สแกน แคนดิเดต“รัฐมนตรี” ส่งประกวด"รัฐบาลเพื่อไทย"

สแกน แคนดิเดต“รัฐมนตรี”  ส่งประกวด"รัฐบาลเพื่อไทย"

ทั้งหมด คือความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ที่กำลังอยู่ในโหมดของการต่อรองเก้าอี้ ซึ่งผู้มีอำนาจต้องสรุปให้จบก่อน 22 ส.ค. วันโหวตนายกรัฐมนตรี ที่บรรดาพรรคร่วมตั้งเงื่อนไขนายใหญ่ และพรรคเพื่อไทย ต้องจบดีลโควตารัฐมนตรีก่อน  

นัดหมายโหวตนายกรัฐมนตรี 22 ส.ค.2566 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องปมโหวตชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เอาไว้วินิจฉัย เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้โดนละเมิดสิทธิ ทางเปิดให้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา กำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภา

สำหรับ 9 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ล่าสุด มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรรวมกัน 238 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 71 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง และพรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเพื่อไทยที่เสียงในเวลานี้ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาฯ 250 เสียง จึงรอกำลังเสริมจากพรรคพลังประชารัฐ 40 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 ที่นั่ง เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมีเสียงในสภาล่างรวมกัน 314 เสียง ต้องการเสียจากสภาบน หรือสว.อย่างน้อยอีก 61 เสียง จะทำให้มีเสียงร่วมกันเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐบาล ส่งให้ "เศรษฐา ทวีสิน" นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 

ทว่า การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล หลังจากนี้จะทวีความรุนแรง และหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น เพื่อกดดันให้พรรคเพื่อไทย ยอมปล่อยกระทรวงเกรดเอ กระทรวงเกรดบีบวก เพื่อเกลี่ยโควตาให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

เช่นเดียวกับบรรยากาศภายในพรรคเพื่อไทย การต่อรองของของกลุ่ม-ก๊วนทางการเมือง เริ่มฝุ่นตลบ ส่งสัญญาณให้ “นายใหญ่” กระจายเก้าอี้รัฐมนตรีแต่ละกลุ่มอย่างยุติธรรม ไม่เก็บเก้าอี้รัฐมนตรีไว้ตอบแทนแค่ “คนสนิท” ของตัวเอง

สำหรับโควตารัฐมนตรี ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้ส่งชื่อกระทรวงที่ต้องการ รวมถึงรายชื่อแคนดิเดตรัฐมนตรีของแต่ละพรรคไปให้ “เพื่อไทย-นายใหญ่” ได้พิจารณาความเหมาะสมแล้ว ขณะที่ตัวเต็งของพรรคเพื่อไทย ก็น่าจะอยู่ในลิสต์ของ “นายใหญ่” อยู่แล้ว

การข่าวจากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า บรรดารายชื่อที่คาดว่าจะเป็นแถวแรกได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ที่เป็นโควตาของนายใหญ่เพื่อไทย คาดว่า จะมีตั้งแต่ หัวหน้าพรรค นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ที่คาดว่าอาจจะได้นั่ง รมว.ศึกษาธิการ ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค มีโอกาสสูงที่จะได้นั่ง รมว.มหาดไทย ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ที่หวังเก้าอี้ รมว.คมนาคม แต่ก็ต้องรอลุ้น เช่นเดียวกับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรค ปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจ พวงเพชร ชุนละเอียด ประธาน กทม. ที่อยู่ในโผกลุ่มแรก 

ส่วนโควตากลุ่มก๊วน สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่หวังเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ยังพยายามเคลื่อนไหวต่อรองเก้าอี้ รมว.คมนาคม ที่ต้องไปวัดกันทั้งกับคนในพรรค และพรรคร่วม

ขณะเดียวกันเพื่อไทย เตรียมหาบุคคลที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง และ รมว.กลาโหม ซึ่งคาดหมายว่า อาจเป็นโควตา “คนนอก” ที่มีฝีมือ ชื่อชั้น ที่สร้างความเชื่อมั่นได้ 

ทั้งนี้เป้าหมายของเพื่อไทย ในการปักหมุดกระทรวงต่างๆ ก็เพื่อขับเคลื่อนนโยบายหาเสียง ให้ทำได้จริง เพราะเป็นเดิมพันสำคัญเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 

พรรคภูมิใจไทย มีโอกาสได้เก้าอี้ รมว. 4 ที่นั่ง เก้าอี้ รมช. 4 ที่นั่ง โดยยื่นข้อเสนอต่อกับพรรคเพื่อไทยว่า ต้องการคุมกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อรู้ว่าเป็นเรื่องยากพอสมควร แต่ก็ต้องการวัดใจ “นายใหญ่” เพื่อไทย ว่าจะยอมให้ หรือมีข้อแลกเปลี่ยนกระทรวงใดทดแทน

สำหรับรายชื่อแคนดิเดตรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย  อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค พิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรค

นอกจากนี้ ยังมีชื่อ ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี อยู่ในลิสต์ครั้งนี้ หลังจากพลาดเก้าอี้รัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยส่งน้องสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ไปนั่งโควตา รมช.เกษตรและสหกรณ์ แทน แต่ครั้งนี้ “ชาดา”พร้อมเข้ามานั่งรัฐมนตรีด้วยตัวเอง

พรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสได้เก้าอี้ รมว. 2 ที่นั่ง เก้าอี้ รมช. 3 ที่นั่ง โดยมีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ประธานที่ปรึกษาพรรค มีโอกาสนั่งรองนายกรัฐมนตรี หรือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค มีโอกาสนั่งเก้าอี้ รมว.แรงงาน หรือรมว.เกษตรและสหกรณ์

สำหรับแคนดิเดต รมช. 3 ที่นั่ง มี 4 รายชื่อ ทั้ง ไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร สันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค ตรีนุช เทียนทอง สส.สระแก้ว และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ซึ่งในที่สุดก็ต้องลุ้นว่าก๊อกแรกใครจะต้องเสียสละ

พรรครวมไทยสร้างชาติ มีโอกาสได้เก้าอี้ รมว. 2 ที่นั่ง เก้าอี้ รมช. 2 ที่นั่ง โดยยื่นความจำนงขอเก้าอี้ รมว.พลังงาน และ รมว.ดีอีเอส โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมส่งรายชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมแล้วเช่นกัน คาดการณ์ว่าจะเป็นระดับหัวแถวของพรรค ตั้งแต่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ สส.บัญชีรายชื่อ รวมถึง เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค แต่ในรายของ “เอกนัฏ” อาจพลาดโอกาส เนื่องจากยังติดคดี กปปส. ซึ่งอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์ จึงมีแนวโน้มจะส่งตัวแทนคนนอก ซึ่งมีชื่อ "ผยง ศรีวณิช"  ประธานสมาคมธนาคารไทย ถูกกล่าวขานถึง

พรรคประชาชาติ มีโอกาสได้ รมว. 1 ที่นั่ง โดยมีชื่อ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ลุ้นเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม อย่างไรก็ตามเริ่มมีแรงกดดันจาก สส. เพื่อไทย ให้พรรคประชาชาติ เลือกระหว่างเก้าอี้ประธานสภาฯ ซึ่ง วันมูหะมัดนอร์ มะทา นั่งอยู่ หากจะเลือก รมว.ยุติธรรม ต้องสละเก้าอี้ประธานสภาฯ ของ “วันนอร์” โดยเพื่อไทยจะส่งไปนั่งแทน

พรรคชาติไทยพัฒนา มีโอกาสได้ รมว. 1 เก้าอี้ โดยหัวหน้าพรรค วราวุธ ศิลปอาชา มีโอกาสได้ขยับไปนั่งเก้าอี้ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แม้อยากจะสานงานต่อในฐานะ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ตาม

ทั้งหมด คือความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ที่กำลังอยู่ในโหมดของการต่อรองเก้าอี้ ซึ่งผู้มีอำนาจต้องสรุปให้จบก่อน 22 ส.ค. วันโหวตนายกรัฐมนตรี ที่บรรดาพรรคร่วมตั้งเงื่อนไขนายใหญ่ และพรรคเพื่อไทย ต้องจบดีลโควตารัฐมนตรีก่อน