจ และซื้อใจประชาชนด้วยผลงานของรัฐบาล

ทดแทนข้อกล่าวหาต่างๆนานา ส่วนจะทำได้ดีแค่ไหน อยู่ที่ “ผลงาน” แก้ปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วน และแทบไม่มีเวลาให้ฮันนีมูนด้วยซ้ำ

ท่ามกลางกระแส “ต่อต้าน” จากพลังมวลชนของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะม็อบ “ด้อมส้ม” ซึ่งไม่ต่างจากสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เจอมาก่อน อยู่ที่ว่าจะ“รับมือ” ได้ดีแค่ไหนเท่านั้นเอง  

สำหรับ “ก้าวไกล” ยังมีอีกด้าน ที่ถือ เป็น ดาบสองคม คือ การขยายผลเคลื่อนไหวบนท้องถนน หรือม็อบมวลชน จะมีรูปแบบที่สร้างแนวร่วมจากสังคมได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้าเป็นแบบ “ทะลุฟ้า, ทะลุวัง, ทะลุแก๊ส” ที่ใช้อารมณ์และความรุนแรงนำการเคลื่อนไหวนอกจากจะไม่ช่วยทำให้การเมืองของพรรคก้าวไกลดีขึ้นแล้ว ยังอาจฉุดรั้ง หรือ พากันกระโจนลงเหวไปเลยก็เป็นได้

สิ่งสำคัญ ที่ไม่อาจมองข้าม พรรคก้าวไกลจะให้น้ำหนักหรือไม่ อย่างไรกับการแก้ปัญหาปากท้อง ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ขณะตัวเองไม่ได้เป็นรัฐบาล ด้วยวิธีไหน จึงจะถือว่า “เข้าตา” ผ่านนิยามการต่อสู้แบบ “อนาคต”

เหนืออื่นใด ไม่ว่ารัฐบาลเพื่อไทย หรือ ฝ่ายค้านก้าวไกล ต่างฝ่ายต่างอ้าง ทำเพื่อ“ประชาชน” ก็ยิ่งน่าจับตามองว่า “ประชาชน” ในความหมายของแต่ละฝ่าย คือ ใคร? คนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือ แค่ฐานเสียงตัวเอง